วิทย์ม.ต้น: อย่าโดนหลอกโดยหมอดูและผู้วิเศษทั้งหลาย, การเหนี่ยวนำไฟฟ้า, โฮโมโพลาร์มอเตอร์

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. คนเชื่อหมอดูเพราะคนเลือกฟังเลือกจำ (Confirmation Bias) ดังนั้นมักจะจำคำทำนายที่ตนเองคิดว่าใกล้เคียง และลืมคำทำนายที่ไม่ถูก หมอดูรู้จักอ่านปฏิกริยาตอบสนองของลูกค้า (เทคนิคพวก Cold Reading) หมอดูพูดข้อมูลที่เข้ากันได้กับผู้คนทั่วไปออกมาหลากหลาย (Forer Effect) แล้วให้ลูกค้าเลือกฟังเลือกจำเอง

2. ตัวอย่างนักเล่นกลที่หลอกชาวบ้านว่าเป็นผู้วิเศษและหาเงินได้เป็นแสนล้านบาทก็เช่นไสบาบา หรือนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่ตั้งศาสนาหาเงินเช่น L. Ron Hubbard ที่ก่อตั้ง Scientology

3. คนที่เชื่ออะไรไปแล้วบางทีจะไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อได้ด้วยเหตุผล หลักฐาน ข้อมูลต่างๆ โดยจะปฏิเสธสิ่งที่ขัดกับความเชื่อตนเองหรือสร้างคำอธิบายต่างๆให้ความเชื่ออยู่รอดต่อไปแม้จะขัดกับหลักฐานก็ตาม (พยายามกำจัด Cognitive Dissonance)

4. แนะนำให้เด็กอ่านโพสต์นี้ครับ:

เคยเจอใครที่เป็นแบบนี้ไหมครับ ? เขาทำความผิดอะไรบางอย่าง ซึ่งเขาไม่รู้ว่าตัวเองทำผิด แต่เมื่อมีคนชี้ให้เห็นว่าเขาทำผิด…

Posted by เรื่องเล่าจากร่างกาย by หมอเอ้ว ชัชพล on Saturday, November 7, 2020

5. เด็กๆได้ดูคลิปว่าแม่เหล็กแรงๆดูดเหล็กในเลือดเราหรือไม่:

6. คุยกันเรื่องกระแสไฟฟ้าทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก ทดลองโดยตัดฟอยล์อลูมิเนียมเป็นเส้นยาวๆ เอาแม่เหล็กๆมาอยู่ใกล้ๆ มันก็ไม่ดูดกัน เมื่อปล่อยไฟฟ้าผ่านเส้นฟอยล์อลูมิเนียมใกล้ๆแม่เหล็ก ปรากฎว่าฟอยล์ขยับตัวครับ เราสังเกตว่าเส้นอลูมิเนียมมันขยับตัวเมื่อมีไฟฟ้าผ่านมัน และถ้าสลับขั้วไฟฟ้ามันก็ขยับต่างจากเดิมด้วย นอกจากนี้ถ้าเราวางแม่เหล็กให้มันขยับง่ายๆ แม่เหล็กเองก็ขยับตัวด้วยในบางครั้ง เราถ้าเราปล่อยกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ ฟอยล์ก็จะขยับตาม นี่คือคลิปการทดลองในอดีตครับ:

หลักการนี้ใช้ประดิษฐ์ลำโพงด้วยครับ ลำโพงทำงานโดยมีแผ่นกระดาษหรือพลาสติกบางๆติดอยู่กับขดลวดที่ถูกล้อมรอบด้วยแม่เหล็ก เมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งเข้าขดลวดก็จะทำให้ขดลวดเป็นแม่เหล็กไฟฟ้า เกิดการผลักและดูดกับแม่เหล็กทำให้ขดลวดและแผ่นกระดาษหรือพลาสติกบางๆขยับตัว ดันอากาศออกมาเป็นคลื่นเสียง ลำโพงเป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดการสั่นของอากาศที่เป็นเสียงนั่นเอง:

ส่วนไมโครโฟนเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานในทางกลับกัน คือเป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนการเคลื่อนไหวจากคลื่นเสียงให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้า ในทางหลักการแล้วเราสามารถมองไมโครโฟนเป็นลำโพงที่เราไม่ได้ป้อนสัญญาณไฟฟ้าเข้าไป แต่มีคลื่นเสียงมากระทบแผ่นกระดาษด้านหน้าทำให้ขดลวดด้านหลังสั่น ขดลวดที่เคลื่อนที่ในสนามแม่เหล็กจะมีกระแสไฟฟ้าวิ่ง เราสามารถเอากระแสไฟฟ้าเหล่านั้นไปใช้ต่อได้ เช่นบันทึกว่าไมโครโฟนรับเสียงอะไรมาบ้าง:

7. เราใช้ไฟฟ้าและแม่เหล็กสร้างมอเตอร์แบบง่ายๆ หลักการคือเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลใกล้ๆแม่เหล็ก จะมีแรงดูดหรือแรงผลักกระทำกับกระแสไฟฟ้าและแม่เหล็ก แรงที่ว่านี้จะตั้งฉากกับทั้งทิศทางการไหลของกระแส และทิศทางของสนามแม่เหล็ก เราสามารถแสดงผลของแรงอันนี้ได้ด้วยการสร้างมอเตอร์แบบง่ายๆที่เรียกว่า โฮโมโพลาร์มอเตอร์ ดังวิธีทำในคลิปด้านล่าง:

8. บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:

วันนี้ในวิทย์ม.ต้น เราคุยกันว่าหมอดูอาศัยจุดอ่อนในการทำงานของสมองเราเพื่อหากินอย่างไร (พวก Forer Effect, Confirmation…

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, November 17, 2020

วิทย์ม.ต้น: ทำแบบฝึกหัดเขียนโปรแกรม, ใช้ Tracker วัดความเร็วลูกเหล็ก

1. วันนี้รุ่นพี่เขียนโปรแกรมไพธอนพยายามแก้โจทย์เหล่านี้:

-เขียนโปรแกรม ถามตัวเลขจำนวนเต็มบวก แล้วสร้างสูตรคูณเลขนั้นคูณกับ 1 – 12 แล้วแสดงสูตรคูณ

-เขียนโปรแกรมสร้างสูตรคูณแม่ 1 ถึง 12

-เขียนโปรแกรมรับค่าตัวเลขไปเรื่อยๆ ถ้าจะหยุดให้ใส่คำว่า END แล้วโปรแกรมจะคำนวณค่าเฉลี่ยของตัวเลขที่รับเข้าไป (ใช้ while และ list)

-เขียนโปรแกรมรับค่าตัวเลขไปเรื่อยๆ ถ้าจะหยุดให้ใส่คำว่า END แล้วโปรแกรมจะคำนวณค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของตัวเลขที่รับเข้าไป (ใช้ while และ list)

เด็กๆทำสองข้อสุดท้ายยังไม่เสร็จจึงเอาไปทำต่อเป็นการบ้านครับ ให้เด็กๆค้นหาเองว่าคำนวณค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานอย่างไร

2. รุ่นน้องใช้โปรแกรม Tracker วัดความเร็วลูกเหล็กจากการเล่นปืนแม่เหล็กคราวที่แล้ว โดยหาความเร็วเฉลี่ยดูว่าลูกเหล็กเคลื่อนที่ไปได้ไกลแค่ไหนหารด้วยเวลาระหว่างเฟรมภาพแรกและภาพสุดท้าย ไฟล์วิดีโอต่างๆโหลดได้ที่ลิงก์นี้ สเปรดชีตตัวอย่างการวัดอยู่ที่นี่

วิทย์ประถม: เล่นกับแม่เหล็ก

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมปฐมธรรมครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยอธิบายมายากล ประถมต้นได้เล่นการเหนี่ยวนำด้วยแม่เหล็ก เบรกแม่เหล็ก ประถมปลายได้เล่นปืนแม่เหล็กและการเหนี่ยวนำด้วยแม่เหล็ก

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลเหล่านี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน ประถมต้นได้ดูคลิปคนหาย:

ประถมปลายได้ดูคลิปลูกบอลหาย:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เด็กๆได้ดูคลิปว่าแม่เหล็กแรงๆมีอันตรายอย่างไร (ถ้าเอามาใกล้กันมันจะวิ่งเข้าหากันด้วยความเร็วสูง หนีบนิ้วหรืออวัยวะต่างๆได้):

ได้ดูได้ดูคลิปการลอยตัวด้วยการเหนี่ยวนำ:

เด็กๆประถมต้นได้เล่นกับการเหนี่ยวนำด้วยแม่เหล็ก ผมเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในคลิปในอดีต:

จากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันเล่นครับ:

เด็กๆประถมปลายเล่นการเหนี่ยวนำด้วยแม่เหล็กและปืนแม่เหล็ก (Gaussian gun) เล่นปืนแม่เหล็กโดยเอาลูกเหล็กอย่างน้อยสองลูกมาเรียงกันแล้วติดกับแม่เหล็กแรงๆปล่อยลูกเหล็กอีกลูกให้กลิ้งเข้าชนจากอีกด้านจะมีลูกเหล็กกระเด็นออกไปด้วยความเร็วสูง เพราะแม่เหล็กเพิ่มความเร็วลูกเหล็กที่วิ่งเข้ามาชน สามารถต่อกันเป็นตอนๆให้ความเร็วลูกเหล็กเพิ่มขึ้นเยอะๆได้:

เด็กๆแยกย้ายกันเล่นครับ:

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)