Category Archives: DIY & How-To

วิทย์ม.ต้น: วัดอัตราลมผ่านไส้กรอง HEPA แบบดูดและเป่า, Cognitive Biases สามอย่าง

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง (Problem of) Induction, Loss Aversion, และ Social Loafing ครับ

(Problem of) induction คือการที่เราสังเกตอะไรที่เกิดมาในอดีตแล้วคาดการณ์ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างนั้นอีกซ้ำๆโดยไม่เข้าใจสาเหตุลึกซึ้งว่ามันควรจะเกิดอย่างนั้นไหม เช่นเราอาจจะเห็นแต่หงส์สีขาวจึงสรุปว่าหงส์มีแต่สีขาว (แต่จริงๆมีหงส์สีดำด้วย) หรือดูกราฟความสุขของไก่งวงที่คนป้อนอาหารเป็นเวลานานจนถึงเทศกาล Thanksgiving ไก่งวงมีความสุขทุกวันเพราะคิดว่าคนชอบเอาอาหารมาให้ จึงคาดว่าวันพรุ่งนี้ก็คงมีอาหารจากคนอีก ความคิดนี้ถูกต้องจนกระทั่งวันสุดท้ายที่โดนเชือดเป็นอาหาร:

Loss aversion คือการที่คนกลัวที่จะเสียของที่มีอยู่แล้วมากกว่าความอยากได้ของมาเพิ่ม เช่นคนส่วนใหญ่กลัวเสียเงิน x บาท มากกว่าอยากได้เงิน x บาท หรือคนซื้อหุ้นติดดอยแล้วไม่ค่อยอยากขาย

Social loafing คือคนเรามักจะทำงานไม่เต็มที่ถ้าทำงานเป็นกลุ่ม กลุ่มยิ่งใหญ่ผลงานของสมาชิกแต่ละคนยิ่งไม่เด่นชัดและสมาชิกมักจะไม่ทำงานเต็มความสามารถ ทางแก้คือควรแบ่งงานต่างๆให้ชัดเจนว่างานนี้ใครเป็นคนรับผิดชอบ

เด็กๆทำการทดลองวัดอัตราที่ลมไหลผ่านไส้กรอง HEPA ของเครื่องฟอกอากาศทำเองกันต่อจากคราวที่แล้วครับ โดยคราวนี้เรามีอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ทำกรอบพลาสติกที่มีขนาดพอดีกับขนาดไส้กรอง เพื่อว่าจะได้เอาถุงพลาสติกไปติดกับกรอบแล้วเอาไปครอบไส้กรองได้อย่างรวดเร็วและลมไม่รั่วครับ

คราวนี้เราวัดอัตราลมสองแบบ แบบแรกคือแบบที่เอาใส้กรองติดไว้ด้านหน้าของพัดลม ให้พัดลมเป่าลมผ่านไส้กรอง (เราเรียกแบบนี้ว่า “แบบเป่า”) แบบที่สองคือเอาพัดลมใส่กล่องแล้วเจาะด้านหลังของกล่อง เอาไส้กรองไปติดข้างหลัง เมื่อเปิดพัดลม ลมจะถูกดูดผ่านไส้กรอง (เราเรียกวแบบนี้ว่า “แบบดูด”) วิธีแบบดูดนี้คือวิธีตามลิงก์นี้ครับ การทดลองหน้าตาแบบนี้ครับ:

ผลการทดลองเป็นแบบนี้ครับ:

พบว่าแบบดูดจะได้ลมผ่านไส้กรองมากกว่าแบบเป่าประมาณ 1.5 เท่า (ประมาณ 7 ลิตรต่อวินาที vs. 4.5 ลิตรต่อวินาที) ครับ

วิทย์ม.ต้น: COGNITIVE BIASES สามอย่าง, พยายามวัดปริมาตรอากาศจากเครื่องฟอกอากาศทำเอง

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Base-Rate Neglect, Gambler’s Fallacy, The Anchor

Base-rate neglect คือการที่คนเรามักจะไม่ค่อยสนใจหรือลืมไปว่าสิ่งต่างๆมีมากมีน้อยแค่ไหน เวลาได้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจจึงมักให้นำ้หนักกับสิ่งที่ข้อมูลทำให้คิดถึงทันที ไม่ได้ดูว่าจะเป็นสิ่งอื่นได้ไหมทั้งๆที่สิ่งอื่นๆอาจเป็นไปได้มากกว่า เช่นมีอาการปวดหัว เลยไปค้นหาใน Google ค้นไปค้นมาคิดว่าตนเองเป็นโรคร้ายแรงทั้งๆที่อาการปวดหัวแบบเดียวกันนี้อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคร้ายแรงอาจเป็นส่วนน้อยเท่านั้น เรายังไม่ควรให้น้ำหนักมากเกินไป

อีกตัวอย่างก็เช่นการกรองหาผู้ก่อการร้าย ถ้ามีวิธีถ่ายรูปหน้าแล้วตรวจสอบกับฐานข้อมูล สมมุติว่าใช้วิธีนี้ถ้าเป็นผู้ก่อการร้ายจริงจะตอบถูก 100% แต่บางครั้งคนที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายจะถูกรายงานไปด้วย สมมุติว่าระบบรายงานผิดแบบนั้น 1% คนทั่วไปเมื่อได้ยินว่าระบบนี้ชี้ว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายก็จะให้น้ำหนักมากใกล้ๆ 99-100% ว่าคนนั้นต้องเป็นผู้ก่อการร้ายแน่ๆ แต่เขาลืมไปว่าปกติมีจำนวนผู้ก่อการร้ายเท่าไร มีจำนวนคนปกติเท่าไร วิธีคิดที่ถูกต้องคิดแบบนี้: ถ้ามีผู้ก่อการร้ายอยู่ 0.01% ในประชากรทั้งหมด (คือมี 1 คนในหมื่นคน) แล้วเราใช้ระบบนี้ตรวจสอบคนล้านคน ระบบจะบอกว่าพบผู้ก่อการร้าย = จำนวนที่เป็นผู้ก่อการร้ายจริงๆและระบบทำงานถูกต้อง + จำนวนที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแต่ระบบทำงานผิดพลาด = 100% x 0.01% x 1,000,000 + 1% x 99.99% x 1,000,000 = 100 + 9,999 = 10,099 คน ในหมื่นกว่าคนนี้มีแค่ 100 คนที่เป็นผู้ก่อการร้ายจริงๆ เพราะจำนวนคนปกติมีมากกว่าผู้ก่อการร้ายมาก และความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของระบบทำให้มีการกล่าวหาคนบริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก

Gambler’s fallacy คือการที่เราเล่นพนันโดยคิดว่าผลที่จะออกครั้งต่อไปควรจะออกตรงข้ามกับที่ออกมาเพื่อให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยมากขึ้น เช่นโยนเหรียญแล้วออกหัวมา 3 ครั้ง ครั้งต่อไปเราคิดว่าน่าจะออกก้อยมากกว่าหัว หรือดูว่าเลขท้ายสองตัวตัวไหนที่ยังไม่ออกแล้วเราก็แทงเลขนั้น

The anchor หรือ anchoring คือการที่เรามักใช้ข้อมูลแรกๆในการตัดสินใจ ข้อมูลแรกๆทำหน้าที่เหมือนสมอเรือ (anchor) ทำให้ความคิดเราติดอยู่แถวๆนั้น เช่นการตั้งราคาสินค้าและบริการไว้สูงๆแล้วผู้ซื้อก็จะต่อรองจากราคาเริ่มต้นสูงๆนั้น ไม่ได้พิจารณาว่าราคาที่สมควรน่าจะอยู่แถวๆไหน

ในเวลาที่เหลือ เด็กๆพยายามทดลองวัดปริมาตรอากาศที่ผ่านการฟอกอากาศออกมาด้วยเครื่องฟอกประกอบเอง วันนี้เราใช้เครื่องฟอกที่ทำจากพัดลมเป่าลมใส่ ไส้กรอง HEPA โดยตรง ไม่ใช่แบบที่ใส่กล่องแล้วให้อากาศถูกดูดผ่านไส้กรองแบบครั้งที่แล้ว สาเหตุที่ทำแบบนี้เพราะลมที่เป่าผ่านไส้กรองมาตรงๆจะสะอาดมากแม้ว่ากระแสลมจะต่ำก็ตาม ค่า PM 2.5 เท่ากับประมาณ 0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้คำนวณและประมาณเรื่องต่างๆที่จะทำต่อไปง่ายขึ้นด้วยครับ

เอาพัดลมเป่าใส่ ไส้กรอง HEPA แล้ววัดฝุ่นในอากาศที่ผ่านออกมา ลมจะออกมาด้วยความเร็วต่ำ (ที่เห็นสีดำๆคือชั่นถ่านกัมมันต์สำหรับดูดกลิ่น ตัวไส้กรอง HEPA อยู่ข้างใต้)
อากาศที่พึ่งผ่านไส้กรอง HEPA จะมีฝุ่นน้อยมาก

เด็กๆเอาถุงพลาสติกบางๆมารับอากาศที่ผ่านไส้กรองแล้วจับเวลากันครับ

เด็กจับเวลาและพยายามหาปริมาตรของถุงโดยการประมาณเป็นทรงกระบอกแบบต่างๆ รวมถึงตวงน้ำใส่ด้วย พบว่าอากาศออกมาประมาณ 3 ลิตรต่อวินาทีครับ

ถ้าจะใช้อุปกรณ์แบบนี้ฟองอากาศ ควรเอาไปวางหน้าพัดลมหรือแอร์ที่พ่นลมออกมาแรงๆ อากาศที่ถูกฟอกแล้วจะได้กระเด็นไปไกลๆไปผสมกับอากาศอื่นๆ เพราะถ้าไม่เป่าให้ไปไกลๆอากาศที่พึ่งถูกฟอกอาจถูกดูดกลับเข้าไปฟอกใหม่เพราะความเร็วของลมออกมาไม่เร็ว และอากาศไกลๆที่ยังไม่ได้ฟอกไม่ได้เข้ามาใกล้ๆเครื่องฟอกครับ

หาแหล่งลมอีกอันพัดอากาศสะอาดให้วิ่งไปผสมกับอากาศอื่นๆไกลๆขึ้นครับ

เราใช้อุปกรณ์เหล่านี้กันครับ หาได้ตามร้านขายของตกแต่งบ้านเช่น HomePro หรือสั่งจากเว็บของฮาตาริก็ได้ครับ:

วิทย์ม.ต้น: Cognitive Biases สามอย่าง, ประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศแบบง่ายๆ

วันนี้เราก็คุยกันเรื่อง cognitive biases สามอย่างที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Groupthink, Neglect of Probability, และ Scarcity Error

Groupthink คือการตัดสินใจตามๆกัน อาจเป็นเพราะไม่อยากขัดเสียงส่วนใหญ่ หรือคิดว่าคนอื่นๆคิดดีแล้วเราขี้เกียจคิดก็ตัดสินใจตามๆเขา ในการประชุมใดๆก็ตามถ้ามีการตัดสินใจแบบเหมือนกันหมดให้ระวังและพยายามหาเหตุผลและข้อมูลมาแย้งว่ามีอะไรบ้างด้วย

Neglect of probability คือการที่คนเรากะประมาณความน่าจะเป็นต่างๆไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้ประมาณความเสี่ยงต่างๆผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่นเราไม่เข้าใจโอกาสถูกล็อตเตอรี่ต่างๆ หรือไม่สามารถแยกได้ระหว่างความน่าจะเป็น 1/หมื่น 1/ล้าน 1/100ล้าน ฯลฯ

Scarcity error คือการที่เราให้มูลค่ากับของที่มีจำกัดมากกว่าความเป็นจริง จะพบเห็นบ่อยๆตามร้านค้าหรือเว็บขายของที่บอกว่าของมีจำนวนจำกัด หรือซื้อได้จำกัดจำนวนชิ้น หรือลดราคาถึงวันที่…เท่านั้น หรือการที่คนยินดีจ่ายเงินมากๆกับของที่มีจำกัดทั้งๆที่บางทีของนั้นๆไม่ได้ดีกว่าแบบอื่นๆที่มีจำนวนมากกว่า

จากนั้นผมเล่าเรื่องไส้กรองอากาศ HEPA ให้เด็กๆฟัง แล้วเด็กๆก็ช่วยกันประกอบเครื่องฟอกอากาศแบบง่ายๆที่เอาพัดลมและไส้กรองอากาศมาต่อกัน ทำตามแบบที่ผมทดลองทำแบบนี้ครับ ผมเคยทดลองสำหรับห้องปิด 30 ตารางเมตรต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงที่จะลด PM 2.5 จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็น 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีพัดลมปกติอีกตัวเป่าลมผ่านหน้าเครื่องกรองให้อากาศไหลเวียนเยอะๆ: