Tag Archives: Titus

ภาพถ่ายธรรมชาติบริเวณดอยอ่างขางและใกล้เคียงโดยธีธัช

เมื่อวันอังคารที่ 20 ถึงวันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2558 กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมจัดท่องเที่ยว family trip ไปที่ดอยอ่างขางจังหวัดเชียงใหม่กันครับ นำโดยอาจารยวัชระ อยู่สวัสดิ์ ผู้ทำหน้าที่สื่อสารธรรมชาติให้เด็กๆเข้าใจ คราวนี้ลูกชายผมเจ้าธีธัชขอกล้องผมที่ซูมได้เยอะๆ (Sony HX400V) ไปถ่ายนู่นถ่ายนี่ ได้ภาพดวงอาทิตย์กำลังขึ้น นก ไลเคน มอส สน และอื่นๆมาครับ ผมดูแล้วคิดว่ามันสวยดีเลยเอามาแชร์ให้ดูกันทั่วๆ กดที่รูปเพื่อเข้าไปดูอัลบั้มนะครับ

Firefox
กดที่รูปเพื่อไปอัลบั้มทั้งหมดนะครับ

เมืองไทยเรามีพืชสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆหลากหลายมากครับ แต่เราไม่ค่อยได้สนใจมันเท่าไร

ความน่าจะเป็นในงานวัด

บ้านผมอยู่ใกล้วัดถึงสามวัดด้วยกัน และตอนนี้ก็มีงานวัดอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง

เมื่อวันจันทร์อาทิตย์ภรรยาและลูกๆผมไปเที่ยวงานวัดตอนเย็น ไปพบการปาลูกดอกชิงรางวัลเข้า ด้วยความเข้าใจผิดๆว่าผมปาลูกดอกเก่งมาก (คงเพราะผมปาลูกบอลโฟมเล่นกับลูกๆบ่อยๆ) เลยมาบอกว่าผมควรจะไปล่าตุ๊กตาให้ลูกๆสักวันใดวันหนึ่ง
 
วันนี้มีโอกาสก็เลยยกโขยงกันไปตอนประมาณหนึ่งทุ่ม เราตรงไปยังซุ้มปาลูกดอกทันที ปรากฎว่ามีสามราคา คือ 20 บาท (ปา 7 ลูกต้องโดนทั้ง 7 ลูก) 80 บาท (ปา 2 ลูกต้องโดนทั้ง 2 ลูก) และ 100 บาท (ปาครั้งเดียวให้โดน) ผมเลยเริ่มเล่นแบบ 20 บาททันทีเพราะเสียดายเงิน และเผื่อจะได้ฝึกหัดด้วย แถมถ้าโชคดีอาจฟลุ้คได้ตุ๊กตาเลย
 

 
ผมเล่นไปสามครั้งแล้ว ปาได้ 4/7 5/7 5/7 ไม่มีทีท่าว่าจะได้ตุ๊กตาสักตัว (ต้องการสามตัวให้ลูกสามคน) ผมเลยหยุดคิดว่าเล่นไปเรื่อยอย่างนี้คงจะหมดตัวแน่ อีกอย่างมีความจริงทางคณิตศาสตร์ว่าในเกมที่เราเสียเปรียบ เล่นยิ่งมากครั้งโอกาสฟลุ้คที่จะชนะจะยิ่งน้อย ก็เลยคิดเลขในใจว่าจะเอาไงดีหว่า
 
คิดในใจว่าถ้าผมขว้างได้ 5/7 โอกาสโดนลูกโป่งแต่ละครั้งก็ประมาณ 70% ถ้าขว้างให้โดนสองที โอกาสก็จะเป็น 70% x 70% ซึ่งเท่ากับประมาณ 50% ถ้าจะขว้างให้โดนสี่ทีโอกาสก็กลายเป็น 50% x 50% = 25% ถ้าจะขว้างให้โดนหกทีก็มีโอกาส 25% x 50% = 12.5% ดังนั้นถ้าต้องโดนหมดเจ็ดดอก โอกาสก็เป็นประมาณ 12.5% x 70% = 9% หรือประมาณ 1 ใน 11
 
นั่นหมายความว่า ผมคงต้องเล่นโดยเฉลี่ย 11 ครั้งถึงจะชนะได้ 1 ครั้ง ทำให้ต้นทุนตุ๊กตาต่อหนึ่งตัว = 11 x 20 บาท = 220 บาท
 
ถ้าผมเลือกเล่นแบบเสี่ยงไปเลยแบบปาครั้งเดียว โอกาสที่ผมจะปาโดนก็จะประมาณ 5/7 แสดงว่าผมคงต้องเล่นโดยเฉลี่ย 7/5 = 1.4 ครั้งต่อตุ๊กตาหนึ่งตัว ทำให้ต้นทุนเป็น 1.4 x 100 บาท = 140 บาทต่อหนึ่งตัว
 
ถ้าผมเลือกเล่นแบบเสี่ยงปาสองครั้ง โอกาสที่จะปาโดนสองครั้งจะประมาณ 70% x 70% = 50% ทำให้ผมต้องเล่นโดยเฉลี่ย 1/50% = 2 ครั้งต่อตุ๊กตาหนึ่งตัว ทำให้ต้นทุนเท่ากับ 2 x 80 บาท = 160 บาทต่อหนึ่งตัว
 
แสดงว่าฝีมือปาแบบไม่ค่อยได้เรื่องแบบผมควรจะเลือกปาแบบเสี่ยงทีเดียวไปเลย เพราะต้นทุนโดยเฉลี่ยจะถูกที่สุด
 
น้องที่เฝ้าซุ้มมองผมทำปากมุบๆมิบๆคิดเลขอย่างสงสัย (อาจจะคิดว่าผมบ้าไปแล้ว หรือพยายามใช้คาถาอาคม) พอผมบอกว่าจะเล่นแบบปาทีเดียวร้อยบาทเลยดีไหมเนี่ย น้องก็ชวนให้เล่น บอกว่าถ้าปาพลาดจะให้ปาอีกครั้ง ผมได้ยินก็ลิงโลด แต่ต้องเก็บอาการไว้ แล้วก็บอกว่าโอเคโอเค เล่นแบบนั้นก็ได้
 
พอตกลงจ่ายเงินก็เรียกลูกๆและภรรยามาดู เพื่อเพิ่มความกดดัน และเผื่อปาถูก ผมจะได้เป็นฮีโร่ของลูกๆ หันมายิ้มให้กล้องชูนิ้วโป้งหนึ่งครั้งแล้วหันไปปาเลย
 
โดนเต็มๆสิครับ น้องที่เฝ้าซุ้มไม่ยิ้มเลย ผมเลยรู้สึกว่าไปเบียดเบียนเขา แต่ก็ให้ลูกไปเลือกตุ๊กตามาหนึ่งตัว
 
คิดว่าได้ตัวหนึ่งให้ลูกๆไปแบ่งกันเล่นก็พอแล้ว แต่น้องที่ซุ้มมาชักจูงให้ปาต่อ ผมก็บอกว่าอย่าเลย เดี๋ยวโดนอีกคุณจะขาดทุน (แต่ต้นทุนตุ๊กตาสำหรับซุ้มน่าจะไม่กี่สิบบาทนั่นแหละ) น้องก็บอกว่าไม่เป็นไร ปาอีกเถอะ ผมก็เลยไม่ขัดจ่ายอีก 100 แล้วซัดเลย
 
ได้มาอีกตัว คราวนี้ธีธัชกับธัชธีญาได้คนละตัวแล้ว ธัญญาเริ่มมองเลิ่กลั่กว่าจะได้ตุ๊กตากับเขาไหม
 
แม่อ้อเกิดอาการใจฮึกเหิม เห็นผมขว้างได้ ธีธัชก็น่าจะขว้างได้ เพราะเด็กและผู้หญิงได้ร่นระยะเข้าไปอีก บอกว่าแม่จะลงทุน 100 บาทให้ธีธัชขว้างเอง ธีธัชก็เข้าไปเล็งๆทั้งมือซ้ายและมือขวา (ธีธัชถนัดซ้าย) แล้วก็ขว้างไปด้วยมือซ้าย โดนไปได้อีกตัว ทำให้เด็กๆทุกคนมีตุ๊กตากลับบ้านกันคนละตัวตามจุดมุ่งหมายแต่ต้น
 

 
อนึ่งการเที่ยวงานวัดทุกครั้ง แม่อ้อจะให้งบประมาณเด็กให้ใช้ได้คนละ 60 บาท เพื่อเด็กๆจะได้เลือกเล่นเกมหรือซื้อของ และถ้ามีเงินเหลือเด็กๆก็เอาไปหยอกกระปุกของตนได้ คราวนี้ธีธัชเหลือ 30 บาท ธัชธีญาเหลือ 10 บาท และธัญญาเหลือ 20 บาท
 

เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย Online Etymology Dictionary, Google, และ Wiktionary

ตอนผมเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมสอบ SAT เข้ามหาวิทยาลัย อาจารย์สงวน วงศ์สุชาติ สอนให้จำคำศัพท์เป็นกลุ่มๆ โดยแต่ละกลุ่มมีรากศัพท์เดียวกัน แล้วจะจำได้เยอะ และเดาคำที่ไม่เคยรู้มาก่อนได้บ้าง

วันนี้พบเว็บนี้ครับ: Online Etymology Dictionary เป็นเว็บให้เราใส่คำศัพท์ภาษาอังกฤษเข้าไปแล้วเว็บจะบอกว่ารากศัพท์มีอะไรบ้าง ถ้าใครต้องการรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น หรือจะเอาไปสอนเด็กๆน่าจะมีประโยชน์
คำแรกที่ผมลองใส่เข้าไปคือ vasectomy (= ทำหมันชาย ซึ่งคนรอบข้างผมคงทราบว่าทำไมคำนี้ถึงอยู่ในหัวตลอด 5 5 5) ปรากฏว่าได้คำตอบมาดังนี้: 1897, from Mod.L. vas (deferens) + Eng. -ectomy “a cutting.” ซึ่งแปลว่าคำนี้น่าจะใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1897, มีรากจากสองคำ คือ คำลาตินสมัยใหม่ vas deferens = ท่ออสุจิ และ -ectomy = ตัด รวมเป็น “ตัดท่อ”
คราวนี้ถ้าเราจะจำเป็นกลุ่มๆเราก็ลองหา *ectomy ใน Google หรือ Wiktionary แล้วเราก็จะเห็นคำเหล่านี้ (เป็นต้น):
tonsillectomy = tonsil + -ectomy = ผ่าตัดทอนซิล
mastectomy = mastos + -ectomy = หน้าอกหญิง + ตัด = ตัดเต้านมทั้งเต้าออก (เนื่องจากมะเร็งเต้านม)
lumpectomy = lump + -ectomy = ก้อน + ตัด = ตัดก้อนซิสต์ออกจากเต้านม
nephrectomy = nephros + -ectomy = ไต + ตัด = ผ่าเอาไตออก
hysterectomy = hystera + -ectomy = มดลูก + ตัด = ผ่าเอามดลูกออก
อีกตัวอย่างเรื่อง logy:
biology = bio + logia = ชีวิต + ศึกษา = ชีววิทยา
geology = ge + logia = โลก/พื้นดิน + ศึกษา = ธรณีวิทยา
genealogy = genea + logia = สายพันธ์ + ศึกษา = การลำดับญาติ
theology = theos + logia = พระเจ้า/เทวดา + ศึกษา = เทวศึกษา
cardiology = cardia + logia = หัวใจ + ศีกษา = สาขาทางการแพทย์เรื่องหัวใจ
ichthyology = ichtyos + logia = ปลา + ศึกษา = มีนวิทยา = สัตวศาสตร์แขนงที่ว่าด้วยปลา
horology = horos + logia = ชั่วโมง + ศึกษา = วิชาสร้างนาฬิกา และเครื่องวัดเวลา
neurology = neuro + logia = เส้นประสาท + ศึกษา = ประสาทวิทยา
ถ้าเรารู้รากศัพท์สักร้อยสองร้อยคำเราจะสามารถเดาความหมายคำที่ไม่เคยเห็นได้ดีพอสมควรครับ ผมเสียดายที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องคำในบาลี สันสกฤต เพราะน่าจะทำให้เราเข้าใจภาษาไทยขึ้นอีกมาก
ปล.
1. พจนานุกรมที่มีประโยชน์บนเว็บที่ผมใช้ก็มี ลองดูดิคท์ พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน Wiktionary และ Wikipedia
2. เราน่าจะเรียนภาษาไทยจากรากศัพท์ให้ได้ผลกว่านี้นะครับ ความจริงภาษากรีก ลาติน บาลี สันสกฤต ก็มาจากรากเดียวกันและมีคำคล้ายๆกันมากมาย เช่น:
 
penta– = ปัญจ- = 5
mors (เช่น mortal, immortal) = มรณะ = ตาย
mater (latin for mother) = มารดา = แม่ (ดังนั้น เวลาเราเห็นชื่อโรงเรียน มาแตร์เดอี ที่เขียนว่า Mater Dei เราก็สามารถเดาได้ว่าแปลว่า mother of god เพราะ dei = พระเจ้า (deity) แล้วเราก็เดาต่อได้ว่าต้องเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยคริสเตียนนิกายแคธอลิค เพราะนิกายอื่นไม่ยกย่องแม่ของพระเยซู (พระแม่มารี) เท่ากับนิกายแคธอลิค
3. ถ้าใครจะนำข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับรากศัพท์ และคำแปล มาทำเป็นโปรแกรมหรือเว็บเพจในการเรียนรู้ช่วยบอกด้วยนะครับ ผมจะได้ไม่ต้องทำเองให้ลูกผมและลูกเพื่อน+เพื่อนลูกใช้เรียนรู้