ตอนผมอายุ 16 ปี ผมได้พบกับหนังสือ The Feynman Lectures on Physics Vol. 1 เป็นครั้งแรกที่ร้านโอเดียนสโตร์สยามสแควร์ ตอนนั้นหนังสือปกสีแดงๆ ผมเริ่มหัดอ่านภาษาอังกฤษจริงๆจังๆมาได้สองปีแล้วเริ่มด้วยการอ่านนิยายผีๆภาษาอังกฤษ (เรื่องแรกที่อ่านจบทั้งเล่มคือ The Omen ภาคสาม ไปซื้อถูกๆที่สนามหลวง) พอเห็นหนังสือ Feynman สีแดงสดจึงเปิดดู อ่านไปสักพักก็ติดเลย ชอบมาก ซื้อมาราคา 441 บาท อ่านและคิดตามก่อนนอนเกือบทุกคืน ผู้เขียนพูดถึงการเข้าใจธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์โตยเฉพาะฟิสิกส์ จึงวางแผนจะไปเรียนฟิสิกส์กับ Feynman ที่มหาวิทยาลัย California Institute of Technology (Caltech) ให้ได้ ผมตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษและอ่านแต่ Textbooks ตลอดปีม.5 ในวิชาด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเพื่อเตรียมตัว ในที่สุดก็ได้ไปเรียนที่ Caltech แต่ตอนที่ไป Feynman ป่วยมากแล้ว และเสียชีวิตหลังจากผมไปถึงไม่นาน
ถ้าไม่เจอหนังสือนี้ ผมก็คงเรียนหมอตามที่สอบเทียบติดที่เชียงใหม่ไปแล้ว และก็คงเป็นหมอที่ไม่ได้เรื่องนักเนื่องจากนิสัยผมไม่เหมาะกับอาชีพเสียสละอย่างนั้นเอาเสียเลย และก็คงไม่มีเวลาทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆอย่างที่ผมชอบได้
วันนี้เห็นฉบับพิมพ์ใหม่ที่ Kinokuniya สยามพารากอนครับ เห็นแล้วตื้นตัน
สำหรับผู้สนใจ สามารถอ่าน Online ได้ที่ http://www.feynmanlectures.caltech.edu/ นะครับ
ปลายเดือนจะมี
งานหนังสือลดราคาอีกแล้ว ผมเลยขอโอกาสแนะนำหนังสือน่าอ่านสองเล่มนะครับ
เล่มแรกคือ “
ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” โดยคุณ วินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือที่ทุกคนควรได้อ่านก่อนต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ต่างๆในโรงเรียน เพราะหนังสือจะเป็นไกด์ว่านักวิทยาศาสตร์สนใจธรรมชาติไปทำบ้าอะไร (คนทั่วไปมักเข้าใจว่านักวิทยาศาสตร์คือคนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับสูตรต่างๆ และศึกษาเรื่องลึกซึ้งที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือไม่ก็สร้างของมาขายเพื่อหาเงิน แต่จริงๆแล้วนักวิทยาศาสตร์มักจะเป็นพวกนักชอบสำรวจและผจญภัยต่างหาก เพียงแต่เป็นการสำรวจและผจญภัยในเรื่อง ideas คือการสำรวจและผจญภัยจะเกิดในสมอง ด้วยการสังเกตและเดาว่าธรรมชาติทำงานอย่างไร และหาทางตรวจสอบด้วยการทดลองและการสังเกต ว่าเดาถูกหรือเปล่า เวลาเจออะไรแปลกๆแล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ทำงานอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จะมีความสุขมาก)
จากคำแนะนำที่เว็บของหนังสือครับ:
เดาไม่ออกใช่ไหมว่านี่เป็นหนังสืออะไร เรื่องนี้มีองค์ประกอบของคน ปลา ลิง มนุษย์ต่างดาว มนุษย์ล่องหน ไอน์สไตน์ พีระมิด หมอดู ฮวงจุ้ย นอสตราดามุส แอตแลนติส สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ผี บุพเพสันนิวาส หลุมดำ การเดินทางไปดาวดวงอื่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนสนามฟุตบอล
ยิ่งงงกว่าเดิม? เฉลย! หนังสือเล่มนี้เป็นการตั้งคำถามเชิงปรัชญา อภิปรัชญา ศาสนา จักรวาลวิทยา ฯลฯ โดยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และหลัก กาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้นานมาแล้ว
…
คนเราเกิดมาทำไม? มนุษย์ต่างดาวสร้างพีระมิดจริงไหม? พรหมลิขิตกำหนดชีวิตเราจริงหรือ? ไสยศาสตร์ ฮวงจุ้ย หมอดู ฯลฯ เชื่อถือได้แค่ไหน? ผีมีจริงไหม? สวรรค์นรกอยู่ที่ใด? คนเราไม่มีศาสนาได้หรือเปล่า? บุพเพสันนิวาสมีจริงหรือ? คำตอบอยู่ในสนามฟุตบอลแห่งนี้ …
ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ไม่ต่ำกว่า 20 เล่มแจกคนรอบข้างในหลายปีที่ผ่านมา จนผมจำไม่ได้ว่าให้ใครไปบ้าง เอาเป็นว่าถ้าผมยังไม่เคยให้ท่าน ท่านไปหาซื้ออ่านดูเองนะครับ 😀
อีกเล่มคือ “
ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง” ที่แปลมาจาก “
A Short History of Nearly Everything” โดย Bill Bryson เป็นหนังสือที่เล่าว่าเรารู้อะไรบ้าง รู้ได้อย่างไร แต่ส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์สนุกๆของการค้นพบต่างๆ อ่านแล้วจะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มีเรื่องเกี่ยวกับความโชคดี ความโชคร้าย นิสัยดี นิสัยเสียของเหล่านักวิทยาศาสตร์หลายๆคน ผมซื้อฉบับภาษาอังกฤษแจกไป 3 เล่ม และฟัง Audio Book จบไปสองรอบแล้ว ยังสนุกเหมือนเดิม ผมไม่เคยอ่านเล่มภาษาไทยจนจบ แต่เท่าที่ลองอ่านบางส่วนดู คิดว่าน่าจะแปลใช้ได้ครับ ที่สำคัญเป็นหนังสือที่คนเขียนมีอารมณ์ขัน และผมมักจะหัวเราะทุกๆหน้าสองหน้า เป็นยาคลายเครียดอันวิเศษครับ
ผมแนะนำหนังสือสองเล่มนี้ เพราะผมเป็นห่วงว่าเด็กไทยเรียนหนังสือไปแล้วดูเหมือนจะเสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะไปเข้าใจว่าคณิต/ฟิสิกส์/เคมี/ชีวะคือสูตรและข้อมูลท่องจำต่างๆที่ต้องเรียนเพื่อสอบ และเมื่อสอบเสร็จก็จำไม่ได้เลยว่าได้ศึกษาอะไรไป แทนที่จะได้เรียนรู้ธรรมชาติแบบสุนทรีย์ และคิดทำอะไรต่อยอดขึ้นไปอีก ถ้ามีคนอ่านหนังสือสองเล่มนี้อย่างกว้างขวางอาจจะเปลี่ยนวิธีคิด วิธีเรียนรู้ หรือชะตากรรมของเด็กๆในอนาคตได้บ้าง
เวลาผมสอนอะไรเกี่ยวกับวิทย์และคณิตผมจะพยายามแทรกเรื่องประวัติศาสตร์ของเรื่องที่เรียนเข้าไปด้วย จะได้มีบริบทว่าเรื่องเหล่านี้น่าสนใจอย่างไร ถึงมีคนมาค้นคว้าจนเป็นเรื่องราวให้เราได้เรียนกัน รางวัลสูงสุดของผมคือเมื่อเด็กอนุบาลสามบอกผมว่า “พ่อโก้ครับ สุดยอดเลยครับ!” เมื่อผมเอาแม่เหล็กไปทำการทดลองต่างๆกับเด็กๆ และเด็กป.1 ถามผมว่า “พ่อกาลิเลโอ ชื่ออะไรคะ” เมื่อเราทำการทดลองเรื่องลูกตุ้มนาฬิกา และเมื่อผมตอบว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันแต่เราน่าจะหาได้ ผู้ถาม (เด็กป. 1!!!) ก็ไปค้นหาแล้วมาบอกผมสัปดาห์ต่อไป (ชื่อ Vincenzo ครับ)
ปล. ผมชอบวิทยาศาสตร์เพราะผมเป็นคนชอบเรื่องเล่าต่างๆ (นิทาน นิยาย ข่าวซุบซิบ) และเรื่องการทำงานของธรรมชาติเป็นเรื่องราวที่วิเศษมาก มีความจริงที่ตรวจสอบได้ มีความสวยงาม ผูกกันเป็นเรื่องราวอย่างแยบยล มีหักมุมและ punch line เจ๋งๆเสมอๆ
เล่มนี้ชื่อ “เอาตัวรอดด้วย ทฤษฏีเกม” เขียนโดยคุณ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ครับ เก๊าเพื่อนผมบอกว่าเป็นเรื่องที่เด็กนักเรียน (และผู้ใหญ่) ทุกคนควรเรียนรู้ เพราะมีประโยชน์มากในการตัดสินใจในชีวิต ซึ่งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ อ่านง่าย และราคาไม่แพง คุ้มมากครับ ผมซื้อ 3 เล่มแล้วแจกไป 2 แล้ว
สารบัญครับ:
กำเนิดทฤษฎีเกม…..๑๑
๑. เกม…..๑๕
๒. กลยุทธ์เด่น…..๒๗
๓. ความลำบากใจของจำเลย…..๓๘
๔. จุดสมดุลของแนช…..๕๐
๕. เกมปอดแหก…..๖๒
๖. เกมแห่งความร่วมใจ…..๗๐
๗. สุ่มกลยุทธ์…..๗๖
๘. ความน่าเชื่อถือ…..๘๒
๙. การต่อรอง…..๙๒
๑๐. เกมกับค่าจ้าง…..๑๐๖
๑๑. เกมกับธุรกิจ…..๑๑๘
๑๒. เกมกับตลาดหุ้น…..๑๒๗
บทส่งท้าย….๑๔๑
— – —- – —– ———
ผมคิดว่า บท “ความลำบากใจของจำเลย” (Prisoners’ Dilemma) เป็นตัวอย่างสำคัญว่ามนุษย์จะทำให้กฏแห่งกรรมทำงาน และทำให้สังคมน่าอยู่ได้อย่างไรโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยครับ
บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)