Category Archives: สอนเด็กๆ

วิทย์ประถม: ภาพยนต์ดูเหมือนเคลื่อนไหวได้อย่างไร

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายกลเสกปลาทองและกลลูกบอลกลิ้งขึ้นเนิน เราเรียนรู้เรื่องข้อจำกัดของสมองโดยดูคลิปที่ทดสอบความสามารถในการสังเกตความเปลี่ยนแปลง และคลิปเพื่อนับจำนวนการส่งลูกบอล, เด็กๆได้สังเกตว่าภาพยนต์คือการเอาภาพที่ดูต่อเนื่องกันมาแสดงเร็วๆ และเล่นภาพยนต์ที่สร้างจากภาพ 6 ภาพและมองผ่านแผ่นพลาสติกกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเสกปลาทองออกมาทั้งอ่าง:

ตามด้วยกลลูกบอลกลิ้งขึ้นเนิน (คลิปกลอยู่ที่ https://www.facebook.com/reel/1453800992727184, คลิปเฉลยอยู่ที่ https://youtu.be/QYWPC549Z2Q)

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

จากนั้นเรามาทดสอบความสามารถในการเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยคลิปนี้:

และนับจำนวนครั้งที่ทีมเสื้อขาวส่งลูกบอล

การทดลองสองคลิปนี้ฝึกให้เด็กเรียนรู้ว่าความรับรู้ของเรามีจำกัด ถ้าเราโฟกัสกับบางสิ่ง เราจะพลาดสิ่งอื่นๆได้ ให้ระมัดระวัง และใช้เครื่องมือวัดและบันทึกต่างๆแทนที่จะใช้สมองเรารับรู้และจำเท่านั้น (เช่นผมแนะนำให้เด็กๆเขียนบันทึกสิ่งน่าสนใจและความคิดของเขาเก็บไว้ แล้วให้มาอ่านบันทึกตัวเองในอีกหลายปีข้างหน้า จะพบว่าสิ่งที่เราจำได้กับสิ่งที่เราบันทึกอาจจะต่างกันมากๆก็ได้)

จากนั้นผมก็เล่าให้เด็กๆฟังว่าภาพยนต์ต่างๆที่เราดูนั้นเกิดจากการเอาภาพนิ่งจำนวนมากมาให้เราดูต่อๆกันเร็วๆ โดยที่แต่ละภาพต่างจากภาพที่แล้วเล็กน้อย เมื่อภาพเหล่านี้ถูกฉายให้เราดู สมองเราก็แปลผลว่าเป็นการเคลื่อนไหว ปกติจำนวนภาพนิ่งที่มาฉายให้เราเห็นจะมีประมาณ 24-30 ภาพต่อวินาที โดยผมเป็นคลิปวิดีโอแล้วขยับทีละเฟรมให้เด็กๆดูด้วยโปรแกรม QuickTime Player (โปรแกรมอื่นๆก็ทำได้หลายโปรแกรม)

ผมเอาสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าภาพยนต์ทางม้าลาย หรือ barrier-grid animation ที่เราเห็นภาพเคลื่อนไหวบนกระดาษโดยเอาแผ่นใสพลาสติกที่มีลายดำพาดเหมือนทางม้าลายลากไปบนแผ่นกระดาษที่พิมพ์ลวดลายไว้ ทำให้ดูเหมือนมีการเคลื่อนไหว

หลักการก็คือใช้แถบดำบนแผ่นใสบังภาพที่เราไม่ต้องการเห็น ให้เห็นเฉพาะภาพที่มองผ่านแถบใสบนแผ่นใสได้ ถ้าเอาภาพต่อเนื่องหลายๆภาพมาแล้วซอยเป็นคอลัมน์เล็กๆแล้วเลือกคอลัมน์ที่เหมาะสมจากภาพแต่ละอันมาเรียงกันเวลาเอาแผ่นดำทาบลงไปเราก็จะเห็นทีละภาพเท่านั้น เมื่อเลื่อนแผ่นใสเราก็จะเห็นทีละภาพติดต่อกันด้วยความเร็ว แล้วสมองเราก็จะเชื่อมโยงภาพทั้งหมดให้เป็นการเคลื่อนไหว

บรรยากาศเล่นกันประมาณนี้ (กดดูการเคลื่อนไหวที่ https://www.facebook.com/share/v/1HBC8GyRrb/ นะครับ)

ผมเอาแบบสำหรับพิมพ์บนกระดาษและบนแผ่นใสมาจากวิดีโอนี้ครับ โดยคุณ brusspup:

มีวิธีทำด้วยโปรแกรมวาดภาพแบบนี้ครับ:

ผมเคยสอนเด็กๆมัธยมเขียนโปรแกรมภาษาไพธอนเพื่อสร้างภาพสำหรับกิจกรรมนี้ที่ วิทย์ม.ต้น: หัดใช้ PILLOW ใน PYTHON เพื่อจัดการภาพ ในลิงก์จะมีโปรแกรมสำหรับผู้สนใจนะครับ:

วิทย์ประถม: เริ่มรู้จักการทำงานของตา

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายกลหญิงหายตัว เราเรียนรู้เรื่องการทำงานของตา โดยทดลองเรื่องจุดบอดในตา, ภาพขาวดำเปลี่ยนเป็นภาพสี, และแบบจำลองลูกตา

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นผู้หญิงนั่งบนโต๊ะแล้วหายตัวไป:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมถามเด็กๆว่าเรามองเห็นได้อย่างไร ต้องใช้อวัยวะอะไรบ้าง เด็กๆก็ตอบกันว่าต้องมีลูกตา ต้องมีสมอง เราจึงคุยกันก่อนว่าลูกตาทำอะไร

เรามองเห็นได้โดยแสงวิ่งไปกระทบกับจอรับแสง (เรตินา, Retina) ที่ด้านหลังข้างในลูกตา แต่บังเอิญตาของคนเราวิวัฒนาการมาโดยมีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่บนผิวของจอรับแสง เมื่อจะส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง เส้นประสาทจะต้องร้อยผ่านรูอันหนึ่งที่อยู่บนจอรับแสง รอบบริเวณรูนั้นจะไม่มีเซลล์รับแสง ดังนั้นถ้าแสงจากภายนอกลูกตาไปตกลงบนบริเวณนั้นพอดี ตาจะไม่สามารถเห็นแสงเหล่านั้นได้ บริเวณรูนั้นจึงเรียกว่าจุดบอด หรือ Blind Spot นั่นเอง

จุดบอดหรือ Blind spot อยู่ตรงที่เส้นประสาทรวมกันเป็นเส้นลากจากภายในลูกตาออกมาด้านหลัง ไปยังสมองในที่สุด
(ภาพจาก http://transitionfour.wordpress.com/tag/blind-spot/)

ตาของปลาหมึกทั้งหลายจะไม่มีจุดบอดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเราครับ เนื่องจากเส้นประสาทของปลาหมึกอยู่หลังจอรับแสง จึงไม่ต้องมีการร้อยผ่านรูในจอรับแสงแบบตาพวกเรา   

วิธีดูว่าเรามีจุดบอดก็ทำได้ง่ายมากครับ แค่เขียนตัวหนังสือตัวเล็กๆบนแผ่นกระดาษสองตัว ให้อยู่ในแนวบรรทัดเดียวกันแต่ห่างกันสักหนึ่งฝ่ามือ จากนั้นถ้าเราจะหาจุดบอดในตาขวา เราก็หลับตาซ้าย แล้วใช้ตาขวามองตัวหนังสือตัวซ้ายไว้นิ่งๆ จากนั้นเราก็ขยับกระดาษเข้าออกให้ห่างจากหน้าเราช้าๆ ที่ระยะๆหนึ่งเราจะไม่เห็นตัวหนังสือตัวขวา นั่นแสดงว่าแสงจากตัวหนังสือตัวขวาตกลงบนจุดบอดเราพอดี  

ถ้าจะหาจุดบอดในตาซ้าย เราก็ทำสลับกับขั้นตอนสำหรับตาขวา โดยเราหลับตาขวาแล้วใช้ตาซ้ายมองตัวหนังสือตัวขวาไว้นิ่งๆ อย่ากรอกตาไปมา แล้วเราก็ขยับกระดาษให้ใกล้ไกลหน้าเราช้าๆ ที่ระยะหนึ่งตัวหนังสือตัวซ้ายจะหายไปเพราะแสงจากหนังสือตัวซ้ายตกลงบนจุดบอดตาซ้ายของเราพอดี  

ถ้าไม่มีกระดาษลองใช้ตัวหนังสือข้างล่างนี่ก็ได้ครับ แต่อาจต้องขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์หน่อย:    

A                                                                                              B     


ลองหลับตาซ้ายแล้วใช้ตาขวามองตัว A ดู ตอนแรกจะเห็นตัว B ด้วย แต่ถ้าขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์ที่ระยะที่เหมาะสม อยู่ๆตัว B ก็จะหายไป และจะเห็นพื้นขาวแถวๆนั้นแทน   ที่น่าสนใจก็คือสมองเราจะมั่วเองขึ้นมาเลยว่าเราควรจะเห็นอะไรตอนที่แสงจากตัวอักษรตกลงบนจุดบอดพอดี แทนที่จะเห็นจุดดำๆเพราะไม่มีแสงตรงจุดบอด สมองวาดรูปให้เสร็จเลยว่าควรจะเห็นสีพื้นข้างหลังของตัวอักษร อันนี้เป็นตัวอย่างแรกที่เด็กๆได้เข้าใจว่าสมองเรามีความสามารถ “มั่ว” แค่ไหนครับ 

เด็กๆเขียน A และ B แล้วหาจุดบอดในตาของเขากัน:

ต่อไปผมให้เด็กๆดูภาพกลับสี (ภาพเนกาตีฟ) นี้ประมาณ 15-30 วินาที (ขยายภาพให้เต็มจอ แล้วให้เด็กๆจ้องมองตรงกลางรูป ไม่กระพริบตา ไม่ขยับหัว):

ภาพกลับสีครับ
ภาพกลับสีครับ

แล้วเปลี่ยนภาพเป็นภาพนี้ทันทีครับ:

ภาพขาวเทาดำครับ
ภาพขาวเทาดำครับ

สามารถลองดูที่ภาพนี้ก็ได้ครับ ภาพจะสลับระหว่างรูปสองแบบทุก 15 วินาที ตอนเห็นภาพสีกลับให้จ้องมองตรงกลางรูปเอาไว้

ภาพจะเปลี่ยนทุก 15 วินาทีครับ ตอนเป็นสีกลับให้จ้องมองตรงกลางไว้
ภาพจะเปลี่ยนทุก 15 วินาทีครับ ตอนเป็นสีกลับให้จ้องมองตรงกลางไว้

ตอนภาพเปลี่ยน เราจะเห็นสีที่ดูเหมือนปกติ (แต่ซีดๆ) ทั้งๆที่ภาพที่แสดงเป็นภาพขาวดำครับ ถ้าเราขยับตาภาพจะกลายเป็นขาวดำทันที ถ้าเราจ้องตรงกลางไว้ เราจะเห็นภาพสีอยู่แป๊บนึงครับ

มีภาพสลับให้ดูอีกสองชุดครับ:

จ้องมองตรงกลางไว้ครับ
จ้องมองตรงกลางไว้ครับ  15 วินาทีแล้วภาพจะเปลี่ยน
จ้องมองตรงกลางไว้ครับ
จ้องมองตรงกลางไว้ครับ  15 วินาทีแล้วภาพจะเปลี่ยน

สาเหตุที่เราเห็นสีในภาพขาวดำได้เป็นเพราะความล้าของเซลล์รับแสงในลูกตาครับ

เราอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้โดยเข้าใจว่าในเรตินาของตาเราจะมีเซลล์รับแสงอยู่สองประเภทคือเซลร็อดหรือเซลล์แท่ง หน้าตามันเป็นแท่งๆทรงกระบอก และเซลล์โคนหรือเซลล์กรวย หน้าตามันจะเป็นกรวยแหลม โดยที่เซลล์ร็อดจะรับความสว่างของแสงภายนอกแต่จะไม่แยกเแยะสีต่างๆ ส่วนเซลล์โคนจะรับสีต่างๆโดยที่เซลล์โคนจะแบ่งย่อยออกเป็นสามประเภทที่รับแสงแถบๆสีแดง สีเขียว สีน้ำเงินได้ดี

ภาพวาดหน้าตาของเซลล์ร็อดและเซลล์โคน
ภาพจาก http://webvision.med.utah.edu

เจ้าเซลล์รับแสงนี้เมื่อโดนแสงหรือสีเดิมๆนานๆ (เช่นเกิดจากการจ้องภาพเดิมนานๆโดยไม่กระพริบตาและไม่ขยับหัว) จะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่สมองว่าได้รับแสงหรือสีอะไรโดยการเปลี่ยนสารเคมีในเซลล์ พอโดนแสงหรือสีเดิมนานๆสารเคมีก็จะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ปกติเวลาเรากระพริบตาหรือไปมองภาพอื่นๆเซลล์จะมีโอกาสได้พักและเติมเต็มสารเคมีขึ้นมาใหม่ ในกรณีของเราที่ไม่กระพริบตาและดูภาพเดิมสารเคมีจะเหลือน้อย พอเราหันไปดูภาพขาวดำ เจ้าเซลล์ที่อ่อนล้าสารเคมีร่อยหรอก็จะส่งสัญญาณอ่อนกว่าปกติไปยังสมอง สมองจึงตีความว่าแสงหรือสีที่ตกลงบนเซลล์เหล่านั้นเป็นสีตรงข้าม ทำให้เราเห็นเป็นภาพลวงตาที่มีสีตรงข้ามกับภาพที่เราจ้องมองตอนแรกนั่นเอง

หลังจากนั้นเด็กๆก็ได้เล่นแบบจำลองลูกตาครับ  เด็กๆได้เห็นภาพตัดขวางของลูกตาไปแล้วว่าเป็นลูกกลมๆ มีเลนส์รวมแสงข้างหน้าให้แสงเข้ามา แล้วแสงก็จะถูกโฟกัสไปตกที่เรตินาด้านหลัง เซลล์รับแสงบนเรตินาก็จะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่สมองให้แปรผลว่าเห็นอะไร ผมเลยเอาแบบจำลองมาให้สังเกต จะได้เห็นว่าภาพที่ตกที่เรตินามีลักษณะอย่างไร และความชัดเจนเป็นอย่างไร

วิธีทำแบบจำลองก็คือเอาโคมกระดาษญี่ปุ่นมายืดให้เป็นลูกกลมๆคล้ายๆลูกตา โคมจะมีช่องเปิดสองด้าน  เราก็เอาเลนส์รวมแสงแบนๆที่เรียกว่าเลนส์เฟรเนล (Fresnel Lens) ที่ผมซื้อมาจาก Aliexpress มาติดที่ช่องเปิดด้านหนึ่ง เลนส์นี้จะทำหน้าที่เหมือนเลนส์ในตาของเรามีหน้าที่รวมแสงไปที่เรตินาในดวงตา สำหรับส่วนเรตินารับแสง ผมตัดพลาสติกขุ่นๆมาจากถุงก๊อบแก๊บ แล้วไปติดที่ช่องเปิดอีกด้านของโคม ดูวิธีทำในคลิปนะครับ:

สำหรับท่านที่จะทำตามแต่ไม่มีเลนส์แบนๆแบบ Fresnel ท่านใช้เลนส์นูนของแว่นขยายก็ได้ครับ สาเหตุที่ผมใช้เลนส์ Fresnel ก็เพราะว่าน้ำหนักเบา และระยะโฟกัสไม่ยาวเกินไป ถ้าโฟกัสยาวกว่าขนาดโคมกระดาษ เลนส์ก็ต้องเลยไปข้างหน้าของโคม ทำให้ดูไม่ค่อยเหมือนลูกตาครับ

เด็กเล่นแบบจำลองกันครับ:

วิทย์ประถม: รู้จักข้อจำกัดและการทำงานของสมองด้วยภาพลวงตา

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายกลเดินผ่านแผ่นเหล็ก แล้วเราก็คุยกันเรื่องข้อจำกัดของสมอง คุยว่าสมองเป็นก้อนเนื้อไขมันอยู่ในกะโหลกมืดๆ แต่แปลสัญญาณไฟฟ้าที่วิ่งเข้ามาผ่านเส้นประสาทเป็นการรับรู้ทั้งหมดของเรา และบ่อยครั้งมันก็ตีความคลาดเคลื่อน โดยเราทดลองดูภาพลวงตาต่างๆกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเดินผ่านแผ่นเหล็ก:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าการรับรู้ต่างๆของเรา เราเห็นอะไร เราได้ยินอะไร เรารับรสชาติอะไร เราได้กลิ่นอะไร เราสัมผัสอะไร ต่างเกิดจากการที่สมองตีความสัญญาณไฟฟ้าที่วิ่งมาตามเส้นประสาทที่เชื่อมกับอวัยวะในร่างกาย การตีความนี้มีประโยชน์ทำให้พวกเรามีชีวิตอยู่ได้ในโลก เรามักจะเข้าใจผิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับรู้มีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริง แต่เราอาจตีความผิด รับรู้ผิดๆ จำผิดๆ และเข้าใจอะไรผิดๆก็ได้ ดังนั้นเราต้องระมัดระวังว่าเรารับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆอย่างไร

วันนี้เราใช้ตัวอย่างภาพลวงตาต่างๆมาแสดงว่าเราเข้าใจผิดหรือรับรู้ผิดได้ง่ายๆอย่างไร

ผมให้เด็กๆดูภาพเคลื่อนที่อันนี้ครับ

ผมถามเด็กๆว่าเห็นอะไร เด็กๆก็บอกว่าเห็นผู้หญิงหมุนไปมาสลับกันไประหว่างทวนเข็มและตามเข็มนาฬิกา ผมจึงบอกว่าจริงๆของที่เราเห็นมันเป็นจุดขาวๆบนพื้นดำที่เปลี่ยนไปมาบนจอแบนๆเท่านั้นเอง แต่ตาและสมองเราเอาข้อมูลเหล่านี้เข้าไปแล้วมโนวาดรูปสามมิติในหัวเราให้ขยับไปมาด้วย จะเห็นได้ว่าสมองเรามีหน้าที่สำคัญในการแปรสัญญาณจากประสาทสัมผัสเพื่อพยายามบอกว่าเรากำลังพบอะไรอยู่

ต่อไปก็ดูภาพนี้ครับ:

ถ้าดูภาพกลาง เราบางคนจะเห็นผู้เหญิงหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา บางคนจะเห็นตามเข็ม และบางทีเราก็จะเห็นเปลี่ยนทิศทางด้วย สาเหตุก็เพราะว่าตาและสมองเราพยายามใช้ข้อมูลเงาสีดำๆเพื่อสร้างภาพในหัวว่าเรากำลังเห็นผู้หญิงในสามมิติที่กำลังหมุนตัวอยู่ แต่ผู้หญิงที่หมุนไม่ว่าตามหรือทวนเข็มก็จะมีเงาสีดำๆเหมือนกัน ทำให้สมองเราสับสนเพราะตีความได้ทั้งสองอย่าง

ถ้าเราดูภาพซ้ายหรือขวาที่มีลายเส้นสีน้ำเงิน แดง และขาว สมองจะไม่สับสน เพราะลายเส้นให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าควรจะหมุนไปด้านไหน และถ้าเรามองซ้ายหรือขวาแล้วไปมองตรงกลาง เราก็จะเห็นภาพตรงกลางหมุนเหมือนภาพซ้ายหรือขวาที่เราพึ่งมองด้วยครับ

ต่อไปผมก็ให้เด็กๆดูคลิปนี้ครับ ให้จ้องที่กากบาทตรงกลาง แนะนำให้เล่นตามก่อนอ่านต่อไปนะครับ:

เวลาเราจ้องที่กากบาทตรงกลาง เราจะเห็นหน้าดาราข้างๆบิดเบี้ยวเป็นสัตว์ประหลาด (ทั้งๆที่ถ้ามองภาพข้างๆ ภาพก็ดูปกติดี) เนื่องจากตาเราจะเห็นชัดในบริเวณเล็กๆที่จ้องเท่านั้น ภาพจากบริเวณอื่นๆจะไม่ชัดมีข้อมูลไม่สมบูรณ์ สมองก็พยายามตีความว่าภาพจากบริเวณอื่นๆหน้าตาเป็นอย่างไร ทำให้เห็นบิดเบี้ยวครับ  ผมบอกเด็กๆว่าความรู้จากเรื่องนี้ใช้ไล่ผีได้ คือถ้าเห็นอะไรแปลกๆข้างตาเหมือนผีให้หันไปมองชัดๆ แล้วผีจะหายไปเอง

ผมให้เด็กๆดูคลิปภาพลวงตาบันได:

ดูภาพลวงตาที่เกิดจากทัศนมิติที่ผิดปกติ (anamorphic illusion)

ดูโฆษณาเก่าจากฮอนด้า:

เราดูคลิปเหล่านี้ให้เข้าใจว่าสมองเราต้องหาทางตีความความลึกความสูงจากลวดลายเส้นต่างๆและอาจตีความผิดหรือคลุมเครือได้

เด็กๆได้ดูภาพลวงตาแสงเงาที่เรียกว่า Adelson’s Checker-Shadow (https://michaelbach.de/ot/lum-adelsonCheckShadow/index.html):

สีไหนเข้มกว่ากันระหว่าง A และ B

ตาเราจะเห็นว่า A เข้มกว่า B แต่ถ้าพิมพ์ออกมาแล้วตัดชิ้น A, B ออกมา จะพบว่ามันมีสีเดียวกันครับ สลับที่ A กับ B แล้วจะมองเห็น B สีเข้มกว่า A ภาพลวงตานี้เป็นอีกหลักฐานว่าสมองจะเดาสีเดาความสว่างจากสีและความสว่างรอบๆถ้าคิดว่าภาพลวงตานี้อาจจะทำงานได้เฉพาะบน

ให้ดูภาพลวงตาอันนี้ด้วย:

เราทุกคนจะเห็นว่ากล่องสีเหลืองและสีน้ำเงินขยับไม่พร้อมกันเวลามันไม่แตะกัน แต่ถ้าเราหยุดภาพแล้วพิมพ์ออกมาวัด เราจะพบว่าทุกกล่องเคลื่อนที่ขึ้นลงพร้อมๆกันครับ (สามารถไปกดเล่นได้ที่ https://michaelbach.de/ot/mot-feetLin/index.html) ในอดีตผมเคยตัดกระดาษสีมาขยับบนพื้นขาวดำดูกันนอกจอคอมพิวเตอร์ด้วยครับ: 

ผมแจกกระดาษที่พิมพ์ภาพนี้ให้เด็กๆดู เมื่อมองด้วยตาเปล่าเส้นแนวนอนจะดูโค้งไปโค้งมา

แต่ถ้าเอาไม้บรรทัดไปทาบ จะพบว่าเส้นแนวนอนเป็นเส้นตรงทั้งหมดครับ:

กิจกรรมสุดท้ายคือภาพลวงตาทีดูเหมือนมองทะลุมือตัวเองได้ โดยเราเอากระดาษ A4 มาม้วนเป็นท่อแล้วใช้เทปกาวติดให้คงรูป ถือท่อด้วยมือขวาแล้วแนบท่อชิด ตาขวา เปิดตาทั้งสองข้างไว้ตลอด ยกฝ่ามือซ้าย (หันฝ่ามือเข้าหาตัว ปลายนิ้วชี้ขึ้น) วางชิดด้านซ้ายของท่อบริเวณกึ่งกลางท่อ มองไปข้างหน้า เราจะเห็นภาพเหมือนมี “รู” ทะลุอยู่กลางฝ่ามือ! จากนั้นลองสลับด้านโดยถือท่อด้วยมือซ้ายติดตาซ้าย แล้วใช้ฝ่ามือขวาทำเช่นเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบความชัดของภาพรู

สาเหตุที่เราเห็นอย่างนี้ก็เพราะตาข้างหนึ่งมองเห็นรูที่ปลายท่อ ในขณะที่อีกข้างเห็นฝ่ามือ สมองจะผสมผสานภาพทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภาพสามมิติที่ต่อเนื่อง จึงตีความว่า “รู” กับ “มือ” เป็นวัตถุเดียวกัน กลายเป็นภาพมือที่มีรูตรงกลาง บางคนอาจเห็นภาพชัดกว่าข้างหนึ่ง เพราะมี “ตาข้างเด่น” (dominant eye) ที่สมองให้ความสำคัญมากกว่าเล็กน้อยครับ