คุณอ้อภรรยาผมไปอ่านบทความเรื่อง Worst Mistakes Parents Make When Talking to Kids แล้วสรุปเป็นภาษาไทยดังนี้ครับ:
“บทความดีๆที่กระตุกให้พ่อแม่อย่างเราต้องคิดว่า ฉันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า “Worst Mistakes Parents Make When Talking to Kids” อ่านแล้วโดนใจ ถึงกับต้องแปลแบบคร่าวๆมาเล่าให้ฟัง
1 พูดมากเกิน พูดเป็นประโยคยาวโน่นนี่นั่นเต็มไปหมด เด็กเก็บข้อมูลไม่ครบค่ะ ควรพูดไม่เกิน 30 วินาที และพูดให้สั้นกระชับ ไม่ใช่แบบตำหนิ ไม่งั้นเด็กจะเริ่มไม่ฟัง อันนี้จริง เพราะเคยอธิบายสอนลูกยาวมาก พอพูดจบปุ๊บ ธีญาเปลี่ยนเรื่องพูดทันที เหมือนกับว่าตอนแม่พูดอยู่..หนูกระโดดไปคิดเรื่องอื่นแล้วแหละ
2 บ่นหรือเตือนซ้ำๆ คือ ถ้าถูกบ่นเตือนซ้ำๆ เด็กจะไม่ทำตามที่บอกหรอก เพราะเด็กเรียนรู้ว่า ไม่เห็นต้องทำเลย..เดี๋ยวแม่ก็เตือนอีกแหละ โดยเฉพาะในเวลาเช้าที่เร่งรีบ ที่ต้องเตรียมชุดพละ อุปกรณ์ดนตรี การบ้าน กระติกน้ำ ทำให้พ่อแม่ต้องคอยเตือนลูกไปหมดทุกสิ่ง อีกห้านาทีก็บ่นลูก ผ่านไปอีกห้านาทีก็เร่งลูก ตัวอย่างที่บรรยายมาก็ราวกับผู้เขียนเคยมานั่งอยู่ในบ้านเราเลยอ่ะ ผู้เขียนบอกว่าคำเตือนพวกนี้เป็นการบอกเด็กทางอ้อมว่า “ลูกไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้หรอก ฟังแม่เท่านั้น หรือให้แม่ทำเลยดีกว่า” ทำให้หล่อหลอมให้เด็กขาดความมั่นใจ ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอด
พ่อแม่ควรบอกว่า “เราจะออกจากบ้านใน 45 นาที ถ้าหนูเอาของไปไม่ครบ หนูคงต้องไปอธิบายกับครูนะคะ” คือ บอกความคาดหวังของแม่ อธิบายของผลที่จะเกิดขึ้น แล้วเด็กจะได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบมากขึ้น..เมื่อเค้าโตขึ้น
3 ใช้วิธีทำให้ลูกรู้สึกผิดจะได้ทำตามที่เราบอก พร่ำพรรณาให้เด็กเข้าใจถึงความเหนื่อยยากของแม่ แต่แม่ก็ต้องเข้าใจว่าเด็กเล็กจะยังไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่ว่าเค้าใจร้าย แต่เพราะเค้าเป็นวัยเด็กที่สนใจแต่ความสนุก ถ้าจะสอนเรื่องเห็นอกเห็นใจ..พ่อแม่เองต้องทำเป็นตัวอย่าง แล้วเด็กจะค่อยๆเรียนรู้ทีละน้อย ถ้ากำลังโกรธอยู่ก็ควรจะคุยกับตัวเองหรือหายใจลึกๆให้อารมณ์เย็นก่อนจะพูดกับลูก โดยการสอนต้องชัดเจน ไม่เวิ่นเว้อ บอกความรู้สึกกับลูก ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ตำหนิ ให้โอกาสเด็กที่ลองใหม่ให้วันพรุ่งนี้
4 ไม่ฟังลูก ถ้าเรายังยุ่งอยู่ก็ต้องบอกเด็กให้ชัดเจน เช่น “แม่ทำกับข้าวอยู่ก็เลยยากที่จะฟังหนู ขออีก 10 นาทีเดี๋ยวแม่ไปคุยด้วยนะ” คือให้เด็กรอดีกว่าให้ลูกพูดไปเรื่อยๆแต่เราไม่ต้้งใจฟัง แล้วเวลาฟังก็ต้องมี eye contact มีภาษากายที่แสดงถึงความเข้าใจ
ในบทความยังมีการยกตัวอย่างบทสนทนาที่ไม่ได้ผลทำให้ลูกรู้สึกแย่ แล้วก็แนะนำวิธีพูดที่ควรนำไปใช้ด้วยค่ะ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ เวลาพูดกับเด็กต้องไม่ให้บทสนทนาเป็นแบบ Negative ตำหนิเด็ก เพราะทำให้เด็กต่อต้านและเริ่มพาลสร้างปัญหาอย่างอื่น
ผู้เขียนยังทิ้งท้ายด้วยว่า
พ่อแม่เป็นงานยาก เราทำผิดพลาดกันได้ การสื่อสารกับเด็กนั้นใช้เวลาและพลังของพ่อแม่ เราต้องรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง รู้ว่าถ้าลูกทำอย่างนี้..เราจะต้องจัดการกับลูกอย่างนี้ทันที (Automatic reactions) เราต้องทำให้ Automatic reactions ช้าลง คิดอย่างสนใจความรู้สึกลูกก่อน แล้วค่อยลงมือจัดการ
การให้เด็กรับผลของการกระทำ…สอนให้เด็กได้รู้ถึง limit
การตั้งใจฟังลูกและให้อิสระกับลูกได้ลงมือทำ…สอนเด็กเรื่อง Respectแต่พ่อแม่ก็ต้องดูแลตัวเองเพื่อให้มีพลังบวกไปดูแลลูก บางทีพ่อแม่ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญในชีวิตแล้วปล่อยวางบางอย่างไปบ้าง เพราะสุดท้ายเราจะได้บางสิ่งที่คุ้มค่ามากๆ
เอาเป็นว่า ไปอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษอย่างละเอียดด้วยเถิดค่ะ อ้อแปลมาคร่าวๆไม่ละเอียด เป็นบทความที่ตรงประเด็น บทสนทนาที่ยกตัวอย่างในบทความ…น่าจะช่วยความโกลาหลของหลายบ้านได้ค่ะ
ผู้เขียน คือ Melanie Greenberg, Ph.D เป็นนักจิตวิทยาค่ะ”