วิทย์ม.ต้น: เผ่าและชาติ, Dunbar’s Number, แนะนำเว็บปัญหาฝึกสมอง, เล่นกับลม (Coanda และ Magnus Effects)

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ

1. มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่กันเป็นกลุ่ม มีประโยชน์เรื่องแบ่งงานกันทำและการร่วมมือกันเรื่องต่างๆ ขนาดของกลุ่มอาจจะมีประมาณหลักสิบถึงร้อยเมื่อสมัยมนุษย์ยังไม่มีเกษตรกรรม จำนวนคนในกลุ่มอาจถูกจำกัดด้วยความสามารถของสมองในการเก็บข้อมูลรายละเอียดว่าสมาชิกของกลุ่มแต่ละคนเป็นอย่างไร และสมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนอื่นๆ มีนักมนุษยวิทยาชื่อ Robin Dunbar เสนอว่าสมองคนอาจจะมีข้อจำกัดทำนองนี้ทำให้เรารู้จักคนแบบลึกซื้งได้ประมาณอย่างมาก 150 คน (อาจจะประมาณ 100-200) มีคนเรียกตัวเลขนี้ว่า Dunbar’s Number

คลิปสำหรับเด็กๆที่สนใจครับ:

2. เมื่อมนุษย์มีเกษตรกรรม กลุ่มคนขยายใหญ่ขึ้นอย่างมาก กลายเป็นเผ่า หัวเมือง และชาติ สมาชิกไม่รู้จักกันอย่างลึกซึ้งเท่าตอนเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่อยู่ด้วยกันด้วยด้วยข้อตกลงร่วมกันเช่น ประเพณี, กฏหมาย, ความรักชาติ, ศาสนา ทำให้รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน

3. คนเราในยุคปัจจุบันยังแสดงความรักเผ่าตนเองและเห็นเผ่าอื่นแตกต่างหรือต่ำกว่าเผ่าตน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆเช่นเหยียดผิว (racism), ไม่ชอบคนต่างเผ่า/ชาติ (xenophobia), อคติด้านศาสนา ความคิดเหล่านี้อาจเคยมีประโยชน์เมื่อมนุษย์ยังอยู่ในสังคมเล็กๆ และสงครามระหว่างกลุ่มแพร่หลาย แต่ในโลกปัจจุบันที่คนทั้งโลกติดต่อกันได้ง่ายและไม่นิยมสงคราม ความคิดเหล่านี้ก็ล้าสมัยไป

4. ความรักชาติและความคลั่งศาสนาก็มีทั้งประโยชน์และโทษ สมัยที่คนตัดสินเรื่องต่างๆด้วยกำลัง กลุ่มที่รักชาติมากๆหรือคลั่งศาสนามากๆก็จะได้เปรียบ ในยุคที่คนไม่นิยมตัดสินด้วยกำลัง ประโยชน์เหล่านี้ก็ลดลงไป และอาจมีโทษมากขึ้นเพราะทำให้คนสามารถทำเรื่องป่าเถื่อนโดยการอ้างความชอบธรรมว่าทำไปเพราะรักชาติหรือเพราะศาสนาบอกว่าควรทำ

5. ผมแนะนำให้เด็กๆที่สนใจหาหนังสือ Chimpanzee Politics โดย Frans de Waal มาอ่านเพื่อเปิดโลกทัศน์เมื่อมีโอกาสในอนาคต

6. ผมแนะนำเว็บฝึกสมองสำหรับเด็กๆที่สนใจชื่อ Mind Your Decisions ยกตัวอย่างปัญหาเช่น:

7. เวลาที่เหลือเด็กๆเล่นเป่าเทียนตามไปตามผิวสิ่งกีดขวางกันครับ:

เราอาศัยปรากฏการณ์ที่ของไหลเช่นลมหรือน้ำชอบวิ่งไปตามผิวสิ่งกีดขวาง (Coandă effect) เนื่องจากเรามองไม่เห็นสายลม (แม้ว่าจะรู้สึกได้) เราจึงดูสายน้ำแทนครับ มันทำตัวคล้ายๆกัน:

8. ผมมีของเล่นอีกอันให้เด็กๆเล่นกันคือถ้วยบิน มันอาศัยหลักการที่ว่าเวลาลูกบอลหรือทรงกระบอกหมุนๆวิ่งผ่านอากาศ แรงเสียดทานระหว่างอากาศและลูกบอลจะทำให้อากาศด้านหนึ่งเลี้ยวเข้าหาหลังลูกบอลมากกว่าอีกด้านหนึ่ง โดยด้านที่ผิวลูกบอลหมุนไปทางเดียวกับอากาศที่วิ่งผ่านลูกบอล (ก็คือทิศตรงข้ามกับทิศทางการเคลื่อนที่ของลูกบอลนั่นเอง) จะทำให้อากาศเลี้ยวมากกว่า ทำให้ลูกบอลโดนดึงไปทางนั้นครับ

ลูกบอลหรือทรงกระบอกที่หมุนๆ เมื่อวิ่งผ่านอากาศจะเกิดแรงยกหรือแรงกดขึ้นกับทิศทางการหมุนครับ แรงนี้เรียกว่าแรงแมกนัส (Magnus Force) แรงเกิดจากการเลี้ยงของอากาศที่วิ่งผ่านผิวลูกบอลไม่เท่ากันขึ้นกับว่าโดนด้านไหนของลูกบอลที่หมุนๆอยู่ (ภาพจาก wikipedia)

เราเห็นปรากฎการณ์นี้ในกีฬาหลายๆอย่างเช่นฟุตบอล เทนนิส ปิงปอง เบสบอล หรือกีฬาอะไรก็ตามที่มีลูกบอลหมุนๆวิ่งผ่านอากาศครับ ในปืน BB ยิงกระสุนพลาสติกก็ใช้เทคนิคนี้ให้กระสุนวิ่งหมุนแบบ back-spin ให้ลอยอยู่นานๆ เรียกว่า hop-up ครับ

วิธีประดิษฐ์ก็คือเอาถ้วยพลาสติกสองอันมาติดกันที่ก้นถ้วย แล้วใช้หนังยางดีดออกไปให้หมุนๆ เราสามารถทำให้ถ้วยพุ่งตกลงพื้นเร็วๆหรือให้ถ้วยร่อนอยู่ในอากาศนานๆขึ้นกับว่าเราทำให้หมุนแบบไหน แบบ top-spin หรือ back-spin ครับ ดูวิธีทำในวิดีโอที่เคยบันทึกไว้ในอดีตเลยครับ:

9. นอกจากนี้ผมยังแสดงตัวอย่างประมาณพื้นที่สังเคราะห์แสงถ้าเราไม่ต้องการกินสัตว์หรือพืชด้วยครับ ลองประมาณว่าต้องมีพื้นที่รับแสงเท่าไร สรุปคือต้องพื้นที่มากเกินไปถ้าเราจะดำรงชีวิตแบบขยับไปมาอย่างที่เราเป็นครับ:

10. บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ครับ:

เด็กๆเป่าเทียนโดยให้ลมวิ่งไปตามผิวสิ่งกีดขวางกันครับ

Posted by Pongskorn Saipetch on Wednesday, September 30, 2020

วิทย์ม.ต้น: หัดไพธอน (REPL, Operator, Int, Float, String, Variable), ฝึก Scratch (Bouncing Ball)

วันนี้เราคุยกันเรื่องเหล่านี้ครับ:

1. คลาสรุ่นพี่ เรียน Python จากหนังสือฟรีบนเว็บชื่อ Automate the Boring Stuff with Python โดยเขียนโปรแกรมใน Mu-Editor เราคุยกันเรื่อง REPL (Read-Evaluate-Print-Loop) สำหรับทดลองพิมพ์คำสั่งต่างๆให้ Python คำนวณให้, คุยเรื่อง operator พวก +, -, *, **, /, //, % กัน, เรื่อง data types พวก int, float, string, เรื่องเครื่องหมายโควท (quotation marks) เพื่อสร้าง string ด้วย ‘, “, ”’, “”” ในสถานการณ์ต่างๆ, รู้จักตัวแปร (variable)

การบ้านคือไปอ่านและพิมพ์ตาม Chapter 2 ต่อครับ

2. คลาสรุ่นน้องหัด Scratch กันต่อ เด็กๆรู้จักตำแหน่ง X-Y (Coordinate System) ตามหน้านี้ ผมให้เด็กๆพยายามขยับตัวละครเป็นเส้นตรงแล้วเมื่อชนขอบก็ให้กระเด้ง พอทำได้ก็ให้โจทย์ต่อว่ากระเด้งแล้วความเร็วลดลงด้วย

หน้าตาโปรแกรมก็จะเป็นประมาณนี้ครับ (โปรแกรมอยู่ที่ https://scratch.mit.edu/projects/429227501/):

โจทย์ต่อมาเราพยายามทำให้ลูกบอลตกลงพื้นแล้วกระเด้ง ผมเลยสอนเด็กๆเรื่องของตกด้วยความเร่งคงที่ (ความเร่ง = ค่า g) คือถ้าเราสร้างตัวแปรเหล่านี้

t = เวลาในการตกและกระเด้งแต่ละรอบ
g = ความเร่งจากแรงโน้มถ่วง
v0 = ความเร็วต้นในแนวดิ่งของลูกบอล
y0 = ความสูงเริ่มต้นของลูกบอล
v(t)= ความเร็วในแนวดิ่งของลูกบอลที่เวลา t
y(t) = ความสูงของลูกบอลที่เวลา t

แล้วเราสามารถคำนวณ v(t) และ y(t) ได้ดังนี้:

v(t) = v0 + g t
y(t) = y0 + v0 t + 1/2 g t^2

หน้าตาโปรแกรมเป็นประมาณนี้ครับ (โปรแกรมอยู่ที่ https://scratch.mit.edu/projects/429234815):

วิทย์ประถม: แรงตึงผิว, เล่นกับลม, วิทย์อนุบาลสาม: แรงตึงผิว

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมและเด็กอนุบาลสามอนุบาลบ้านพลอยภูมิมาครับ เด็กประถมต้นและอนุบาลสามเล่นกับแรงตึงผิวของน้ำ ประถมปลายเล่นกับลม

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมประถมอยู่ที่นี่ กิจกรรมอนุบาลสามอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือหนีออกจากกรงเหล็กที่ล็อคไว้ครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ต่อจากนั้นเด็กประถมต้นเล่นกับแรงตึงผิวของน้ำกันครับ กิจกรรมแรกคือหยดน้ำให้มากที่สุดบนเหรียญบาท

จะพบว่าแรงตึงผิวของน้ำทำให้หยดน้ำไว้บนเหรียญได้มากกว่าที่คิดมาก:

กิจกรรมที่สองคือเติมน้ำใส่แก้วให้เติมถึงขอบ แล้วค่อยๆปล่อยเหรียญหรือลูกแก้วลงไปให้น้ำโป่งขึ้นมาเหนือขอบแก้วได้อีกเยอะเพราะแรงตึงผิวของน้ำดึงน้ำเอาไว้ไม่ให้ไหลหกออกมา

กิจกรรมที่สามคือลอยคลิปโลหะในน้ำ ปกติถ้าเราเอาคลิปหนีบกระดาษไปใส่น้ำ มันจะจม แต่ถ้าเราค่อยๆระวังตอนวางให้มันค่อยๆกดผิดน้ำลงไปเบาๆทั่วๆกัน ผิวน้ำจะแข็งแรงพอที่จะยกคลิปให้ลอยอยู่ได้ ผิวของน้ำมีความตึงผิวทำให้มันคล้ายๆฟิล์มบางๆที่รับน้ำหนักได้บ้าง 

สำหรับวิธีลอยคลิปหนีบกระดาษง่ายๆก็มีอยู่สองวิธี วิธีแรกคือฉีกกระดาษทิชชูให้ขนาดใหญ่กว่าคลิปนิดหน่อย รองคลิปไว้ แล้วค่อยๆลอยทั้งคลิปและกระดาษทิชชูที่รองอยู่ลงบนผิวน้ำ รอสักพักทิชชูก็จะอิ่มน้ำแล้วจมลงไป เหลือแต่คลิปหนีบกระดาษลอยอยู่

เอากระดาษทิชชูรองคลิปแล้วเอาไปลอยครับ
สักพักกระดาษทิชชูจะจม เหลือแต่คลิปลอยอยู่

อีกวิธีหนึ่งก็คือเสียสละคลิปหนีบกระดาษหนึ่งตัว เอามางอให้เป็นรูปตัว L เอามือเราจับด้านบนของตัว L แล้วใช้ด้านล่างของตัว L รองคลิปหนีบกระดาษอีกตัวไว้แล้วก็ค่อยๆเอาคลิปไปวางที่ผิวน้ำ พอวางได้ เราก็ค่อยขยับตัว L ออกเหลือแต่คลิปลอยอยู่

ใช้คลิปที่เรางอเป็นรูปตัว L ขนย้ายคลิปอื่นๆมาวางไว้บนผิวน้ำครับ
พอคลิปลอยน้ำได้ เราก็เอาคลิปตัว L หนีออกไป

พออธิบายวิธีเล่นทั้งสามแบบเด็กๆก็แยกย้ายกันทดลองเล่นเองครับ:

แรงตึงผิวเกิดจากการที่โมเลกุลของน้ำ(และของเหลวอื่นๆ) อยากจะอยู่ใกล้ๆกันไว้ ไม่อยากแยกจากกัน ทำให้ดึงตัวเข้าหากันให้มีพื้นที่ผิวน้อยๆ หรือพอมีอะไรมากดที่ผิว น้ำก็ไม่อยากแยกออกจากกันจึงมีแรงยกของที่มากด แต่ถ้าแรงกดมากเกินไปผิวของน้ำก็รับน้ำหนักไม่ไหวเหมือนกัน

เรามีสารเคมีที่ลดแรงตึงผิวของน้ำได้ ที่เรารู้จักกันดีก็คือสบู่ ผมซักฟอก และน้ำยาล้างจานนั่นเอง โมเลกุลของสารพวกนี้จะเป็นแท่งยาวๆที่ด้านหนึ่งชอบจับกับน้ำ อีกด้านหนึ่งชอบจับกับน้ำมัน มันจึงใช้ล้างจานมันๆได้ดีเพราะด้านที่ชอบจับน้ำมันจะไปล้อมโมเลกุลน้ำมันไว้ แล้วพอเราเอาน้ำราด ด้านที่ชอบจับกับน้ำก็จะติดกับน้ำหลุดจากจานไป  นอกจากนี้เมื่อสารพวกนี้ละลายเข้าไปในน้ำแล้วโมเลกุลของมันจะไปจับโมเลกุลน้ำ ทำให้โมเลกุลน้ำจับมือกับโมเลกุลน้ำอื่นๆยากขึ้น แรงตึงผิวของน้ำจึงลดลง

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้เล่นกับลมสองอย่างครับ อย่างแรกคือเป่าลมอย่างไรให้ได้ปริมาณลมมากๆ:

กระแสลมความเร็วสูงจะดึงเอาลมรอบๆให้วิ่งตามมาด้วย หลักการนี้ใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์ที่เราต้องการเป่าลมเข้าไปในห้องเยอะๆ (เช่นเวลาไล่ควัน หรือกลิ่นเหม็นๆ) แทนที่เราจะเอาพัดลมไปจ่อติดกับประตูหรือหน้าต่างเลย เราควรเว้นระยะสักหน่อย (เช่นสักหนึ่งฟุตถึงไม่กี่เมตร) เพื่อให้กระแสลมจากพัดลมดึงเอาอากาศรอบๆให้วิ่งเข้ามาร่วมวงด้วย

การเล่นอย่างที่สองคือพ่นสเปรย์ด้วยหลอดกาแฟสองหลอด:

เราอาศัยหลักการที่ว่าในแต่ละสายลม ส่วนไหนที่ลมวิ่งเร็ว ความดันอากาศแถวนั้นจะลดลง (ส่วนหนึ่งของหลักการเบอร์นูลลี) เมื่อเราเป่าลมจากหลอดออกมาเป็นสายลมแล้วปิดบังบางส่วนของหลอดเพื่อบังคับให้ลมวิ่งเร็วขึ้น ความดันอากาศแถวนั้นก็จะลดลง สามารถดึงน้ำจากด้านล่างขึ้นมาได้

พอเด็กๆรู้วิธีแล้วก็แยกย้ายกันเล่นกันครับ:

สำหรับอนุบาลสามผมก็ให้เล่นหยดน้ำบนเหรียญและลอยคลิปบนน้ำครับ:

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)