วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 2, เกมเกี่ยวกับวิวัฒนาการ

วันนี้เด็กๆม.ต้นที่กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมได้ดูรายการ Cosmos: A Spacetime Odyssey ตอนที่ 2 กันครับ ตอนนี้เกี่ยวกับขบวนการวิวัฒนาการซึ่งอธิบายความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลก (รายการมีอยู่บน Netflix นะครับ แนะนำให้ดูกัน)

ในรายการกล่าวถึงขบวนการวิวัฒนาการ (evolution) การคัดเลือกพันธุ์โดยมนุษย์ (artificial selection/selective breeding) และการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติ (natural selection) โดยยกตัวอย่างการสร้างสุนัขพันธุ์ต่างๆจากหมาป่าโดยการคัดเลือกพันธุ์โดยมนุษย์ และการเกิดหมีขาวจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

คนคัดเลือกพันธุ์หมาป่าจนกลายเป็นหมาบ้านพันธู์ต่างๆครับ

การวิวัฒนาการและการคัดเลือกโดยธรรมชาติทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตแบบต่างๆนับพันล้านแบบบนโลกเราในเวลาประมาณ 4,000 ล้านปีที่ผ่านมา (แต่ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไปแล้วครับ เหลือสัก 1 ใน 1,000 แบบ)

ส่วนหนี่งของรายการที่แสดง 4 billion years in 40 seconds คือสเก็ตช์ว่าหน้าตาบรรพบุรุษเราตั้งแต่ 4 พันล้านปีเปลี่ยนไปอย่างไรจนกลายมาเป็นเผ่าพันธุ์เราครับ:

ขบวนการวิวัฒนาการจะเกิดได้ด้วยสี่ข้อนี้ครับ:

  1.  ลูกๆคล้ายๆพ่อแม่ (คือมีการสืบทอดพันธุกรรม)
  2.  ลูกๆไม่เหมือนกันหมดทุกตัว (คือมีความหลากหลายทางพันธุกรรม)
  3.  โอกาสรอดชีวิตและแพร่พันธุ์ของลูกแต่ละตัวไม่เท่ากัน ลูกที่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็จะเป็นพ่อแม่ในรุ่นต่อไป (คือมีการคัดเลือกพันธุ์)
  4.  วนข้อ 1-3 หลายๆรอบ เป็นร้อยเป็นพัน…เป็นล้านรอบ

อนึ่ง คำว่า พ่อ แม่ ลูก ด้านบน อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เราคุ้นเคยก็ได้ครับ จริงๆอะไรที่สามารถจำลองตัวเองแบบมีความหลากหลายได้ก็ใช้ขบวนการวิวัฒนาการได้ เช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไวรัส หรือไอเดียต่างๆในหัวคน (ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการเข้าใจธรรมชาติด้วยขบวนการวิทยาศาสตร์ก็เพราะไอเดียทางวิทยาศาสตร์มีการวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์: ไอเดียไหนถูกต้องใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆได้ก็จะอยู่รอดและแตกลูกหลานต่อไป ไอเดียไหนอธิบายไม่ได้ก็จะตายไป เการวิวัฒนาการของไอเดียสืบมาทำให้ความเข้าใจของเราใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไปครับ)

สำหรับเด็กๆที่ต้องการทบทวน แนะนำให้เด็กๆเข้าไปดูส่วนที่ผมเคยเขียนเรื่องวิวัฒนาการที่นี่, ที่นี่, และที่นี่ครับครับ

สำหรับการบ้านสัปดาห์นี้ ผมให้เด็กๆไปเล่นเกมที่ Evolution Lab ที่ http://www.pbs.org/wgbh/nova/labs/lab/evolution/ กันครับ ถ้าเข้าไปครั้งแรกควร log-in ด้วย Facebook หรือ Google+ ที่ปุ่ม log-in บนหน้า http://www.pbs.org/wgbh/nova/labs/ ครับ แล้วกดเลือก Evolution Lab 

หน้า http://www.pbs.org/wgbh/nova/labs/ ครับ กด log-in ที่หน้านี้ถ้ายังไม่ได้ log-in
กด Evolution Lab เพื่อมาหน้านี้ที่เราจะเล่นเกมครับ (http://www.pbs.org/wgbh/nova/labs/lab/evolution/)

วัตถุประสงค์ที่ให้เด็กๆเล่นเกมนี้ก็เพื่อหัดอ่าน หัดค้นคว้าด้วยภาษาอังกฤษ และเข้าใจกิ่งก้านสาขาของเหล่าสิ่งมีชีวิตบนโลกครับ

 

วิทย์ประถม: ปลูกวัคซีนกันถูกหลอกง่ายๆ

วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ ทุกครั้งที่เปิดเรียนผมจะทำกิจกรรมปลูกวัคซีนกันถูกหลอกให้เด็กๆ ผมเอาภาพลวงตาและเสียงลวงหูมาให้เด็กๆดูและฟังเพื่อให้รู้ว่าสมองของเราทำงานผิดพลาดได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อจะเชื่ออะไรต้องระมัดระวัง ต้องดูหลักฐานและกลไกต่างๆว่าน่าจะเป็นจริงหรือไม่ครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เล่นเรื่องจุดศูนย์ถ่วง หัดวัดความดันโลหิต” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นผมให้เด็กๆดูของแปลกประจำสัปดาห์ครับ คราวนี้คือคลิปนี้ครับ:

อุปกรณ์นี้เรียกว่า Flyboard Air มีเครื่องยนต์เจ็ตขับเคลื่อน ทำให้คนสามารถลอยไปมาได้ เด็กดูแล้วตื่นเต้นกันมาก ผมให้เด็กๆคิดว่ามันปลอดภัยไหม และถ้าอันตรายจะทำให้ปลอดภัยขึ้นอย่างไร

ต่อจากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูโต๊ะในวิดีโอนี้ ให้ดูว่าอันไหนยาวกว่าครับ:

ทุกคนเห็นว่าโต๊ะด้านซ้ายยาวกว่า แต่เมื่อเราวัดขนาดดูแล้ว ปรากฏว่ามันมีขนาดเท่ากันเป๊ะเลยครับ ผมพิมพ์รูปโต๊ะทั้งสองบนกระดาษแจกให้เด็กๆไปวัดและเทียบกันด้วยครับ ภาพนี้นะครับ:

จาก http://smart-kit.com/s868/optical-illusion-tables/

ภาพลวงตาอันต่อไปคือหอนาฬิกาบิ๊กเบนครับ:

จาก https://richardwiseman.wordpress.com/2010/02/24/big-ben-illusion/

ดูเหมือนว่าอันขวาเอียงมากกว่าอันซ้าย แต่ถ้าพิมพ์บนกระดาษแล้วตัดมาเทียบกันมันจะเอียงเท่าๆกันครับ ที่เราเห็นอย่างนี้ก็เพราะว่าสมองคิดว่าทั้งสองภาพรวมกันเป็นภาพของหอนาฬิกาสองอันคู่กัน และเมื่อเรามองหอนาฬิกาจริงๆตั้งคู่กันอยู่ เราจะเห็นยอดของมันลู่เข้าหากัน (เรื่อง perspective) เมื่อเราไม่เห็นมันลู่เข้าหากัน เราจึงคิดว่าหอด้านขวาต้องเอียงอยู่แน่ๆ  ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงการที่สมองตีความหมายตามสมมุติฐาน(หรือโปรแกรม)ที่มีอยู่แล้วในสมอง ไม่ใช่เห็นในสิ่งที่เป็น

ปรากฏการณ์เดียวกันนี้อธิบายภาพถนนที่ดูเอียงไม่เหมือนกันทั้งๆที่เป็นภาพเดียวกันทั้งซ้ายขวาด้วยครับ:

จาก https://www.womansworld.com/posts/road-optical-illusion-153381

อีกภาพหนึ่งเรียกว่า Cafe wall illusion ดังนี้ครับ:

จาก http://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-4772156/Caf-wall-illusion-makes-straight-lines-look-slanted.html

แถบสีฟ้าในภาพมันขนานกันนะครับ แต่เรามองมันดูเอียงๆลู่เข้าลู่ออกไม่ขนาน ผมถามเด็กว่าจะเช็คยังไงดี เด็กๆก็ลองวัดระยะห่างของแถบด้านซ้ายและด้านขวา และพบว่ามันเท่ากันครับ นอกจากนี้ถ้าเรามองภาพนี้จากข้างๆจะเห็นว่าแถบสีฟ้ามันขนานกันครับ

ผมแถมให้เด็กๆดูภาพหน้าไอน์สไตน์ผสมมาริลีน มอนโรครับ ถ้าหรี่ๆตาให้ภาพมัวๆหรือมองจากไกลๆจะเห็นหน้ามาริลีน มอนโร (หน้าผู้หญิง) ถ้ามองชัดๆหรือมองใกล้ๆจะเห็นหน้าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (หน้าผู้ชาย):

จาก https://www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/health-news/monroe-or-einstein-optical-illusion-you-may-need-glasses-if-you-see-a-hollywood-actress-rather-than-10154295.html

สำหรับเด็กประถมปลาย นอกจากได้เล่นกับภาพลวงตาข้างบนแล้ว ยังได้ฟังเสียง Yanny vs. Laurel ด้วยครับ:

คนแต่ละคนจะได้ยินคนละคำ ขึ้นกับได้ยินเสียงความถี่สูงหรือความถี่ต่ำเท่าไร หูฟังและลำโพงที่ใช้ก็มีผลครับ ที่เว็บ The New York Times มีให้ปรับปริมาณความถี่เสียงสูงเสียงต่ำด้วยครับ เชิญไปเล่นที่ https://www.nytimes.com/interactive/2018/05/16/upshot/audio-clip-yanny-laurel-debate.html

นอกจากนี้ก็มีเสียงที่ฟังเป็นคำว่า Brainstorm หรือ Green needle ได้ขึ้นกับว่าเราพูดคำไหนในใจเราด้วยครับ ที่ลิงก์นี้ครับ: https://www.reddit.com/r/blackmagicfuckery/comments/8jxzee/you_can_hear_brainstorm_or_green_needle_based_on/

 

วิทย์ม.ต้น: หัดโปรแกรมด้วย Scratch

วันนี้เด็กม.ต้นได้หัดเขียนโปรแกรมด้วย Scratch กันครับ ผมให้เด็กๆสร้างบัญชีผู้ใช้สำหรับตนเอง โปรแกรมต่างๆที่สร้างจะได้ไม่หายไปไหน 

เด็กๆหลายๆคนได้ลองเล่นมาบ้างแล้วหลังจากที่ผมแนะนำให้รู้จักเมื่อวันพุธ วันนี้ผมให้เด็กๆทำ Tutorial ต่างๆที่อยู่บนหน้า Getting Started เพื่อให้เด็กๆรู้จักว่าคำสั่งต่างๆมีอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง

แม้ว่า Scratch จะมีคำสั่งต่างๆเป็นภาษาไทยด้วย แต่ผมก็บอกเด็กๆให้ใช้แบบภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะเด็กๆโตแล้ว และควรเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษให้ได้ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้จะไม่สามารถค้นคว้าเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงควรหัดครับ

ขณะที่เด็กๆทดลองทำสิ่งต่างๆใน Scratch เมื่อติดขัดหรือมีปัญหา ผมก็จะให้เด็กๆปรึกษากันพยายามแก้ปัญหา นอกจากบางกรณีที่ผมต้องลงไปช่วย แต่อยากให้เด็กๆเรียนรู้ด้วยตัวเองและจากเพื่อนๆมากที่สุด เพราะเป็นทักษะสำคัญให้กล้าที่จะเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆไม่ต้องรอให้ใครมาสอนครับ

การบ้านสำหรับศุกร์หน้าคือให้สร้างอะไรที่เด็กแต่ละคนคิดว่าเจ๋งด้วย Scratch แล้วเอามาดูกันในอีกหนึ่งสัปดาห์ครับ

 

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)