วิทย์ม.ต้น: เขียนโปรแกรมดูการเติบโตของเงิน, แบบฝึกหัดพิมพ์เรียงอักษรเป็นสามเหลี่ยมต่างๆ

เด็กม. 2-3 ได้ศึกษาการเติบโตของเงินแบบดอกเบี้ยทบต้น ให้เห็นผลของเวลาและอัตราผลตอบแทนว่าทำให้เงินเติบโตกันอย่างไร และทำไมควรจะเอาเงินไปวางไว้ในที่ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ การบ้านคือให้ไปคำนวณว่าถ้าเราลงทุนทุกปีเท่าๆกันด้วยอัตราผลตอบแทนเท่าๆกันเราจะมีเงินเก็บเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไปนานๆครับ ในอนาคตจะให้เด็กๆใช้ Bisection Method คำนวณเงินที่เราต้องออมหรืออัตราผลตอบแทนที่เราต้องหามาถ้าเรามีเป้าหมายเงินออมในอนาคต

ฟังก์ชั่นการคำนวณค่าเงินในอนาคตเป็นสูตรง่ายๆ:

ลองเปรียบเทียบผลตอบแทนต่างๆกัน:

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องอย่างนี้อ่านได้ที่: Compound Interest, ดอกเบี้ยทบต้น, และ อุปสรรคของคนรอพลังจาก “ดอกเบี้ยทบต้น”

สามารถโหลดโค้ดม.2-3 ใน Jupyter Notebook นี้ หรือดูออนไลน์ที่ https://nbviewer.jupyter.org/url/witpoko.com/wp-content/uploads/2019/07/2019-07-26_G8-9.ipynb นะครับ

เด็กม. 1 ได้ทำแบบฝึกหัดเขียนโปรแกรมไพธอน และพยายามแก้ปัญหาพิมพ์ตัวอักษรเรียงเป็นสามเหลี่ยมแบบต่างๆครับ หน้าตาประมาณนี้ครับ:

สามารถโหลดโค้ดม.1ในJupyter Notebook นี้ หรือดูออนไลน์ที่ https://nbviewer.jupyter.org/url/witpoko.com/wp-content/uploads/2019/07/2019-07-26_G7.ipynbนะครับ

เล่นฝูงลูกโป่ง (Coandă effect)

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เด็กๆทั้งประถมและอนุบาลสามได้เล่นฝูงลูกโป่งที่ถูกสายลมคีบไว้เหมือนตะเกียบที่ทำจากลมเพราะลมชอบวิ่งไปตามผิวเรียบของลูกโป่งทำให้ลูกโป่งและสายลมติดกัน เด็กๆได้สังเกตว่าลูกโป่งใหญ่ลูกโป่งเล็กลอยสูงต่างกันอย่างไร เด็กประถมปลายได้สังเกตสายน้ำวิ่งไปตามผิวลูกโป่งด้วยครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ทริกช็อตลูกแก้ว, คลื่นลูกตุ้ม, จรวดโฟม NERF” ครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลเสกอ่างปลา:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

จากนั้นเด็กๆได้สังเกตว่าเวลาลมหรือน้ำไหลไปตามผิวโค้งนูน มันจะวิ่งไปตามผิวโค้ง ไม่ชนแล้วกระเด้งออกมาครับ ถ้าวัตถุมีลักษณะโค้งนูนคล้ายผิวลูกโป่ง สายน้ำหรือสายลมก็จะวิ่งโค้งไปตามผิวและวัตถุก็จะถูกดูดเข้าสู่สายน้ำหรือสายลมด้วย ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า Coandă effect (อ่านว่าควานด้า) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปีกเครื่องบินมีแรงยกให้บินได้ ทดลองดูได้แบบในคลิปครับ:

ถ้าสายลมแรงพอ เช่นออกมาจากเครื่องอัดลมความดันสูง แรงลมสามารถ “คีบ” ไขควงให้ลอยอยู่ได้ด้วยครับ:

ในอดีตผมเคยอัดคลิปการเล่นประมาณนี้ไว้ที่ช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ เด็กๆอาจจะชอบดู:

สำหรับวันนี้เราใช้พัดลมและลูกโป่งมาเล่นกันครับ ลูกโป่งจะถูกสายลมจากพัดลม “คีบ” เอาไว้ ถ้าเราเคลื่อนย้ายพัดลมช้าๆลูกโป่งก็จะลอยตามไป สามารถเอียงพัดลมได้ระดับหนึ่งด้วยครับ ลูกโป่งก็จะยังลอยอยู่ในสายลม ไม่กระเด็นหรือตกไปไหน พอผมอธิบายหลักการเสร็จเด็กๆก็ผลัดกันเล่นครับ:

วิทย์ม.ต้น: Hedonic Treadmill, สมรภูมิลูกโป่ง

วันนี้เด็กๆมัธยมต้นเรียนเรื่อง hedonic treadmill จากหนังสือ The Art of Thinking Clearly โดยคุณ Rolf Dobelli  ที่เรามักจะเคยชินกับความสุข (หรือความทุกข์) ของเราเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเราจะมีความสุขชั่วคราวกับของใหม่ที่ซื้อมา เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น หรือถูกล็อตเตอรี่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะรู้สึกเฉยๆกับมันและอยากได้อะไรใหม่ๆอีก

ต่อจากนั้นผมก็แนะนำหนังสือ Origin Story โดย David Christian เพื่อให้เด็กๆอ่านไปเรื่อยๆเป็นการเพิ่มความรู้รอบตัวครับ เนื้อหาจะเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากโครงที่ถูกนำเสนอในคลิปนี้:

ต่อจากนั้นเราก็ทำความรู้จักกับ Coanda effect คือการที่ของไหลเช่นน้ำหรือสายลมชอบวิ่งไปผิวเรียบๆของวัตถุ ถ้าวัตถุมีลักษณะโค้งๆคล้ายผิวลูกโป่ง สายน้ำหรือสายลมก็จะวิ่งโค้งไปตามผิวและวัตถุก็จะถูกดูดเข้าสู่สายน้ำหรือสายลมด้วย

ถ้าสายลมแรงพอ เช่นออกมาจากเครื่องอัดลมความดันสูง แรงลมสามารถ “คีบ” ไขควงให้ลอยอยู่ได้ด้วยครับ:

ในอดีตผมเคยอัดคลิปการเล่นประมาณนี้ไว้ที่ช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ เด็กๆอาจจะชอบดู:

เด็กๆได้ทดลองเอาลูกโป่งไปติดกับสายน้ำจากก๊อกให้รู้สึกถึงแรงที่กดและดูดลูกโป่งโดยสายน้ำครับ:

จากนั้นเราก็เอาพัดลมเป่าลมชึ้นจากพื้น แล้วเอาลูกโป่งไปวางข้างบน ให้สายลมวิ่งรอบๆลูกโป่งและทำการ “คีบ” มันไว้ครับ ลักษณะสายลมที่วิ่งรอบๆลูกโป่งจะมีหน้าตาประมาณนี้ ทำโดยเอาเชือกฟางมาฉีกให้เป็นเส้นเล็กๆแล้วไปติดหน้าพัดลมครับ:

พอเข้าใจปรากฎการณ์นี้แล้วเราก็เล่นสมรภูมิลูกโป่งกันครับ เอาพัดลมมาตั้งใกล้ๆกันสามตัว แล้วเด็กๆเป่าลูกโป่งขนาดต่างๆกัน มีการตกแต่งด้วยกระดาษ หรือถ่วงน้ำหนักด้วยคลิปหนีบกระดาษ แล้วปล่อยให้มันลอยชนกัน ดูว่าใครอยู่ได้นานที่สุดกันครับ:

ให้เด็กๆสังเกตดูครับว่าขนาดมีผลอย่างไรกับการลอย การติดกระดาษเข้าไปทำให้เกิดอะไรขึ้น การถ่วงน้ำหนักทำให้เกิดอะไรขึ้น

ภาพบรรยากาศกิจกรรมวันนี้อยู่ที่ลิงก์นี้นะครับ

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)