ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เด็กๆทั้งประถมและอนุบาลสามได้เล่นฝูงลูกโป่งที่ถูกสายลมคีบไว้เหมือนตะเกียบที่ทำจากลมเพราะลมชอบวิ่งไปตามผิวเรียบของลูกโป่งทำให้ลูกโป่งและสายลมติดกัน เด็กๆได้สังเกตว่าลูกโป่งใหญ่ลูกโป่งเล็กลอยสูงต่างกันอย่างไร เด็กประถมปลายได้สังเกตสายน้ำวิ่งไปตามผิวลูกโป่งด้วยครับ
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ทริกช็อตลูกแก้ว, คลื่นลูกตุ้ม, จรวดโฟม NERF” ครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลเสกอ่างปลา:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
จากนั้นเด็กๆได้สังเกตว่าเวลาลมหรือน้ำไหลไปตามผิวโค้งนูน มันจะวิ่งไปตามผิวโค้ง ไม่ชนแล้วกระเด้งออกมาครับ ถ้าวัตถุมีลักษณะโค้งนูนคล้ายผิวลูกโป่ง สายน้ำหรือสายลมก็จะวิ่งโค้งไปตามผิวและวัตถุก็จะถูกดูดเข้าสู่สายน้ำหรือสายลมด้วย ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า Coandă effect (อ่านว่าควานด้า) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปีกเครื่องบินมีแรงยกให้บินได้ ทดลองดูได้แบบในคลิปครับ:
ถ้าสายลมแรงพอ เช่นออกมาจากเครื่องอัดลมความดันสูง แรงลมสามารถ “คีบ” ไขควงให้ลอยอยู่ได้ด้วยครับ:
ในอดีตผมเคยอัดคลิปการเล่นประมาณนี้ไว้ที่ช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ เด็กๆอาจจะชอบดู:
สำหรับวันนี้เราใช้พัดลมและลูกโป่งมาเล่นกันครับ ลูกโป่งจะถูกสายลมจากพัดลม “คีบ” เอาไว้ ถ้าเราเคลื่อนย้ายพัดลมช้าๆลูกโป่งก็จะลอยตามไป สามารถเอียงพัดลมได้ระดับหนึ่งด้วยครับ ลูกโป่งก็จะยังลอยอยู่ในสายลม ไม่กระเด็นหรือตกไปไหน พอผมอธิบายหลักการเสร็จเด็กๆก็ผลัดกันเล่นครับ:
One thought on “เล่นฝูงลูกโป่ง (Coandă effect)”