วิทย์ประถม: ขาโต๊ะต้องมีกี่อัน ขาโต๊ะจากกระดาษ A4

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลเสกกระป๋องบุบให้พอง แล้วเราคุยกันว่าทำไมโต๊ะที่มีสามขาจึงล้มยากกว่าหนึ่งและสองขามาก ทดลองกันว่ากระดาษ A4 ที่ม้วนเป็นทรงกระบอกสามารถรับน้ำหนักได้มากมหาศาลเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวมัน แล้วใช้ม้วนกระดาษรับน้ำหนักโต๊ะจริงๆกันหลายตัว

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเสกกระป๋องบุบให้พองครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมเริ่มโดยถามเด็กๆว่าโต๊ะและเก้าอี้ในห้องเรียนแต่ละตัวมีกี่ขา พบว่ามีสี่ขา แล้วถามต่อว่าจำนวนขาจะน้อยกว่านี้ได้ไหม

มีข้อเสนอว่าสองขาก็น่าจะได้ เด็กๆจึงทดลองกันโดยใช้โต๊ะที่พับขาได้ เลือกใช้สองขา:

โต๊ะสองขา
วางของบนโต๊ะสองขา

เด็กๆพบว่าสองขาก็วางของได้ แต่ต้องระวังไม่ให้เอียง เพราะถ้าเริ่มเอียงนิดเดียว โต๊ะก็จะล้ม

ผมถามว่าใช้ขาเดียวได้ไหม เด็กๆให้ทดลองทำดู ผมทำโดยเอาท่อกระดาษแข็ง (ท่อเก็บลูกแบดมินตัน) มาเป็นขาโต๊ะแล้วให้เด็กๆเอาของวางข้างบน:

โต๊ะหนึ่งขา
วางของบนโต๊ะหนึ่งขา
วางของบนโต๊ะหนึ่งขา

เด็กๆพบว่าขาเดียวล้มง่ายกว่าสองขาอีก ของที่วางต้องให้ทิ้งน้ำหนักไปบนขาอันเดียวนั้น ไม่อย่างนั้นก็จะล้มทันที

สำหรับเด็กที่โตหน่อยจะจำได้ว่าเราเคยคุยกันเรื่องจุดศูนย์ถ่วงไปแล้วในอดีต (https://witpoko.com/?p=8897, https://witpoko.com/?p=8908, https://witpoko.com/?p=8923) คือสิ่งต่างๆจะทรงตัวอยู่ได้เมื่อจุดศูนย์ถ่วงของมันไม่อยู่นอกฐานที่รับน้ำหนัก โต๊ะที่มีหนึ่งหรือสองขาจะมีบริเวณฐานรับน้ำหนักแคบๆ จึงล้มง่ายๆ

แต่เมื่อโต๊ะมีขาสามขาขึ้นไป บริเวณฐานรับนำ้หนักสามารถที่จะกว้างขึ้นกว่าแบบหนึ่งหรือสองขามาก ทำให้โต๊ะทรงตัวอยู่ได้ดี

เมื่อเอาท่อกระดาษแข็งสามท่อมาทำเป็นขาโต๊ะ เด็กๆสามารถวางของบนโต๊ะได้ง่ายๆ โต๊ะไม่ล้ม:

วางของบนโต๊ะสามขา
วางของบนโต๊ะสามขา

ผมให้เด็กๆสังเกตว่าท่อกระดาษแข็งมีความแข็งแรงมาก รับน้ำหนักได้เยอะ แต่สิ่งที่เด็กๆอาจจะไม่รู้ก็คือกระดาษ A4 บางๆเมื่อมาม้วนเป็นทรงกระบอก ก็สามารถรับน้ำหนักกดทับได้มากอย่างน่าตกใจ

กระดาษ A4 ทั้งหลายทำโดยเอาต้นไม้ไปย่อยเป็นชิ้นเล็กๆผสมน้ำและสารเคมีกัดสีให้ขาว แล้วเอาลูกกลิ้งมารีดเอาน้ำออก แล้วเราก็ได้กระดาษแผ่นบางๆขาวๆ ผมบอกว่าดังนั้นจริงๆแล้วแผ่นกระดาษก็เหมือนไม้ที่บางมากๆ ถ้าเราเอามาม้วนแน่นๆ มันก็จะแข็งและรับน้ำหนักได้มากครับ

แล้วเราก็ทดลองใช้ท่อกระดาษสามท่อที่ทำจากกระดาษ A4 มารับน้ำหนักกัน วิธีทำดังในคลิปครับ:

วางของหนักๆบนท่อกระดาษ A4 สามท่อ

คราวนี้เราพบว่ากระดาษ A4 สามแผ่นนำ้หนักรวม 15 กรัม รับน้ำหนักได้ถึง 22.25 กิโลกรัม คิดเป็นกว่า 1,400 เท่าของน้ำหนักตัวมัน

สำหรับประถมปลาย เด็กๆได้ทำท่อกระดาษ รับน้ำหนักสิ่งหนักต่างๆรวมถึงโต๊ะกันครับ:

บรรยากาศกิจกรรมครับ:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.