จุดศูนย์ถ่วงและกลเลี้ยงส้อมด้วยไม้จิ้มฟัน

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องสนุกกับเบคกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชู อยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องจุดศูนย์ถ่วงและเล่นเลี้ยงส้อมให้สมดุลครับ วันนี้เด็กจากทั้งสองกลุ่มบ้านเรียนเข้ามาเรียนรวมกันที่ปฐมธรรมครับ

เด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมอยากทำเครื่องร่อนกันครับ เขาได้เริ่มเอาโฟม เอาฟิวเจอร์บอร์ด เอาไม้บัลซามาตัดกันเป็นรูปร่างเครื่องร่อนกันแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังร่อนไม่ได้ วันนี้ผมเลยเลือกหัวข้อจุดศูนย์ถ่วงมาพูดให้เขาฟัง เพื่อให้สามารถออกแบบเครื่องร่อนกันได้ดีขึ้น

ผมเริ่มด้วยการถามเด็กๆว่าจำเรื่องความเฉื่อยได้ไหม เราเคยทำการทดลองเกี่ยวกับความเฉื่อยไปบ้างแล้ว วัตถุต่างๆต่างก็มีความเฉื่อย คือความที่มันไม่อยากเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของมัน ถ้ามันหยุดนิ่งอยู่มันก็จะหยุดนิ่งไปตลอดถ้าไม่มีอะไรไปออกแรงใส่มัน ถ้ามันเคลื่อนที่อยู่มันก็ไม่อยากหยุดหรือเลี้ยวถ้าไม่มีแรงอะไรไปเบรกหรือเลี้ยวมัน เราเรียกปริมาณความเฉื่อยของวัตถุว่ามวล (เราเคยทำการชั่งน้ำหนักวัดมวลไปแล้วในอดีต) ยกตัวอย่างเช่นมวลของผมเยอะกว่ามวลของเด็กๆ ถ้าเรานั่งอยู่เฉยๆแล้วจะมีใครมาผลักให้ขยับ จะต้องใช้แรงผลักผมมากกว่าแรงผลักเด็กๆเยอะเลย หรือรถจักรยานมีมวลน้อยกว่ารถสิบล้อ ผมถามว่าถ้ามีรถจักรยานและรถสิบล้อวิ่งมาเร็วเท่าๆกัน แล้วเราจะถูกชน ควรถูกชนด้วยจักรยานหรือสิบล้อ เด็กๆก็เข้าใจว่าถูกจักรยานชนดีกว่าสิบล้อ เพราะความแรงในการชนมันเบากว่าเยอะ

คราวนี้มันมีกฏเกณฑ์ธรรมชาติอีกอันว่าวัตถุที่มีมวลจะดึงดูดซึ่งกันและกันด้วยแรงที่เราเรียกว่าแรงโน้มถ่วง แม้แต่ตัวเด็กๆและตัวผมก็มีแรงโน้มถ่วงดึงดูดกัน แต่มีค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับแรงโน้มถ่วงที่โลกดึงดูดเราทุกคนให้ติดผิวโลกอยู่ น้ำหนักของเราแต่ละคนก็คือแรงที่โลกดูดเราอยู่นั่นเอง แรงโน้มถ่วงจะอ่อนลงเมื่อระยะระหว่างวัตถุห่างกันมากขึ้น ถ้าเราออกไปในอวกาศไกลๆโลก น้ำหนักเราก็จะน้อยลง เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเราได้น้อยลงตามระยะทางที่เพิ่มขึ้น

ผมออกนอกเรื่องไปหน่อยเกี่ยวกับอุกกาบาตที่มาชนโลกแล้วทำให้ไดโนเสาร์ล้มหายตายจากไป คือผมบอกว่าในอวกาศก็มีก้อนหินที่ลอยไปลอยมา ก้อนหินเหล่านี้มีมวล ดังนั้นมันจึงดึงดูดกับโลกด้วย ถ้าความเร็วของก้อนหินมันพอดีๆ มันก็อาจตกลงมาโดนโลกได้ ถ้าความเร็วไม่พอดีก้อนหินก็อาจจะเข้ามาเฉียดๆโลก (แบบห่างได้เป็นหมื่นเป็นแสนกิโลเมตร) แล้วก็เลี้ยวไปทางอื่นไม่ได้ตกลงบนโลกพอดี  เจ้าก้อนหินที่ตกลงมาเมื่อ 65 ล้านปีก่อนที่ฆ่าไดโนเสาร์นั้น มีขนาดกว้างยาวสูงสักสิบกิโลเมตรได้ (จริงๆเราควรเรียกมันว่าภูเขามากกว่า) พอตกลงมาจากที่ไกลๆแรงโน้มถ่วงของโลกจึงทำให้มันตกลงมาเร็วมาก ความเร็วตอนเข้าชนโลกคงจะประมาณ 20-30 เท่าความเร็วเสียง หรือประมาณสัก 30,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอชนโลกจึงเกิดมหันตภัยตายหมู่กันยกใหญ่ Continue reading จุดศูนย์ถ่วงและกลเลี้ยงส้อมด้วยไม้จิ้มฟัน

สนุกกับเบคกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชู

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องเหนี่ยวนำไฟฟ้าและเบรกแม่เหล็กอยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องสนุกกับเบคกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชูครับ  วันนี้เด็กๆกลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรมและพลอยภูมิมานั่งเรียนด้วยกัน หัวข้อวันนี้เกิดจากคำขอพิเศษของเด็กๆหลายๆคนที่อยากทำถุงระเบิดที่เขาเคยเห็นเมื่อประมาณสองปีก่อนครับ

ผมเริ่มโดยถามเด็กๆว่าใครรู้บ้างว่าทำขนมปังให้ฟูๆอย่างไร เด็กๆบอกว่าใส่ยีสต์ ใส่ผงฟูในแป้งขนมปัง ผมก็บอกว่าใช่แล้ว เรามีวิธีหลายวิธีที่จะทำให้ขนมปังฟู วิธีแรกก็คือใส่ยีสต์เข้าไป เด็กๆรู้ไหมว่ายีสต์คืออะไร เด็กๆหลายคนรู้จักว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ผมจึงเสริมว่ายีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรามองไม่เห็น สามารถกินน้ำตาลแล้วขับถ่ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาได้ ถ้าเราผสมยีสต์เข้าไปในแป้งขนมปังแล้วนวด ยีสต์จะกินน้ำตาลบางส่วนในแป้งแล้วปล่อยฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาตามเนื้อแป้ง พอเราเอาแป้งไปอบ ยีสต์ก็จะตาย แต่ฟองคาร์บอนไดออกไซด์จะแทรกอยู่ตามเนื้อขนมปัง ทำให้ขนมปังนิ่ม

วิธีที่สองก็คือใช้เบคกิ้งโซดา (Baking Soda) หรือที่มีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมไบคาร์บอเนต สารนี้ประกอบไปด้วยอะตอมของโซเดียม คาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน เวลาเขียนเป็นสูตรเคมีจะเขียนเป็น NaHCO3 เจ้าสารตัวนี้ถ้าผสมกับกรดต่างๆจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเหมือนกัน ถ้าผสมไปในแป้งขนมปังที่มีส่วนผสมเป็นกรดบ้างเช่น นม ช็อคโคแลต บัตเตอร์มิลค์  น้ำผึ้ง โยเกิร์ต หรือนำ้มะนาว มันก็จะปล่อยฟองคาร์บอนไอออกไซด์ออกมาแทรกในเนื้อแป้ง ทำให้ขนมปังนุ่ม

วิธีที่สามก็คือใช้เบคกิ้งพาวเดอร์ (Baking Powder) หรือผงฟู มีส่วนผสมของเบคกิ้งโซดา และสารที่เมื่อโดนความชื้นจะกลายเป็นกรด ดังนั้นเมื่อใส่ผงฟูเข้าไปในแป้งขนมปังที่มีความชื้นอยู่ ส่วนประกอบที่เป็นเบคกิ้งโซดาก็จะผสมกับกรดแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทรกในเนื้อแป้ง ทำให้ขนมปังนุ่ม

สำหรับวันนี้ เราจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะๆเร็วๆ เราจึงเอาเบคกิ้งโซดามาผสมกับกรดน้ำส้มที่มีอยู่ในน้ำส้มสายชู แล้วเราก็เอาก๊าซไปเล่นแบบต่างๆกัน Continue reading สนุกกับเบคกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชู

เหนี่ยวนำไฟฟ้าและเบรกแม่เหล็ก

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องทดลองต้มน้ำเปล่า น้ำเกลือ และเอาลูกโป่งลนไฟอยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องการเหนี่ยวนำไฟฟ้าและเบรกแม่เหล็ก

ผมบอกเด็กๆว่าเตาเหนี่ยวนำไฟฟ้า เบรครถไฮบริดเช่นพริอุส เครื่องปั่นไฟ และเครื่องปรับหนักเบาในจักรยานออกกำลังกาย ใช้หลักการธรรมชาติเดียวกันในการทำงาน และวันนี้เราจะมาลองดูการทดลองง่ายๆของหลักการธรรมชาติอันนี้ หลักการนี้ก็คือการเหนี่ยวนำไฟฟ้าเมื่อแม่เหล็กและตัวนำไฟฟ้ามาขยับใกล้ๆกัน

เวลาเรามีแม่เหล็ก (ซึ่งอาจจะเป็นแม่เหล็กถาวรเป็นแท่งๆ หรือแม่เหล็กไฟฟ้าก็ได้) เอามาอยู่ใกล้ๆกับตัวนำไฟฟ้าเช่นเหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง หรือโลหะต่างๆรวมทั้งสายไฟทั้งหลาย แล้วทำให้มีการขยับใกล้ๆกัน (จะให้แม่เหล็กขยับ ตัวนำขยับ หรือทั้งสองอันขยับผ่านกันก็ได้ หรือจะให้ความแรงของแม่เหล็กเปลี่ยนไปมาก็ได้) จะมีปรากฏการณ์เรียกว่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งในตัวนำไฟฟ้านั้นๆ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งในตัวนำ ก็จะมีเหตุการต่อเนื่องขึ้นอีกสองอย่างคือ 1) มีสนามแม่เหล็กที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าในตัวนำ และ 2) กระแสไฟฟ้าทำให้ตัวนำร้อนขึ้น ในอดีตผมเคยมีการทดลองและคำอธิบายเรื่องการเหนี่ยวนำไฟฟ้าไปครั้งหนึ่งแล้ว ลองเปิดไปดูด้วยนะครับ

วันนี้ผมเอาขดลวดทองแดงมาต่อกับโวลท์มิเตอร์ แล้วเอาแม่เหล็กไปขยับเข้าออกผ่านขดลวดให้เด็กๆดูเข็มโวลท์มิเตอร์ขยับไปมา แสดงว่ามีกระแสไฟฟ้าไหลในขดลวดทองแดงนั้น (ใช้แอมป์มิเตอร์ไม่ได้ครับ เพราะเครื่องผมวัดกระแสน้อยๆไม่ค่อยได้):

 
 

Continue reading เหนี่ยวนำไฟฟ้าและเบรกแม่เหล็ก

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)