สอนวิทย์มัธยม 1: ทักษะการเข้าใจปริมาณใหญ่ๆ

วันนี้ผมไปสอนวิทย์ให้เด็กๆบ้านเรียนระดับม.1 มาครับ สัปดาห์ที่แล้วให้เด็กๆไปค้นคว้าว่านักวิทยาศาสตร์คิดว่าอายุของจักรวาลของเราเท่ากับเท่าไร และทำไมถึงคิดว่ามีอายุแบบนั้น เด็กๆก็ไปค้นคว้ากันพบว่าอายุน่าจะประมาณเกือบๆ 14,000 ล้านปี  ผมจึงถามว่า 14,000 ล้านปีมันนานแค่ไหน

ผมแนะนำสองวิธีให้เด็กๆรู้จักคือวิธี Cosmic Calendar ที่เปรียบเทียบอายุจักรวาลทั้งหมดให้เท่ากับหนึ่งปี แล้วดูว่าเหตุการณ์ต่างๆเกิดที่วันที่เท่าไร เดือนไหนของปี

อีกวิธีหนึ่งคือเทียบเวลากับความยาวที่เราเข้าใจง่ายๆ การเปรียบเทียบที่เราใช้ในห้องเรียนวันนี้ก็คือประมาณว่าอายุขัยของเราคือ 100 ปี และกำหนดให้ 100 ปีเท่ากับความยาว 1 มิลลิเมตร จากนั้นเราก็ค่อยๆไล่ไปว่า 1,000 ปี หมื่นปี แสนปี ล้านปี สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้านปี เท่ากับความยาวเท่าไร ด้วยวิธีนี้เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่าถ้าชีวิตเรายาว 1 มิลลิเมตรแล้ว อายุจักรวาลจะยาวประมาณระยะทางกรุงเทพถึงพัทยาครับ Continue reading สอนวิทย์มัธยม 1: ทักษะการเข้าใจปริมาณใหญ่ๆ

ข้อจำกัดของประสาทสัมผัสสำหรับประถม กลความดันอากาศสำหรับอนุบาล

เมื่อวันอังคารผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์มาครับ เด็กประถมได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับข้อจำกัดของประสาทสัมผัส ได้พบว่าตาเรามีจุดบอดที่รับแสงไม่ได้ ได้เข้าใจว่าตาของเราและสัตว์อื่นๆน่าจะเห็นสีแบบต่างๆกันเพราะลักษณะลูกตาและเซลล์รับแสงมีหลายแบบต่างๆกัน และได้ทดลองพบว่าผิวหนังของเราตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแต่วัดอุณหภูมิโดยตรงได้แย่มากครับ เด็กอนุบาลสามได้หัดเล่นกลน้ำไม่ไหลออกจากแก้วด้วยความดันอากาศครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ คราวที่แล้วเรื่อง “สารพันมายาสำหรับประถม กลความดันอากาศสำหรับอนุบาล” ครับ)

สัปดาห์นี้เด็กประถมได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดของประสาทสัมผัสต่อจากสัปดาห์ที่แล้วครับ กิจกรรมแรกคือจุดบอดในดวงตาของเราทุกคน ผมให้เด็กๆเขียนตัวหนังสือหรือสัญญลักษณ์เล็กๆให้ห่างกันสัก 10 เซนติเมตรในแนวบรรทัดเดียวกัน

จากนั้นถ้าเราจะหาจุดบอดในตาขวา เราก็หลับตาซ้าย แล้วใช้ตาขวามองตัวหนังสือตัวซ้ายไว้นิ่งๆ จากนั้นเราก็ขยับกระดาษเข้าออกให้ห่างจากหน้าเราช้าๆ ที่ระยะๆหนึ่งเราจะไม่เห็นตัวหนังสือตัวขวา นั่นแสดงว่าแสงจากตัวหนังสือตัวขวาตกลงบนจุดบอดเราพอดี
 

ถ้าจะหาจุดบอดในตาซ้าย เราก็ทำสลับกับขั้นตอนสำหรับตาขวา โดยเราหลับตาขวาแล้วใช้ตาซ้ายมองตัวหนังสือตัวขวาไว้นิ่งๆ อย่ากรอกตาไปมา แล้วเราก็ขยับกระดาษให้ใกล้ไกลหน้าเราช้าๆ ที่ระยะหนึ่งตัวหนังสือตัวซ้ายจะหายไปเพราะแสงจากหนังสือตัวซ้ายตกลงบน จุดบอดตาซ้ายของเราพอดี

ถ้าท่านไม่มีกระดาษลองใช้ตัวหนังสือข้างล่างนี่ก็ได้ครับ แต่อาจต้องขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์หน่อย:
 
 
A                                                                                              B
 
 
ลองหลับตาซ้ายแล้วใช้ตาขวามองตัว A ดู ตอนแรกท่านจะเห็นตัว B ด้วย แต่ถ้าขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์ที่ระยะที่เหมาะสม อยู่ๆตัว B ก็จะหายไป และท่านก็จะเห็นพื้นขาวแถวๆนั้นแทน

Continue reading ข้อจำกัดของประสาทสัมผัสสำหรับประถม กลความดันอากาศสำหรับอนุบาล

สารพันมายาสำหรับประถม กลความดันอากาศสำหรับอนุบาล

สัปดาห์นี้กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมและอนุบาลบ้านพลอยภูมิเปิดเทอมแล้วครับ ผมเลยได้ไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์มา เด็กประถมได้ดูเพชรระเบิดเพราะถูกกดทับ ได้ดูภาพลวงตาต่างๆ ได้คุยกันว่าหนังสามมิติทำงานอย่างไร ได้ทดลองว่าการจดจ่อกับสิ่งหนึ่งทำให้เราพลาดสิ่งอื่นๆได้มากแค่ไหน ได้ฟังเสียงรอบทิศทาง (Holophonics/Binaural recording) ผ่านหูฟัง ได้ทดลองไขว้นิ้วแล้วแตะจมูกจนรู้สึกว่ามีจมูกสองอัน (Aristotle illusion) ได้คุยกันว่าสมองเราต้องพยายามตีความสัญญาณต่างๆที่จำกัดและไม่ค่อยสมบูรณ์จากทางประสาทสัมผัสต่างๆแล้วคิดคำนวณว่าสภาพแวดล้อมที่ประสาทสัมผัสตรวจสอบมาน่าจะเป็นอย่างไร โดยทั่วไปสมองก็ทำหน้าที่ได้ดีใช้ได้เพราะผ่านการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติมานาน แต่ก็ยังทำงานผิดพลาดได้เยอะเพราะมีข้อจำกัดอยู่มาก เด็กอนุบาลได้ทดลองเล่นกลน้ำไม่หกเพราะแรงดันอากาศสองแบบครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ คราวที่แล้วเรื่อง “แสง สีรุ้ง ปริซึม การสะท้อนภายใน ใยแก้วนำแสง ปรับปรุงปืนลม” ครับ)

สำหรับเด็กประถมต้นผมให้ดูคลิปนี้ครับ เป็นการบีบอัดเพชรด้วยแรงมากๆ

Continue reading สารพันมายาสำหรับประถม กลความดันอากาศสำหรับอนุบาล

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)