ทาโร่กรอบเพราะอะไร พิมพ์ด้วยสีลอยน้ำ ไฟฟ้ากระแส ลูกข่างไจโร

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วมีเด็กป.1 ถามผมว่าทำไมปลาเส้นทาโร่ใส่ไมโครเวฟถึงกรอบ แต่ของอืนๆใส่ไมโครเวฟแล้วนิ่ม ไม่กรอบ ผมเลยเอาปัญหานี้มาให้เด็กประถมคิด เด็กๆได้หัดเดา (ตั้งสมมุติฐาน) ว่าเป็นเพราะอะไรได้บ้าง แล้วให้ไปหาทางทดลองว่าสิ่งที่เดาน่าจะถูกหรือผิดครับ เป็นการบ้านเพื่อมาคุยกันอีกสามสัปดาห์ จากนั้นได้ดูคลิปการเคลือบสีผลิตภัณฑ์ต่างๆด้วยการพิมพ์ด้วยฟิล์มสีลอยน้ำ (Hydrographic Printing) โดยสืบเนี่องมาจากกิจกรรมที่เด็กๆได้หัดทำ Marbling Art ที่ใช่สีลอยน้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เริ่มสังเกตปรากฎการณ์กระแสไฟฟ้าทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก และสังเกตปืนแม่เหล็กครับ เด็กอนุบาลสามได้เล่นลูกข่างไจโรสโคปกันครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ คราวที่แล้วเรื่อง “ไฟฟ้าสถิต & น้ำในยานอวกาศ ฟ้าผ่าจิ๋ว Franklin Bells ไจโรสโคป” ครับ)

เมื่อสองสัปดาห์ก่อนน้องเอวาป.1 ถามผมว่าทำไมปลาเส้นทาโร่ใส่ไมโครเวฟถึงกรอบ แต่ของอย่างอื่นใส่ไปแล้วไม่กรอบ ผมจึงมาถามเด็กประถมว่าคิดว่าอย่างไร เด็กๆก็เสนอไอเดียต่างๆกันดังในรูปครับ:

สมมุติฐานของเด็กประถมต้น
สมมุติฐานของเด็กประถมต้น

สมมุติฐานของเด็กประถมปลาย
สมมุติฐานของเด็กประถมปลาย

เด็กๆควรจะหัดคิดหัดเดาคำตอบเรื่อยๆให้กล้าคิดกล้าเดาครับ จากนั้นผมถามให้เด็กช่วยกันคิดว่าเราจะตรวจสอบอย่างไรดีว่าที่เดาๆกันไปนั้นมันจริงหรือไม่จริง ในที่สุดเด็กๆก็คิดกันว่าน่าจะทำการทดลองกับสิ่งต่างๆโดยเปรียเทียบกับทาโร่ครับ ดังนั้นเราจึงมีการบ้านให้ไปทดลองแล้วมาดูผลกันในอีกสามสัปดาห์

เมื่อวันที่  30 มิถุนา เด็กได้เรียนรู้วิธีทำ Marbling Art จากคุณแอน คือการเอาสีไปลอยบนผิวของเหลว ทำสีให้เป็นลวดลายต่างๆ แล้วเอากระดาษไปดูดให้สีติดขึ้นมา เป็นวิธีทำงานศิลปะที่เก่าแก่และเก๋ไก๋มาก เด็กสนุกสนานกับศิลปะแบบนี้มากๆ

หยดสีบนผิวน้ำแล้วทำลวดลายครับ
หยดสีบนผิวน้ำแล้วทำลวดลายครับ
ภาพที่พิมพ์มาบนกระดาษ
ภาพที่พิมพ์มาบนกระดาษ
หยดสีบนผิวน้ำแล้วทำลวดลายครับ
หยดสีบนผิวน้ำแล้วทำลวดลายครับ
ภาพที่พิมพ์มาบนกระดาษ
ภาพที่พิมพ์มาบนกระดาษ

วันนี้ผมจึงให้ดูวิธีติดลวดลายด้วยหลักการคล้ายๆกันครับ เรียกว่า Hydrographic Printing หรือ Water Transfer Printing คือพิมพ์ลวดลายต่างๆบนฟิล์มบางๆที่ลอยน้ำ พ่นน้ำยาให้ด้านบนของฟิล์มเหนียว แล้วจุ่มวัตถุลงไป:

หลังจากให้ดูตัวอย่างการพิมพ์ด้านบนแล้ว ผมถามเด็กๆว่าใครคิดว่าจะปรับปรุงยังไงดีถ้าเราจะทำงานนี้เป็นอาชีพ มีเด็กบางคนบอกว่าเราจุ่มทีละหลายๆอันได้ไหม บางคนบอกว่าทำเครื่องจุ่มเลย ผมจึงให้ดูวิวัฒนาการต่อไปของเทคนิคนี้ครับ:

มีคนประดิษฐ์เครื่องลอยฟิล์มและจุ่มวัตถุเพื่องานจำนวนมากจริงๆด้วยครับ

ผมบอกเด็กๆว่าที่เราเห็นการพิมพ์ข้างต้น ลวดลายที่พิมพ์มันเป็นลวดลายซ้ำๆกัน ขยับเขยื้อนนิดๆหน่อยๆก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าจะพิมพ์หน้าตาตุ๊กตาให้ตรงเป๊ะๆ มีตาจมูกปากอยู่ที่ควรจะเป็นเป๊ะจะทำอย่างไรดี เด็กๆคิดไม่ออก ผมเลยให้ดูคลิปนี้ครับ:

นักวิจัยทำแบบจำลองว่าสีที่ลอยน้ำจะติดไปกับหน้าตุ๊กตาอย่างไร แล้วคิดกลับว่าถ้าจะให้พิมพ์ให้ถูกต้องตามตำแหน่งและสัดส่วน ลวดลายสีที่ลอยน้ำจะต้องมีลวดลายเบี้ยวๆอย่างไรครับ ผมบอกเด็กๆว่าคณิตศาสตร์เป็นส่ิงที่ทำให้เราประดิษฐ์ส่ิงต่างๆอย่างนี้ได้ครับ

เรามีเวลาเหลืออีกหน่อย เด็กๆจึงได้สังเกตว่ากระแสไฟฟ้าทำให้เกิดความเป็นแม่เหล็กหรือที่เราเรียกว่าสนามแม่เหล็กครับ ได้ดูขดลวดที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านดูดผลักกัน ดูดผลักกับแม่เหล็ก และเอาสามารถดีดแม่เหล็กเล็กๆให้กระเด็นออกไปได้ครับ

สังเกตไฟฟ้าไหลทำให้เกิดแม่เหล็กครับ
สังเกตไฟฟ้าไหลทำให้เกิดแม่เหล็กครับ
สังเกตไฟฟ้าไหลทำให้เกิดแม่เหล็กครับ
สังเกตไฟฟ้าไหลทำให้เกิดแม่เหล็กครับ

วิดีโอกิจกรรมครับ:

สำหรับเด็กๆอนุบาลสาม ผมให้เล่นลูกข่างไจโรครับ มันคือลูกข่างที่หมุนอยู่ในกรอบที่เราจับยกไปมาได้ครับ เด็กๆได้เห็นว่าเวลาลูกข่างหมุนมันจะทรงตัวได้ แต่เวลาไม่หมุนมันจะล้ม หลักการก็คือธรรมชาติที่ว่าสิ่งที่กำลังหมุนอยู่ มันจะหมุนเหมือนเดิมไปเรื่อยๆทั้งความเร็วในการหมุนและทิศทางของแกนหมุนครับ ถ้าจะเปลี่ยนการหมุน ก็ต้องมีแรงอะไรบางอย่างมาบิดมันให้เปลี่ยนแปลง เด็กๆได้เลี้ยงลูกข่างบนโต๊ะ ได้เอาลูกข่างหมุนๆใส่กล่องแล้วเห็นกล่องตั้งอยู่ได้ ได้เอาลูกข่างหมุนๆวางบนเส้นเชือก และเอาเส้นเชือกคล้องลูกข่างให้ลอยอยู๋ในอากาศครับ วิธีเล่นผมเคยอัดเป็นคลิปแบบนี้ไว้ครับ:

คลิปตัวอย่างการเล่นของเด็กๆครับ:

One thought on “ทาโร่กรอบเพราะอะไร พิมพ์ด้วยสีลอยน้ำ ไฟฟ้ากระแส ลูกข่างไจโร”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.