ทำยังไงให้เห็นอากาศ การเคลื่อนที่เป็นวงกลมต้องมีแรงสู่ศูนย์กลาง

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดเดาวิธีเล่นมายากล และได้ดูวิธีการมองภาพความหนาแน่นของอากาศที่เรียกว่า Schlieren Opticsเด็กอนุบาลสามได้เล่นเลี้ยงลูกแก้วให้วิ่งอยู่ตามขอบกาละมังโดยให้เห็นว่าถ้าไม่มีขอบกาละมังบังคับอยู่ ลูกแก้วจะวิ่งออกไปตรงๆ ไม่เลี้ยวครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ฝึกคิดแบบวิทย์ ทำกล้องจุลทรรศน์เลนส์เดี่ยว การเคลื่อนที่เป็นวงกลม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ก่อนครับ ดูเฉพาะส่วนแรกก่อน ยังไม่ดูเฉลย ให้ฝึกสังเกตและตั้งสมมุติฐานครับ:

การฝึกคิดอย่างนี้สำคัญครับ ฝึกให้คุ้นเคยกับสถานการณ์ใหม่ๆที่ยังไม่รู้จัก ให้รู้จักสังเกตรายละเอียดต่างๆ ฝึกตั้งสมมุติฐาน และดูว่าสมมุติฐานไหนขัดแย้งกับหลักฐาน อันไหนเข้ากับหลักฐาน ทำเรื่อยๆให้เป็นนิสัย จะได้คิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องปกติ

จากนั้นเด็กๆก็ได้สังเกตอากาศกันด้วยวิธี schlieren optics กันครับ 

 ปกติเราจะมองไม่เห็นอากาศแต่ถ้าเราจัดเรียงกระจกเว้า ไฟฉายจาก LED เล็กๆ และแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ให้เหมาะสม เราจะเห็นเงาบนฉากที่แสดงให้เห็นความหนาแน่นที่ต่างๆกันในอากาศได้
ด้วยวิธีง่ายๆติดตั้งไม่เกินห้านาที เราจะสามารถสังเกตอากาศร้อนจากการเผาไหม้ ก๊าซต่างชนิดที่พ่นในอากาศ อากาศเย็นรอบๆก้อนน้ำแข็ง ลมร้อนจากเครื่องเป่าผม ฯลฯ วิธีทำเป็นดังในคลิปครับ:

หลักการก็คือเราปล่อยแสงจาก LED  เล็กๆไปสะท้อนกับกระจกเว้า กระจกเว้าจะรวมโฟกัสแสงกลับมาเป็นจุดเล็กๆ ถ้าขยับจุดรวมแสงให้ถูกแผ่นฟอยล์อลูมิเนียมบังสักครึ่งหนึ่ง แสงที่ผ่านฟอยล์อลูมิเนียมก็จะวิ่งผ่านไปตกที่จอรับภาพให้เราสังเกต เมื่อบริเวณต่างๆในอากาศมีความหนาแน่นต่างๆกัน (เช่นเกิดจากความร้อน จากก๊าซต่างชนิด หรือความดันสูงๆ) แสงที่เดินทางผ่านบริเวณนั้นๆจะมีการหักเหเปลี่ยนทิศทาง ถ้าทิศทางเปลี่ยนพอจนไปชนแผ่นฟอยล์อลูมิเนียม เราก็จะสังเกตบริเวณนั้นว่ามืดลงไป  

ตัวอย่างเงาอากาศร้อนจากการจุดเทียนเป็นแบบนี้ครับ:

ถ้าต้องการภาพที่คุณภาพดีๆกว่านี้ (แต่ก็ทำยากขึ้นและแพงขึ้น) ลองดูคลิปนี้:

คลิปนี้มีถ่ายแบบ slo-motion สวยๆด้วยครับ:

ถ้าต้องการคำอธิบายหลักการแบบฟิสิกส์และภาพสวยมากๆไปดูที่เว็บของมหาวิทยาลัย Harvard นะครับ

สำหรับเด็กอนุบาล 3/1 ผมสอนให้เล่นของเล่นตระกูลเสือไต่ถังครับ เอาลูกแก้วกลมๆไปใส่ใว้ในกาละมังกลมๆ หรือในขวดกลมๆ แล้วเหวี่ยงๆให้ลูกแก้ววิ่งรอบๆภายในภาชนะ เมื่อหยุดแกว่ง ลูกแก้วก็ยังจะวิ่งไปรอบๆอีกสักพักหนึ่งครับ ถ้าเราหมุนเร็วเกินลูกแก้วจะกระเด็นออกจากกาละมังได้ ให้เด็กๆสังเกตว่าเมื่อลูกแก้วหลุดออกมา มันเคลื่อนที่อย่างไร (วิ่งเป็นเส้นตรงหรือวิ่งโค้งๆ? วิ่งไปทิศทางไหน?) เมื่อลูกแก้ววิ่งเร็วขึ้นมันขึ้นมาสูงกว่าหรือต่ำกว่า ให้เด็กๆสังเกตว่าถ้าไม่มีผนังกาละมังมาบังคับ ลูกแก้วจะวิ่งตรงๆไม่วิ่งโค้งๆครับ ผมเคยบันทึกวิธีเล่นไว้ในอดีตแล้วในคลิปนี้ครับ:

พอเด็กรู้วิธีเล่น ก็เล่นกันเองกับลูกแก้วใหญ่เล็กในกาละมังหรือชามแบบต่างๆครับ:

ถ้าเด็กโตกว่านี้เราจะอธิบายได้มากกว่านี้แบบที่ผมบันทึกไว้ที่ การเคลื่อนที่เป็นวงกลมสำหรับประถม สมดุลสำหรับอนุบาล ครับ

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 7 การหาอายุโลก, ใช้ Schlieren Optics ดูเงาความหนาแน่นอากาศ

วันนี้เด็กๆม.ต้นที่กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมได้ดูรายการ Cosmos: A Spacetime Odyssey ตอนที่ 7 กันครับ วันนี้เรื่องจะทราบอายุโลกได้อย่างไร พอดูเสร็จก็ทำการทดลอง schlieren optics  เพื่อ “มองเห็น” อากาศกันครับ

Clair Patterson เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ค้นพบอายุของโลกได้ถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริง เขาอาศัยหลักการที่ว่าสารกัมมันตภาพรังสีจะเปลี่ยนแปลงจากธาตุหนึ่งไปเป็นอีกธาตุหนึ่งด้วยอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบ “ครึ่งชีวิต” คงที่

ครึ่งชีวิต (หรือ half-life) คือเวลาที่สารกัมมันตภาพรังสีเปลี่ยนไปเป็นสารอื่นๆครึ่งหนึ่ง เช่นถ้าสาร A เปลี่ยนร่างกลายเป็นสาร B ที่อยู่คงตัวไม่เปลี่ยนแปลงด้วยครึ่งชีวิตเท่ากับ 1 วัน และเราเริ่มต้นด้วยสาร A 1,000 กรัม และสาร B 0 กรัม เมื่อผ่านไปหนึ่งวัน สาร A จะลดไปครึ่งหนึ่งเหลือ 500 กรัม และกลายเป็นสาร B ไปประมาณ 500 กรัม เมื่อผ่านไปสองวันสาร A ก็จะลดลงไปอีกครึ่งจากที่เหลือ กลายเป็น 250 กรัม และสาร B กลายเป็นประมาณ 750 กรัม เมื่อผ่านไป 3 วัน สาร A ก็จะลดลงอีกครึ่งหนึ่งของที่เหลือ กลายเป็น 125 กรัม ผ่านไปสี่วันเหลือ 62.5  กรัม ผ่านไปห้าวันเหลือ 31.25  กรัม  ดังนี้ไปเรื่อยๆ

ในกรณีสาร A และ B ข้างต้น ถ้าเรารู้สัดส่วนระหว่าง A และ B และรู้ค่าครึ่งชีวิต เราก็สามารถคำนวณได้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไรจึงจะเห็นอัตราส่วนที่เราพบ เช่นถ้าเราพบว่าในตัวอย่างเรามีสาร B ประมาณ 750 กรัมและสาร A ประมาณ 250 กรัม เราก็คำนวณได้ว่าเวลาต้องผ่านไป 2 วันจากตอนเริ่มต้นที่ตอนแรกมีแต่สาร A อย่างเดียว

Clair Patterson ดูกรณีสาร A คือยูเรเนียม-238/ยูเรเนียม-235 และสาร B คือตะกั่ว-206/ตะกั่ว-207 ที่มีครี่งชีวิตเท่ากับ 4.47 พันล้านปี/710 ล้านปี โดยตรวจหาสาร A และ B ในอุกกาบาตที่เป็นซากเหลืออยู่ในระบบสุริยะ ไม่ได้รวมตัวเป็นดาวเคราะห์  พบว่าอายุโลกเท่ากับประมาณ 4.5 พันล้านปีครับ

ถ้าสนใจลองดูประวัติเบื้องต้นของอายุโลกได้ที่นี่ครับ

งานของ Patterson ทำให้เขาพบด้วยว่ามีตะกั่วปนเปื้อนมากมายแถวๆผิวโลก พบว่าตะกั่วเหล่านี้มาจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติม Tetraethyllead เพื่อเพิมสมรรถนะเครื่องยนต์ ในที่สุดตอนนี้น้ำมันรถก็ไม่ใส่สารเคมีที่มีตะกั่วเป็นส่วนประกอบแล้วหลังจากใช้มาหลายสิบปี

หลังจากดู Cosmos จบ เราก็ดูเงาความหนาแน่นของอากาศกันด้วยเทคนิค schlieren optics ครับ ปกติเราจะมองไม่เห็นอากาศแต่ถ้าเราจัดเรียงกระจกเว้า ไฟฉายจาก LED เล็กๆ และแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ให้เหมาะสม เราจะเห็นเงาบนฉากที่แสดงให้เห็นความหนาแน่นที่ต่างๆกันในอากาศได้
ด้วยวิธีง่ายๆติดตั้งไม่เกินห้านาที เราจะสามารถสังเกตอากาศร้อนจากการเผาไหม้ ก๊าซต่างชนิดที่พ่นในอากาศ อากาศเย็นรอบๆก้อนน้ำแข็ง ลมร้อนจากเครื่องเป่าผม ฯลฯ วิธีทำเป็นดังในคลิปครับ:

หลักการก็คือเราปล่อยแสงจาก LED  เล็กๆไปสะท้อนกับกระจกเว้า กระจกเว้าจะรวมโฟกัสแสงกลับมาเป็นจุดเล็กๆ ถ้าขยับจุดรวมแสงให้ถูกแผ่นฟอยล์อลูมิเนียมบังสักครึ่งหนึ่ง แสงที่ผ่านฟอยล์อลูมิเนียมก็จะวิ่งผ่านไปตกที่จอรับภาพให้เราสังเกต เมื่อบริเวณต่างๆในอากาศมีความหนาแน่นต่างๆกัน (เช่นเกิดจากความร้อน จากก๊าซต่างชนิด หรือความดันสูงๆ) แสงที่เดินทางผ่านบริเวณนั้นๆจะมีการหักเหเปลี่ยนทิศทาง ถ้าทิศทางเปลี่ยนพอจนไปชนแผ่นฟอยล์อลูมิเนียม เราก็จะสังเกตบริเวณนั้นว่ามืดลงไป  

ตัวอย่างเงาอากาศร้อนจากการจุดเทียนเป็นแบบนี้ครับ:

ถ้าต้องการภาพที่คุณภาพดีๆกว่านี้ (แต่ก็ทำยากขึ้นและแพงขึ้น) ลองดูคลิปนี้:

คลิปนี้มีถ่ายแบบ slo-motion สวยๆด้วยครับ:

ถ้าต้องการคำอธิบายหลักการแบบฟิสิกส์และภาพสวยมากๆไปดูที่เว็บของมหาวิทยาลัย Harvard นะครับ

 

วิทย์ม.ต้น: รู้จักกับวิธีเรียงลำดับข้อมูล (Sorting) นั่งปรับปรุงและ debug โปรแกรม Scratch กันต่อ

วันนี้เด็กม.3 ได้รู้จักวิธีเรียงลำดับข้อมูลกันครับ  วิธีมีหลากหลาย แต่ละวิธีก็ใช้เวลาต่างๆกันเมื่อเรียงลำดับข้อมูลแบบต่างๆ ตอนแรกผมถามเด็กว่าถ้ามีหนังสือเยอะๆแล้วจะเรียงตามลำดับชื่อหนังสือจะทำอย่างไร ปรากฎว่าเด็กๆคิดสักพักแล้วก็บอกวิธีอยู่ในตระกูล Radix Sort คือกรุ๊ปตามตัวอักษรตัวแรกว่าอยู่ในกลุ่ม ก-ฮ, A-Z ซะเลย แล้วทำอย่างเดิมในแต่ละกรุ๊ปตัวอักษรแต่ใช้ตัวอักษรตัวถัดๆมาในชื่อ (เหมือน Recursive Radix Sort)

ต่อมาเด็กๆได้ดูคลิปอธิบาย Bubble Sort, Insertion Sort, และ Quick Sort ใน TED-ED ได้รู้จักวิธีแบ่งปัญหาให้เล็กลงแล้วแก้ด้ววิธีเดิม (Divide and Conquer + Recursion) จาก Quick Sort:

เด็กๆได้ดูภาพเคลื่อนไหวเปรียบเทียบวิธีเรียงลำดับแบบต่างๆที่เพจ Sorting Algorithms Animations ครับ เข้าไปกดดูกันนะครับ หน้าตาจะเป็นประมาณนี้ครับ:

จากเว็บ Sorting Algorithms Animations https://www.toptal.com/developers/sorting-algorithms
จากเว็บ Sorting Algorithms Animations https://www.toptal.com/developers/sorting-algorithms

มีคนทำเรื่อง Sorting ไว้ด้วยภาษา Scratch เยอะเหมือนกันครับ กดเข้าไปดูได้ที่ Sorting Algorithms ครับ

จากนั้นเด็กๆทั้งม.1, 2, 3 ก็นั่งเขียนโปรแกรม Scratch กันต่อครับ พยายามทำให้เกมต่างๆสนุกขึ้น และมีบั๊กน้อยลง พยายามจัดการโปรแกรมว่าไม่ควรเขียนอะไรซ้ำกัน ถ้าจะทำอะไรควรทำจากที่เดียว จะได้รู้แน่นอนว่าเกิดอะไรขึ้นในโปรแกรมครับ

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)