วันนี้สำหรับมัธยมต้นพวกเราคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ คราวนี้เรื่อง Contrast Effect, Availability Bias, The It’ll-Get-Worse-Before-It-Gets-Better Fallacy
Contrast effect คือเราจะเปรียบเทียบสิ่งของต่างๆเทียบกับอย่างอื่นทำให้บางทีตัดสินใจผิด เช่นอาจไม่สนใจซื้อของราคา 100 บาท แต่ถ้ามีป้ายลดว่าราคาเดิม 150 บาท ลดราคาเหลือ 100 เราก็อาจสนใจขึ้น หรือถ้าเราไปเที่ยวกับเพื่อนหน้าตาดีกว่า คนรอบๆอาจจะเห็นเพื่อนของเราหน้าตาดีขึ้นไปอีก (เพราะเทียบกับหน้าตาเรา) หรือเราซื้อของราคาสูงแล้วคนขายเสนอขายของพ่วงที่ราคาต่ำกว่ามาด้วยทำให้เราตัดสินใจซื้อพ่วงไปด้วยทั้งๆที่เราอาจไม่อยากได้ของพ่วงสักเท่าไร
Availability bias คือเรามักจะคิดว่าสิ่งที่เราคิดถึงได้ง่าย จำได้ง่าย เป็นสิ่งที่มีเยอะ (ไปมากกว่าความเป็นจริง) หรือเราจะพิจารณาทางเลือกที่เราเห็นเท่านั้นไม่ค่อยคิดถึงทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ เช่นเราได้ยินข่าวเครื่องบินตกทำให้เราคิดว่าการเดินทางโดยสารการบินไม่ปลอดภัย (ทั้งๆที่ปลอดภัยมาก) หรือเราอ่านข่าวคนถูกรางวัลที่ 1 บ่อยๆ ทำให้เราคิดว่าเราก็น่าจะถูกรางวัลที่ 1 ได้บ้างเหมือนกัน หรือมีคนเสนอข้อเสนอสองสามอย่างมาให้เราตัดสินใจ ทำให้เราเลือกหนึ่งในข้อเสนอนั้นๆทั้งๆที่จริงๆเราอยากได้อย่างอื่นที่ไม่ได้ถูกเสนอมาด้วย
The It’ll-Get-Worse-Before-It-Gets-Better Fallacy คือให้เราระวังคำแนะนำหรือคำทำนายที่คลุมเครือ ตรวจสอบได้ยากว่าถูกต้องหรือผิดพลาด ทำให้เราต้องเสียเวลารอคอยไปเรื่อยๆครับ
ตอนเราคุยกันเรื่อง availability bias ผมเขียนโปรแกรม Python เป็นตัวอย่างให้เด็กๆดูว่าเราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่ามีแบบไหนมากกว่าระหว่างคำภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร e หรือคำที่ตัวอักษรตัวที่สามคืออักษร e โดยอ่านรายการคำศัพท์ภาษาอังกฤษแล้วนับแสดงผลให้ดูครับ หน้าตาประมาณนี้ สามารถดูตัวเต็มได้ที่ http://nbviewer.jupyter.org/urls/witpoko.com/wp-content/uploads/2018/11/count-words.ipynb หรือโหลดไปเปิดเองที่ https://witpoko.com/wp-content/uploads/2018/11/count-words.ipynb นะครับ:
เด็กๆได้ดูคลิปข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์เรื่องยาน Insight ไปลงดาวอังคารด้วยครับ ผมบอกเด็กๆว่าโหราศาสตร์กับดาราศาสตร์เริ่มจากคนสังเกตจุดดาวในท้องฟ้าหลายพันปีก่อน แต่โหราศาสตร์ไม่พัฒนาเพราะว่าเมื่อทำนายผิดพลาดไม่ได้ค้นหาสาเหตุว่าผิดพลาดอย่างไรและไอเดียหลักตรงกับกฏเกณฑ์ธรรมชาติหรือไม่ มัวแต่แก้ตัวมั่วๆไป เวลาผ่านไป 5,000 ปีก็ยังทำนายอะไรจริงจังไม่ได้ ดาราศาสตร์กลับกันคือมีการตรวจสอบคำทำนายและไอเดียกับธรรมชาติเสมอ ไอเดียไหนผิดก็ทิ้งไป อันไหนถูกก็พัฒนาต่อ ตอนนี้สามารถคำนวณตำแหน่งดาวอังคารและปล่อยจรวดไปจอดได้แล้ว รวมถึงวัดคลื่นโน้มถ่วงจากหลุมดำชนกันได้แล้ว:
เวลาเหลือเราเลยเล่นปล่อยลูกบอลกระดาษขนาดต่างๆกันให้ตกผ่านอากาศลงสู่พื้นครับ ลองดูวิดีโอนะครับ: