วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 3 กฏเกณฑ์ธรรมชาติ

วันนี้เราคุยกันถึงคลิปวิดีโอ Cosmos Ep. 3: When Knowledge Conquered Fear ที่เด็กๆไปดูกันที่บ้านในสัปดาห์ที่แล้ว เกี่ยวกับการเริ่มค้นพบกฏเกณฑ์ธรรมชาติต่างๆโดยเฉพาะการค้นพบของนิวตันเรื่องกฎการเคลื่อนที่และแรงโน้มถ่วงครับ 

ยุคก่อนนิวตัน มนุษยชาติยังไม่มีวิทยาศาสตร์แบบแม่นยำครับ ความรู้ต่างๆยังเป็นสิ่งที่สังเกตว่าเป็นจริงแต่ไม่รู้สาเหตุว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อนิวตันตีพิมพ์หนังสือ Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica เมื่อปี 1687 มนุษยชาติก็พัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง เราเริ่มเข้าใจการทำงานของธรรมชาติได้ลึกซึ้งขึ้น สามารถคำนวณเรื่องแรงและการเคลื่อนที่ต่างๆรวมไปถึงการโคจรของดวงดาวด้วยครับ ความรู้ของมนุษยชาติเริ่มเข้าสู่ยุคที่สามารถทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างไร อย่างถูกต้อง และมีรายละเอียดครับ

กฎการเคลื่อนที่ของนิวตันมีหน้าตาประมาณนี้ครับ:

1. สิ่งของต่างๆจะอยู่เฉยๆ หรือเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆเป็นเป็นเส้นตรงด้วยความเร็วเท่าเดิมถ้าไม่มีอะไรไปทำอะไรมัน

2. ปริมาณการเคลื่อนที่ (เรียกว่าโมเมนตัม = ผลคูณของมวลกับความเร็ว) จะเปลี่ยนได้ก็เมื่อมี “แรง” มาทำให้มันเปลี่ยน อัตราการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมต่อเวลาคือแรง

3. เมื่อวัตถุ A ไปออกแรงกับอีกวัตถุ B วัตถุ B ก็จะออกแรงกับวัตถุ A ด้วย ด้วยแรงขนาดเท่ากันแต่มีทิศทางตรงกันข้าม

นอกจากนี้นิวตันยังค้นพบด้วยว่าแรงโน้มถ่วงระหว่างวัตถุสองชิ้นที่มีมวล M และ m และอยู่ห่างกัน r จะมีขนาดแปรผันกับ M m / r2  ครับ โดยที่ทิศทางแรงจะอยู่ในแนวที่เชื่อมมวลทั้งสอง

จากหลักการเหล่านี้เราสามารถคำนวณว่าวัตถุที่มีมวล m จะเคลื่อนที่อย่างไรโดยการดูว่ามีแรงอะไรกระทำกับวัตถุบ้าง (= F) แล้วเราก็คำนวณความเร่ง (=a คืออัตราความเปลี่ยนแปลงของความเร็ว = F/m) แล้วเราก็คำนวณว่าความเร็ว v เปลี่ยนไปอย่างไรในเวลาสั้นๆ dt (คือ v กลายเป็น v + a dt เมื่อเวลาเปลี่ยนไป dt) แล้วเราก็คำนวณตำแหน่ง x จากความเร็ว (x กลายเป็น x + v dt) แล้วก็วนกลับไปคำนวณแรงใหม่เป็นรอบการคำนวณต่อไปเรื่อยๆ วิธีอย่างนี้ใช้เทคนิค Calculus ที่นิวตันตีพิมพ์ในหนังสือข้างบน หรือให้คอมพิวเตอร์คอยคำนวณให้เราก็ได้ครับ

ถ้ารู้จักเขียนโปรแกรมด้วย Scratch เชิญเข้าไปดูตัวอย่างการคำนวณดูวงโคจรของดาวสองดวงจากกฎการเคลื่อนที่และแรงโน้มถ่วงที่ค้นพบโดยนิวตันครับ ตัวอย่างอยู่ที่ https://scratch.mit.edu/projects/225919898/ โดยทุกคนสามารถกด See Inside แล้วเข้าไปปรับมวล ตำแหน่ง และความเร็วของดาวทั้งสองเพื่อดูวงโคจรได้

ตัวอย่างที่ดาวอันหนึ่งมีมวลเป็น 1,000 เท่าของอีกดาว และผลของความเร็วต้นต่างๆกันว่าทำให้วงโคจรหน้าตาเป็นอย่างไรครับ กดดูให้ภาพเต็มจอนะครับ:

ตัวอย่างดาวสองดวงมวลใกล้ๆกันครับ กดดูให้ภาพเต็มจอนะครับ:

ตัวอย่างการทำ Gravity Assist หรือ Gravity Slingshot เพิ่มความเร็วให้ดาวหรือยานอวกาศครับ กดดูให้ภาพเต็มจอนะครับ:

ลิงก์แนะนำเผื่อสนใจเพิ่มเติมครับ อันนี้คือสารคดีเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าร่วมสมัยนิวตัน:

เรื่องราวเกี่ยวกับ Robert Hooke ที่ทำอะไรมากมาย (เช่นค้นพบเซลล์, เรื่องความยืดหยุ่น-สปริง ฯลฯ) แต่ดันไม่ถูกกับนิวตัน ไม่มีภาพเหลือว่าเขาหน้าตาอย่างไร:

ประวัติทฤษฎีเซลล์:

Edmond Halley และแผนที่แม่เหล็กโลก: Geomagnetism and Edmond Halley (1656-1742)

จำลองการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ รวมถึงการปล่อยยานต่างๆไปดาวอังคาร: The Solar System

ดูว่าแรงดึงดูดระหว่างมวลมีขนาดเท่าไร: Gravity Force

วงโคจรดาวรอบๆกัน (เชิญทดลองเปลี่ยนมวลดวงอาทิตย์ระหว่างทางดู): Gravity and Orbits

เรื่องราวของ Kepler:

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep. 2 ชีวิตและการวิวัฒนาการ

วันนี้เราคุยกันถึงคลิปวิดีโอ Cosmos Ep. 2: Some of the Things that Molecules Do ที่เด็กๆไปดูกันที่บ้านในสัปดาห์ที่แล้วครับ

คลิปกล่าวถึงขบวนการวิวัฒนาการ (evolution) การคัดเลือกพันธุ์โดยมนุษย์ (artificial selection/selective breeding) และการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติ (natural selection) โดยยกตัวอย่างการสร้างสุนัขพันธุ์ต่างๆจากหมาป่าโดยการคัดเลือกพันธุ์โดยมนุษย์ และการเกิดหมีขาวจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

การวิวัฒนาการและการคัดเลือกโดยธรรมชาติทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตแบบต่างๆนับพันล้านแบบบนโลกเราในเวลาประมาณ 4,000 ล้านปีที่ผ่านมา (แต่ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไปแล้วครับ เหลือสัก 1 ใน 1,000 แบบ รวมถึงพวกเราเป็นหนึ่งในพวกที่ยังเหลืออยู่)

ส่วนหนี่งของรายการที่แสดง 4 billion years in 40 seconds คือสเก็ตช์ว่าหน้าตาบรรพบุรุษเราตั้งแต่ 4 พันล้านปีเปลี่ยนไปอย่างไรจนกลายมาเป็นเผ่าพันธุ์เรา:

ขบวนการวิวัฒนาการจะเกิดได้ด้วยสี่ข้อนี้ครับ:

  1.  ลูกๆคล้ายๆพ่อแม่ (คือมีการสืบทอดพันธุกรรม)
  2.  ลูกๆไม่เหมือนกันหมดทุกตัว (คือมีความหลากหลายทางพันธุกรรม)
  3.  โอกาสรอดชีวิตและแพร่พันธุ์ของลูกแต่ละตัวไม่เท่ากัน ลูกที่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็จะเป็นพ่อแม่ในรุ่นต่อไป (คือมีการคัดเลือกพันธุ์)
  4.  วนข้อ 1-3 หลายๆรอบ เป็นร้อยเป็นพัน…เป็นล้านรอบ

อนึ่ง คำว่า พ่อ แม่ ลูก ด้านบน อาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เราคุ้นเคยก็ได้ครับ จริงๆอะไรที่สามารถจำลองตัวเองแบบมีความหลากหลายได้ก็ใช้ขบวนการวิวัฒนาการได้ เช่นไวรัส, โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไวรัส, หรือไอเดียต่างๆในหัวคน ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการเข้าใจธรรมชาติด้วยขบวนการวิทยาศาสตร์ก็เพราะไอเดียทางวิทยาศาสตร์มีการวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์: ไอเดียไหนถูกต้องใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆได้ก็จะอยู่รอดและแตกลูกหลาน(ถูกพัฒนาเพิ่มเติม)ต่อไป ไอเดียไหนอธิบายไม่ได้ก็จะตายไป การวิวัฒนาการของไอเดียสืบมาทำให้ความเข้าใจของเราใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป

สำหรับเด็กๆที่ต้องการทบทวน แนะนำให้เด็กๆเข้าไปดูส่วนที่ผมเคยเขียนเรื่องวิวัฒนาการที่นี่ที่นี่, และที่นี่ครับ

เราคุยกันว่าการวิวัฒนาการทำให้เกิดไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆด้วยครับ กดเข้าไปดูสายพันธุ์และไทม์ไลน์ได้ที่ https://nextstrain.org/ncov/global

ภาพสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
จาก https://nextstrain.org/ncov/global เข้าไปกดดูข้อมูล interactive ที่นั่นได้

สายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
จาก https://nextstrain.org/ncov/global เข้าไปกดดูข้อมูล interactive ที่นั่นได้

แนะนำวิดีโอว่าสุนัขคือหมาป่าที่มีสารพันธุกรรมกลายพันธุ์เหมือนเป็นอาการ Williams Syndrome ในมนุษย์ครับ:

เด็กๆสนใจการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้งในอดีต แนะนำให้ดูที่ What are mass extinctions, and what causes them? มีไฟล์ infographic ให้ดูที่ https://www.nationalgeographic.org/media/mass-extinctions/ ครับ:

เด็กๆสนใจเรื่องการคัดเลือกพันธุ์พืชอาหาร แนะนำให้กดดูที่ 10 Foods That Have Been Genetically Modified Beyond Recognition, From Corgis to Corn: A Brief Look at the Long History of GMO Technology, Artificial Selection in Plants and Animals blog post, และ What’s so “natural” about “natural crop breeding”?

เด็กๆสนใจหมีน้ำหรือ Tardigrades แนะนำให้ดูคลิปและอ่านเรื่องยิงหมีน้ำเพื่อดูว่ามันแพร่ไปดาวอื่นๆโดยกระเด็นไปในอวกาศได้หรือไม่ครับ:

สุดท้ายผมแนะนำให้เด็กๆรู้จักเกมวิวัฒนาการที่เราออกแบบสัตว์ดิจิตอลที่ประกอบด้วยกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ สัตว์พวกนี้มีระบบประสาทควบคุมจังหวะการทำงานของกล้ามเนื้อทำให้มีความสามารถเคลื่อนที่ต่างๆกัน ใช้ขบวนการวิวัฒนาการคัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ดีกว่าตัวอื่น เข้าไปเล่นเกมและดาวน์โหลดได้ที่ https://keiwan.itch.io/evolution ครับ:

วิทย์ม.ต้น: Cosmos Ep.1 ที่อยู่ของเราในจักรวาล

วันนี้เราคุยกันผ่าน Google Meet หลังจากเด็กๆได้ไปดูสารคดี Cosmos ตอนที่ 1 ที่บ้านระหว่างสัปดาห์ที่แล้ว (ตอน Standing Up in The Milky Way)

หลักการสำคัญทางวิทยาศาสตร์คือ “Test ideas by experiment and observation, build on those ideas that pass the test, reject the ones that fail, follow the evidence wherever it leads and question everything.” หรือ “ทดสอบแนวคิดโดยการทดลองและการสังเกต ต่อยอดแนวคิดที่ผ่านการทดสอบแล้ว ปฏิเสธแนวคิดที่ล้มเหลว ติดตามข้อพิสูจน์ไม่ว่ามันจะนำไปที่ไหนก็ตาม และตั้งคำถามทุกอย่าง (อย่าเชื่อง่าย)” หลักการนี้ทำให้เราเข้าใจความจริงว่าธรรมชาติทำงานอย่างไรได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เราอยู่บนโลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์เล็กๆที่อยู่ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์หนึ่งในดาวนับแสนล้านดวงในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก ทางช้างเผือกเป็นหนึ่งในนับแสนล้านกาแล็กซี่ที่อยู่ในจักรวาลที่เราสังเกตเห็น

รู้จักการวัดระยะทางเป็นปีแสง ซึ่งเท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในสุญญากาศเป็นเวลาหนึ่งปี เท่ากับประมาณ 10 ล้านล้านกิโลเมตร (แสงเดินทางได้ประมาณ 3 แสนกิโลเมตรในหนึ่งวินาที และเป็นความเร็วสูงสุดของการเคลื่อนที่เท่าที่เรารู้ในจักรวาลเรา)

อายุจักรวาลประมาณ 13,800 ล้านปี และเราพยายามเข้าใจเวลายาวๆโดยบีบให้เวลาทั้ง 13,800 ล้านปีมาอยู่ในปฏิทินปีเดียว โดยให้วันที่ 1 มกราคือจุดเริ่มต้นของจักรวาลของเรา และเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคือปัจจุบัน วิธีนี้เรียกว่า Cosmic Calendar ด้วยวิธีนี้ 1 วันในปฏิทินเท่ากับประมาณ 40 ล้าน ปี 1 เดือนในปฏิทินเท่ากับประมาณพันล้านปี ด้วยอัตราส่วนในปฏิทินมนุษย์พึ่งเริ่มเขียนหนังสือสิบกว่าวินาทีก่อนเที่ยงคืนครับ (ลองกดเข้าไปดูเหตุการณ์สำคัญต่างๆว่าอยู่ในปฏิทินวันไหนนะครับ เข้าไปที่เว็บเต็มของเขาเพื่อดูรายละเอียดได้ด้วยครับ)

ลิงก์แนะนำ ฝึกภาษา สะสมความรู้รอบตัว เกี่ยวกับ episode นี้:

1. Cosmic Calendar: http://www.cosmiccalendar.net กดดูรายละเอียดประวัติจักรวาลเรา

2. Light seconds, light years, light centuries: How to measure extreme distances:

3. Distances: Crash Course Astronomy #25:

4. ภาพ Hubble Deep Fields ภาพถ่ายกาแล็กซีนับพันที่อยู่ในพื้นที่บังได้ด้วยเม็ดข้าวสารที่ปลายนิ้ว: https://hubblesite.org/contents/articles/hubble-deep-fields

5. How we know the Universe is ancient:

6. Professor Dave Explains astronomy playlist สำหรับค่อยๆดูสะสมไปเรื่อยๆ: https://www.youtube.com/watch?v=i8U9ZjRXClI&list=PLybg94GvOJ9E9BcCODbTNw2xU4b1cWSi6

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)