สอนเด็กป.1+2+3 เรื่องหูและเสียง

(จดบันทึกไว้เผื่อพ่อแม่ท่านอื่นไปใช้ประโยชน์ได้ครับ)
 
วันนี้เป็นวันอังคารซึ่งเป็นวันที่ผมไปสอน/ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆที่โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิดู วันนี้ได้สอนแต่ชั้นประถม (กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม ซึ่งรวมเด็กป.1-3 ไว้ด้วยกัน) เนื่องจากเวลาของชั้นอนุบาล 2 และ 3 ยังไม่ลงตัว
 
วันนี้ไปเรียนกันที่ห้องประชุมชั้นสาม เพราะต้องการใช้โปรเจ็คเตอร์ฉายวิดีโอคลิปแสดงการทำงานของหู ภาพการอัดคลื่นเสียง และภาพอื่นๆ

Continue reading สอนเด็กป.1+2+3 เรื่องหูและเสียง

ความน่าจะเป็นในงานวัด

บ้านผมอยู่ใกล้วัดถึงสามวัดด้วยกัน และตอนนี้ก็มีงานวัดอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง

เมื่อวันจันทร์อาทิตย์ภรรยาและลูกๆผมไปเที่ยวงานวัดตอนเย็น ไปพบการปาลูกดอกชิงรางวัลเข้า ด้วยความเข้าใจผิดๆว่าผมปาลูกดอกเก่งมาก (คงเพราะผมปาลูกบอลโฟมเล่นกับลูกๆบ่อยๆ) เลยมาบอกว่าผมควรจะไปล่าตุ๊กตาให้ลูกๆสักวันใดวันหนึ่ง
 
วันนี้มีโอกาสก็เลยยกโขยงกันไปตอนประมาณหนึ่งทุ่ม เราตรงไปยังซุ้มปาลูกดอกทันที ปรากฎว่ามีสามราคา คือ 20 บาท (ปา 7 ลูกต้องโดนทั้ง 7 ลูก) 80 บาท (ปา 2 ลูกต้องโดนทั้ง 2 ลูก) และ 100 บาท (ปาครั้งเดียวให้โดน) ผมเลยเริ่มเล่นแบบ 20 บาททันทีเพราะเสียดายเงิน และเผื่อจะได้ฝึกหัดด้วย แถมถ้าโชคดีอาจฟลุ้คได้ตุ๊กตาเลย
 

 
ผมเล่นไปสามครั้งแล้ว ปาได้ 4/7 5/7 5/7 ไม่มีทีท่าว่าจะได้ตุ๊กตาสักตัว (ต้องการสามตัวให้ลูกสามคน) ผมเลยหยุดคิดว่าเล่นไปเรื่อยอย่างนี้คงจะหมดตัวแน่ อีกอย่างมีความจริงทางคณิตศาสตร์ว่าในเกมที่เราเสียเปรียบ เล่นยิ่งมากครั้งโอกาสฟลุ้คที่จะชนะจะยิ่งน้อย ก็เลยคิดเลขในใจว่าจะเอาไงดีหว่า
 
คิดในใจว่าถ้าผมขว้างได้ 5/7 โอกาสโดนลูกโป่งแต่ละครั้งก็ประมาณ 70% ถ้าขว้างให้โดนสองที โอกาสก็จะเป็น 70% x 70% ซึ่งเท่ากับประมาณ 50% ถ้าจะขว้างให้โดนสี่ทีโอกาสก็กลายเป็น 50% x 50% = 25% ถ้าจะขว้างให้โดนหกทีก็มีโอกาส 25% x 50% = 12.5% ดังนั้นถ้าต้องโดนหมดเจ็ดดอก โอกาสก็เป็นประมาณ 12.5% x 70% = 9% หรือประมาณ 1 ใน 11
 
นั่นหมายความว่า ผมคงต้องเล่นโดยเฉลี่ย 11 ครั้งถึงจะชนะได้ 1 ครั้ง ทำให้ต้นทุนตุ๊กตาต่อหนึ่งตัว = 11 x 20 บาท = 220 บาท
 
ถ้าผมเลือกเล่นแบบเสี่ยงไปเลยแบบปาครั้งเดียว โอกาสที่ผมจะปาโดนก็จะประมาณ 5/7 แสดงว่าผมคงต้องเล่นโดยเฉลี่ย 7/5 = 1.4 ครั้งต่อตุ๊กตาหนึ่งตัว ทำให้ต้นทุนเป็น 1.4 x 100 บาท = 140 บาทต่อหนึ่งตัว
 
ถ้าผมเลือกเล่นแบบเสี่ยงปาสองครั้ง โอกาสที่จะปาโดนสองครั้งจะประมาณ 70% x 70% = 50% ทำให้ผมต้องเล่นโดยเฉลี่ย 1/50% = 2 ครั้งต่อตุ๊กตาหนึ่งตัว ทำให้ต้นทุนเท่ากับ 2 x 80 บาท = 160 บาทต่อหนึ่งตัว
 
แสดงว่าฝีมือปาแบบไม่ค่อยได้เรื่องแบบผมควรจะเลือกปาแบบเสี่ยงทีเดียวไปเลย เพราะต้นทุนโดยเฉลี่ยจะถูกที่สุด
 
น้องที่เฝ้าซุ้มมองผมทำปากมุบๆมิบๆคิดเลขอย่างสงสัย (อาจจะคิดว่าผมบ้าไปแล้ว หรือพยายามใช้คาถาอาคม) พอผมบอกว่าจะเล่นแบบปาทีเดียวร้อยบาทเลยดีไหมเนี่ย น้องก็ชวนให้เล่น บอกว่าถ้าปาพลาดจะให้ปาอีกครั้ง ผมได้ยินก็ลิงโลด แต่ต้องเก็บอาการไว้ แล้วก็บอกว่าโอเคโอเค เล่นแบบนั้นก็ได้
 
พอตกลงจ่ายเงินก็เรียกลูกๆและภรรยามาดู เพื่อเพิ่มความกดดัน และเผื่อปาถูก ผมจะได้เป็นฮีโร่ของลูกๆ หันมายิ้มให้กล้องชูนิ้วโป้งหนึ่งครั้งแล้วหันไปปาเลย
 
โดนเต็มๆสิครับ น้องที่เฝ้าซุ้มไม่ยิ้มเลย ผมเลยรู้สึกว่าไปเบียดเบียนเขา แต่ก็ให้ลูกไปเลือกตุ๊กตามาหนึ่งตัว
 
คิดว่าได้ตัวหนึ่งให้ลูกๆไปแบ่งกันเล่นก็พอแล้ว แต่น้องที่ซุ้มมาชักจูงให้ปาต่อ ผมก็บอกว่าอย่าเลย เดี๋ยวโดนอีกคุณจะขาดทุน (แต่ต้นทุนตุ๊กตาสำหรับซุ้มน่าจะไม่กี่สิบบาทนั่นแหละ) น้องก็บอกว่าไม่เป็นไร ปาอีกเถอะ ผมก็เลยไม่ขัดจ่ายอีก 100 แล้วซัดเลย
 
ได้มาอีกตัว คราวนี้ธีธัชกับธัชธีญาได้คนละตัวแล้ว ธัญญาเริ่มมองเลิ่กลั่กว่าจะได้ตุ๊กตากับเขาไหม
 
แม่อ้อเกิดอาการใจฮึกเหิม เห็นผมขว้างได้ ธีธัชก็น่าจะขว้างได้ เพราะเด็กและผู้หญิงได้ร่นระยะเข้าไปอีก บอกว่าแม่จะลงทุน 100 บาทให้ธีธัชขว้างเอง ธีธัชก็เข้าไปเล็งๆทั้งมือซ้ายและมือขวา (ธีธัชถนัดซ้าย) แล้วก็ขว้างไปด้วยมือซ้าย โดนไปได้อีกตัว ทำให้เด็กๆทุกคนมีตุ๊กตากลับบ้านกันคนละตัวตามจุดมุ่งหมายแต่ต้น
 

 
อนึ่งการเที่ยวงานวัดทุกครั้ง แม่อ้อจะให้งบประมาณเด็กให้ใช้ได้คนละ 60 บาท เพื่อเด็กๆจะได้เลือกเล่นเกมหรือซื้อของ และถ้ามีเงินเหลือเด็กๆก็เอาไปหยอกกระปุกของตนได้ คราวนี้ธีธัชเหลือ 30 บาท ธัชธีญาเหลือ 10 บาท และธัญญาเหลือ 20 บาท
 

นักวิทยาศาสตร์จิ๋ว

วันนี้เป็นวันอังคารซึ่งเป็นวันที่ผมไปทำการทดลองวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ วันนี้ทำมอเตอร์ด้วยอุปกรณ์ที่หาง่ายๆ อันประกอบไปด้วยตะปูเกลียว แม่เหล็กแบนๆกลมๆ ถ่านไฟฉาย และสายไฟ (หรือเส้นอลูมินัมฟอยล์ก็ได้) คราวนี้ไปสอนอนุบาล 3 และอนุบาล 2

ตอนไปสอนห้องอนุบาล 2 เด็กๆมองไม่ค่อยเห็นว่าตะปูเกลียวหมุน ผมจึงติดชิ้นอลูมินัมฟอยล์ให้ดูเหมือนใบพัด พอต่อไฟฟ้า ใบพัดก็หมุน (ดูวิดีโอคลิปข้างล่างว่าอะไรหมุนอย่างไรนะครับ ถ้าไม่เห็นวิดีโอกดลิงค์นี้ครับ: http://www.youtube.com/watch?v=oyj5GvkVoio)
ทันใดนั้น น้องโชกุนก็บอกว่ามันหมุนเพราะพัดลมที่ฝาผนังที่เปิดอยู่หรือเปล่า คุณครูก็ไปปิดพัดลม แล้วผมก็ต่อไฟฟ้าต่อให้ตะปูเกลียวและใบพัดที่ติดอยู่หมุน น้องโชกุนมองไปรอบๆห้อง แล้วชี้ไปที่พัดลมอีกตัวที่ห่างออกไปที่ยังเปิดอยู่ แล้วบอกว่าใบพัดผมอาจจะหมุนเพราะพัดลมตัวนั้นยังเปิดอยู่ก็ได้ คุณครูก็เลยไปปิด แล้วผมก็ต่อไฟฟ้าใหม่ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เห็นน้องโชกุนพยายามหาสาเหตุมาอธิบายสิ่งที่เขาเห็นอยู่ และไม่ยอมเชื่อผมง่ายๆ
ก่อนจะกลับผมบอกโชกุนว่าถ้าโตขึ้นไม่รู้ว่าจะทำอะไร จำคำว่าวาร์ปไดรฟ์ (warp drive) ไว้นะลูก เผื่อจะประดิษฐ์ให้มนุษยชาติได้ใช้ 😀

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)