สอนเด็กป.1+2+3 เรื่องหูและเสียง

(จดบันทึกไว้เผื่อพ่อแม่ท่านอื่นไปใช้ประโยชน์ได้ครับ)
 
วันนี้เป็นวันอังคารซึ่งเป็นวันที่ผมไปสอน/ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆที่โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิดู วันนี้ได้สอนแต่ชั้นประถม (กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม ซึ่งรวมเด็กป.1-3 ไว้ด้วยกัน) เนื่องจากเวลาของชั้นอนุบาล 2 และ 3 ยังไม่ลงตัว
 
วันนี้ไปเรียนกันที่ห้องประชุมชั้นสาม เพราะต้องการใช้โปรเจ็คเตอร์ฉายวิดีโอคลิปแสดงการทำงานของหู ภาพการอัดคลื่นเสียง และภาพอื่นๆ

 
เราเริ่มโดยการถามว่าเด็กๆว่าเสียงคืออะไรและเราใช้อะไรในการฟังเสียง ให้เด็กๆช่วยกันตอบ โดยให้เด็กลองอุดหู ลองเปิดหู ลองเคาะ ลองดีดนิ้ว ลองขยี้นิ้วใกล้ๆหู พอสรุปได้ว่าเสียงคือความสั่นที่หูเด็กๆจับได้
 
ต่อมาเราก็เอารูปและอนิเมชั่นการทำงานของหูให้เด็กดู เด็กๆก็จะเห็นว่าเรามีแก้วหู ต่อกับชิ้นกระดูก ต่อกับขดหอย (cochlea) โดยที่ความสั่นสะเทือนวิ่งมากระทบแก้วหู ทำให้แก้วหูสั่นตาม แล้วทำให้ชิ้นกระดูกสั่น แล้วชิ้นกระดูกก็ไปทำให้ของเหลวในขดหอยสั่น แล้วขนประสาทเล็กๆในขดหอยก็สั่น เมื่อขนประสาทสั่น มันก็ส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่สมอง ทำให้เราแปลความว่าเราได้ยินเสียง
 
จากนั้นเราก็ให้เด็กๆดูรูปขนประสาทเล็กในหู และยำ้ว่าถ้าโดนเสียงดังมากๆขนเหล่านี้จะงอหรือหัก แล้วเราก็จะไม่ค่อยได้ยิน บอกให้เด็กๆระวังให้ปิดหรือป้องกันหูในที่เสียงดัง อย่าให้เหมือนพ่อโก้ที่หูค่อนข้างจะตึงแล้ว
 

(ขนประสาทในหู)
 
ต่อมาเราก็พยายามจะ “มองเห็น” ความสั่นสะเทือนในเสียงต่างๆ เราใช้โปรแกรม Audacity มาอัดเสียงให้เด็กๆเห็น แล้วเราก็อัดเสียงต่างๆ ทั้งเบา ค่อย และเครื่องดนตรีเช่น กลอง ฉิ่ง ซอ ระนาด ฆ้อง แล้วดูคลื่นที่อัดได้บนจอคอมพิวเตอร์ โดยซูมเข้าซูมออกให้เห็นคลื่นชัดๆ


หลังจากเด็กๆได้ดูรูปคลื่นเสียงแล้ว เด็กๆก็บอกได้ถูกต้องว่าเสียงจะดังหรือเบา ขึ้นอยู่กับขนาดการสั่น (amplitude) แล้วเราก็ถามเด็กๆว่าแล้วเสียงสูงเสียงตำ่ขึ้นอยู่กับอะไร เด็กๆก็เดาไปต่างๆนาๆ เราจึงใช้โปรแกรม Mathematica มาเล่นเสียงความถี่ 200, 400, และ 800 Hz ให้ดูและฟัง ซึ่งทำให้เด็กๆเข้าใจว่าคลื่นยิ่งวิ่งขึ้นวิ่งลงเร็วเท่าไร (ความถี่) เสียงที่ฟังก็จะสูงตำ่ตามนั้น
 
ปล. เด็กๆชอบอัดเสียง และดูภาพสโลโมชั่นของกลองมาก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.