(จดไว้เผื่อมีประโยชน์กับพ่อแม่ท่านอื่นบ้าง ของสัปดาห์ที่แล้วเรื่องหูและเสียงอยู่ที่นี่)
วันนี้เป็นวันอังคารซึ่งผมได้เข้าไปสอน/ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ+กลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมอีกครั้ง คราวนี้ได้สอนเรื่องตาให้เด็กประถม และแสดงการทดลองแรงดันอากาศให้เด็กอนุบาลดู
เราเริ่มเรียนเรื่องตากับเด็กประถมกันก่อน โดยถามว่าเราใช้อะไรในการมองเห็น เด็กๆก็ตอบได้ว่าตา แล้วเราก็ถามว่าตากับหูคล้ายกันอย่างไร เด็กๆก็เริ่มเข้าใจว่าเราใช้ทั้งตาและหูในการรับรู้โลกภายนอก มีคำตอบอันหนึ่งที่น่าสนใจคือว่าเด็กบอกว่าทั้งตาและหูอยู่ในหัวเหมือนกัน จึงถามว่าทำไมเราถึงมีตา หู จมูก ปาก อยู่บนหัวกัน และได้โอกาสบอกเด็กๆว่าเราสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ว่ายน้ำหรือคลานในแนวราบ และใช้ส่วนหัวนำไปก่อน จึงมีอวัยวะที่ใช้รับรู้สัญญาณต่างๆอยู่บนส่วนหัว เพื่อนำทางและค้นหาอาหารและสิ่งที่เป็นอันตราย และได้คลานทั้งเดินหน้าและถอยหลังประกอบ ให้เห็นว่าถ้าอวัยวะประสาทสัมผัสไม่ติดที่หัวแล้ว เราจะชนอะไรมั่วไปหมด
ต่อจากนั้นก็ให้เด็กๆดูรูปวาดแสดงว่าภายในตามีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ๆก็คือแก้วตา ม่านตา เยลลี่ในตา จอรับภาพ (retina) เส้นเลือด และเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณไปยังสมอง ยกตัวอย่างตาของปลาที่เด็กๆบางคนเคยกินว่าคล้ายๆกัน บอกว่าถ้าตาเราโดนความร้อนเหมือนตาปลา ตาเราก็จะแข็งๆและไม่ใสเหมือนกัน จากนั้นก็คุยว่าถ้าแต่ละส่วนของตาเสียเราจะมองไม่เห็นอย่างไร เช่นถ้าแก้วตาเสีย ไม่ใส แสงก็เข้าไปไม่ได้ หรือถ้าตาโดนกระทบกระเทือนเช่นนักมวยบางคน จอรับภาพก็จะหลุดทำให้มองไม่เห็น
จากนั้นก็ให้เด็กๆปิดตาแล้วเคาะหนังตาเบาๆ แล้วถามว่าเห็นแสงไฟแปร๊บๆหรือเปล่า ซึ่งเด็กทุกคนก็เห็น ก็บอกว่าส่วนจอรับภาพมีสิ่งที่เรียกว่า “เซลล์รับแสง” ที่หน้าตาเหมือนขนเล็กๆมากๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (แต่ถ้าเอากล้องจุลทรรศ์ส่องจะเห็นว่าเป็นแท่งยาวๆ ชะลูดเหมือนขน) ขนเหล่านี้จะทำหน้าที่บอกต่อไปยังสมองว่ามีแสงมาตกโดนหรือเปล่า แต่ขนเหล่านี้ก็งงได้เหมือนกัน คือถ้ามีแรงสะเทือนขนก็จะส่งสัญญาณเหมือนมีแสงมาโดนเหมือนกัน สมองไม่รู้ก็เลยตีความว่าเวลาเราเคาะตาเบาๆ ก็เหมือนมีแสงมาเข้าตาเหมือนกัน
ต่อมาก็ถามเด็กๆว่าเราเห็นสีต่างๆได้อย่างไร และได้โอกาสบอกเด็กๆว่า “เซลล์รับแสง” หรือสิ่งที่หน้าตาคล้ายขนที่มองไม่เห็นในตานั้นมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะตื่นเต้นไม่เท่ากันเมื่อแสงสีต่างๆตกมากระทบ สมองจะแปลความตื่นเต้นแต่ละแบบเป็นสีๆ
เด็กๆถามว่าทำไม่เราถึงเห็นชัดเมื่อมองเพ่งตรงๆ ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมาก จึงได้บอกไปว่าเซลล์รับแสงมีเยอะตรงข้างหลังแก้วตา และมีน้อยลงไปในบริเวณอื่น
เด็กๆถามว่าอยากดูรูปชัดๆของเซลล์รับแสงของจริงที่ๆไม่ใช่รูปวาด จึงติดไว้ก่อนว่าจะไปหามาให้ดู
จากนั้นก็แสดงว่าถ้าเราเอาจุดสีเล็กสองสีหลายๆอันมาอยู่ใกล้ๆกัน สมองก็จะทำการผสมสีให้เป็นสีใหม่เลย อันนี้ก็เป็นหลักการในการพิมพ์สี หรือฉายภาพโปรเจ็คเตอร์ บอกว่าให้เด็กๆไปเอาแว่นขยายส่องดูรูปสีในหนังสือดูว่าเห็นอะไรเป็นจุดๆไหม ต่อจากนั้นก็ให้เด็กแบ่งกลุ่มแล้วระบายสีด้วยสีเทียนเป็นจุดๆด้วยสีต่างๆกันแต่ไม่ให้ทับกัน แล้วถอยออกมาดูไกลๆว่าเห็นเป็นสีอะไร เป็นอันจบการสอนระดับประถม
หลังจากเด็กๆพักดูละครนิทานประจำสัปดาห์แล้วก็มาแสดง”กล”ที่ใช้แรงดันอากาศให้เด็กอนุบาล 3 และ 2 ดู เริ่มด้วยการเอาจานรองแก้วมาปิดปากแก้วที่ใส่น้ำเต็มๆ แล้วคว่ำแก้วโดยที่จานรองแก้วไม่ตก เด็กๆก็ตื่นเต้นกัน
อีกอันคืออันที่ผมชอบมาก คือการเอาไม้สูบส้วม (ไม่เคยใช้ ซื้อมาใช้ทำการทดลองเท่านั้น) ที่ทำด้วยยาง มาปั้มใส่ของเรียบๆเช่นเก้าอี้ โต๊ะ แล้วยกของเหล่านั้นขึ้น การแสดงจบด้วยการเอาไม้สูบส้วมสองอันมาประกบกัน แล้วให้เด็กโหนแล้วผมยกขึ้น และให้เด็กเล่นชักกะเย่อกัน (เบาๆ ต้องระวังหงายท้อง)
你的分享很不錯.. 謝謝 .........................
思想與理論,貴呼先於行動,但行動較思想或理論更高貴........................................
Many a little makes a mickle.............................................................
naice..:) 🙂 keep uploadin d cool stuff
check out my sketches and my photographs at my blog http://www.akshaychugh.blogspot.com
น่าสนใจดีครับ
ขอบคุณครับ