แม่เหล็กขยับใกล้ๆขดลวด = กระแสไฟฟ้า เล่นตะเกียบลม

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้เริ่มเห็นการเหนี่ยวนำไฟฟ้าด้วยแม่เหล็กและขดลวด ได้เห็นว่าถ้าเราใส่การเคลื่อนไหวไปในระบบขดลวด+แม่เหล็ก เราจะได้ไฟฟ้าออกมา ในทางกลับกัน ถ้าเราใส่ไฟฟ้าเข้าไปในระบบขดลวด+แม่เหล็ก เราก็จะได้การเคลื่อนไหว เด็กๆได้ลองเล่นมอเตอร์แบบโฮโมโพลาร์ที่ใช้ส่วนประกอบเพียงถ่านไฟฉาย แม่เหล็กจานหรือทรงกระบอก ตะปูเกลียวเหล็ก และฟอยล์อลูมิเนียม ได้คุยกับเด็กประถมปลายเรื่องเตาเหนี่ยวนำสำหรับทำอาหาร และการหลอมโลหะด้วยการเหนี่ยวนำไฟฟ้า เด็กอนุบาลสามได้เล่นเลี้ยงลูกปิงปอง ลูกบอลโฟม และลูกบอลชายหาดด้วยกระแสลม โดยอาศัยหลักการตะเกียบลมหรือ Coanda Effect

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “หยดน้ำในกระทะ คลิปมือแตะตะกั่วเหลว ทำความสะอาดด้วยเสียง ระเบิดเบคกิ้งโซดา” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมผมเอาขดลวดที่ต่อกับหลอดไฟ LED และแท่งแม่เหล็กมาให้ดูครับ เวลามันอยู่เฉยๆใกล้ๆกันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเอาแท่งแม่เหล็กไปแกว่งๆผ่านขดลวด หลอดไฟ LED จะติดขึ้นมาครับ เป็นอย่างในคลิปนี้ครับ:

ปรากฎการณ์นี้คือการเหนี่ยวนำไฟฟ้าด้วยแม่เหล็กที่ถูกค้นพบโดยไมเคิล ฟาราเดย์เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว เวลาเรามีแม่เหล็ก (ซึ่งอาจจะเป็นแม่เหล็กถาวรเป็นแท่งๆ หรือแม่เหล็กไฟฟ้าก็ได้) เอามาอยู่ใกล้ๆกับตัวนำไฟฟ้าเช่นเหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง หรือโลหะต่างๆรวมทั้งสายไฟทั้งหลาย แล้วทำให้มีการขยับใกล้ๆกัน (จะให้แม่เหล็กขยับ ตัวนำขยับ หรือทั้งสองอันขยับผ่านกันก็ได้ หรือจะให้ความแรงของแม่เหล็กเปลี่ยนไปมาก็ได้) จะมีปรากฏการณ์เรียกว่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งในตัวนำไฟฟ้านั้นๆ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าวิ่งในตัวนำ ก็จะมีเหตุการต่อเนื่องขึ้นอีกสองอย่างคือ 1) มีสนามแม่เหล็กที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าในตัวนำ และ 2) กระแสไฟฟ้าทำให้ตัวนำร้อนขึ้น เราสามารถใช้ปรากฎการนี้ไปผลิดไฟฟ้า หรือทำให้ภาชนะหุงต้มร้อน หรือใช้หลอมโลหะ หรือใช้เป็นเบรก ฯลฯ ก็ได้

ในเตาเหนี่ยวนำไฟฟ้า (Induction Cooker) ตัวเตาจะมีแม่เหล็กไฟฟ้าที่สลับขั้วไปมาเร็วมาก เมื่อเอาหม้อโลหะ(ซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้า)มาวาง ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลวนในหม้อจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ทำให้เกิดความร้อนขึ้นในหม้อ เอาไปใช้หุงหาอาหารได้ ถ้าเอาหม้อกระเบื้องมาวาง จะไม่มีกระแสไฟฟ้าเกิดในหม้อ หม้อก็จะไม่ร้อน ใช้ไม่ได้  ตัวเตาเองถ้าไม่เอาหม้อโลหะไปวาง ผิวของเตาก็จะไม่ร้อนแดงเป็นไฟเหมือนเตาประเภทอื่นๆ ดังเช่นวิดีโอคลิปอันนี้ที่เปรียบเทียบอาหารบนกระทะและบนเตา:

ตัวอย่างเตาเหนี่ยวนำไฟฟ้ามักจะหาดูได้ตามร้านสุกี้เช่น MK หรือ สุกี้แคนตันเชิงสะพานพระราม 8 ที่ภรรยาผมชอบมากนะครับ

สำหรับเบรครถไฮบริด(และรถไฟฟ้าล้วนๆ)นั้น เวลารถกำลังจะเบรก จะมีระบบควบคุมให้มอเตอร์หยุดส่งกำลังไปที่ล้อ แล้วให้ล้อที่หมุนอยู่ทำหน้าที่หมุนมอเตอร์แทน มอเตอร์ข้างในมีแม่เหล็กและขดลวดอยู่ใกล้ๆกัน เมื่อแกนมอเตอร์หมุน แม่เหล็กและขดลวดจะวิ่งรอบกันเร็วๆ เกิดการเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวด แล้วกระแสไฟฟ้าก็จะถูกนำไปชาร์จแบตเตอรี่ของรถไฮบริด พลังงานจลน์ของรถจึงถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีที่เก็บในแบตเตอรีแทน รถจึงวิ่งช้าลง (แต่รถไฮบริดก็มีผ้าเบรกเหมือนรถปกติด้วย เพื่อจับล้อให้หยุดนิ่งสนิท และเป็นระบบสำรองเผื่อเบรกไฟฟ้าใช้ไม่ได้) มีคลิปใน YouTube ให้ดูครับ :

เครื่องปั่นไฟหรือเจนเนอเรเตอร์ก็ทำงานเหมือนๆกัน ถ้าเราทำให้แกนของมันหมุนได้ด้วยพลังงานลม น้ำจากเขื่อน หรือเอาเชื้อเพลิงมาต้มน้ำแล้วเอาไอน้ำความดันสูงไปหมุนแกน แกนที่หมุนของมันจะทำให้แม่เหล็กและขดลวดหมุนรอบกันเร็วๆ แล้วเราก็เอากระแสไฟฟ้าในขดลวดไปใช้

สำหรับที่ปรับหนักเบาในจักรยานออกกำลัง(แบบที่อยู่กับที่ไม่ใช่จักรยานที่ใช้เดินทาง) เวลาเราถีบให้ล้อเหล็กของจักรยานหมุน เราสามารถขยับให้ชิ้นแม่เหล็กเข้าใกล้ล้อเหล็กได้ ล้อเหล็กเป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อหมุนผ่านแม่เหล็กเร็วๆก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลในล้อเหล็ก แล้วกระแสไฟฟ้านี้ก็ก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ล้อเหล็ก แล้วมันก็จะออกแรงต้านกับชิ้นแม่เหล็กที่อยู่ติดกับที่ปรับหนักเบา ทำให้เราต้องออกแรงมากขึ้นเมื่อแม่เหล็กเข้าใกล้ล้อเหล็กมากขึ้น

ผมสรุปบอกเด็กๆว่าถ้าเราเอาขดลวดกับแม่เหล็กมาขยับผ่านกันใกล้ๆจะเกิดไฟฟ้าขึ้น และในทางกลับกัน ถ้าเราป้อนไฟฟ้าเข้าไปในขดลวดใกล้ๆแมเหล็ก เราก็จะได้การขยับมาใช้ได้เหมือนกัน เป็นหลักการของมอเตอร์ทั้งหลายครับ

ผมให้เด็กๆหัดทำมอเตอร์แบบที่ง่ายที่สุดเรียกว่าโฮโมโพล่าร์มอเตอร์ อุปกรณ์ก็มีเพียง ถ่านไฟฉาย ตะปูเกลียว แม่เหล็กที่เป็นจานกลมๆหรือทรงกระบอกกลม และฟอยล์อลูมิเนียมครับ วิธีทำก็ดังในคลิปนี้ครับ:

หลังจากเด็กๆดูวิธีทำจากผมแล้ว ก็แยกย้ายไปเล่นกันเองครับ:

สำหรับเด็กๆอนุบาลสามทับหนึ่ง ผมสอนให้เล่นตะเกียบลมที่ใช้หลักการที่ว่าเมื่อลมวิ่งไปตามผิวโค้งๆของลูกบอล กระแสลมจะโอบล้อมลูกบอลและดึงให้ลูกบอลอยู่ในกระแสลมนั้น ทำให้เราสามารถเลี้ยงลูกปิงปองด้วยเครื่องเป่าผมหรือลูกบอลชายหาดด้วยเครื่องเป่าใบไม้ได้ สามารถเอียงกระแสลมไปมาให้ลูกบอลลอยตามก็ได้ครับ

วิธีเล่นผมเคยบันทึกไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:

พอเด็กๆรู้วิธีเล่น ก็แบ่งเข้าแถวเล่นแบบต่างๆครับ:

หยดน้ำในกระทะ คลิปมือแตะตะกั่วเหลว ทำความสะอาดด้วยเสียง ระเบิดเบคกิ้งโซดา

วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูคลิปหยดน้ำบนกระทะร้อนๆ จะเห็นว่าเมื่อกระทะร้อนปานกลาง หยดน้ำจะโดนกระทะแล้วระเหยหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ากระทะร้อนจัด หยดน้ำจะกลิ้งไปมาบนกระทะได้นานมาก ปรากฎการณ์เดียวกันนี้ยังอธิบายกลที่คนเอามือจุ่มน้ำให้หมาดๆแล้วจุ่มลงไปในตะกั่วหลอมเหลวที่ร้อนจัดแล้วเอาออกทันทีโดยไม่เป็นอันตรายอีกด้วย นอกจากนี้นักวิจัยที่ญี่ปุ่นยังออกแบบพื้นผิวที่บากเป็นรูปฟันเลื่อยทำให้หยดน้ำวิ่งไปตามทิศทางที่ต้องการได้ด้วยครับ เด็กๆได้ดูเครื่องทำความสะอาดอัลตร้าโซนิกที่ใช้ความสั่นสะเทือนทำให้น้ำเกิดฟองเล็กจิ๋วที่ยุบตัวอย่างรวดเร็ว (cavitation) เป็นระเบิดลูกเล็กที่มองไม่เห็นแต่กำจัดคราบสกปรกต่างๆได้ดีมาก เด็กอนุบาลได้ดูการสาธิตผสมเบคกิ้งโซดากับน้ำส้มสายชูให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำลูกโป่ง ทำระเบิดถุงพลาสติก และทำจรวดจุกคอร์กครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “คลิปกระสุนเจาะเกราะ เกราะระเบิด การสั่น ของเล่นรถไฟเหาะ” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถม ผมถามเด็กๆว่าเคยสังเกตไหมว่าเวลากระทะร้อนๆแล้วมีน้ำหยดลงไปจะเป็นอย่างไร เด็กๆบอกว่าน้ำจะฟู่และระเหยหายไป ผมถามต่อว่าเคยเห็นหยดน้ำกลิ้งๆอยู่บนกระทะนานๆทั้งๆที่กระทะร้อนไหม เด็กๆบางคนจำได้ว่าเคยเห็น ผมเลยถามว่าทำไมบางครั้งน้ำถึงเดือดฟู่ๆแล้วหายไปแต่บางครั้งน้ำเป็นเม็ดกลิ้งๆอยู่ได้ตั้งนานทั้งๆที่กระทะก็ร้อน

เด็กๆไม่ทราบผมเลยเฉลยว่าเวลากระทะร้อนแต่ยังไม่ร้อนมากพอ เมื่อเราหยดน้ำลงไปน้ำจะฟู่ๆแล้วระเหยหายไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเพราะความร้อนจากกระทะทำให้หยดน้ำส่วนที่ติดกับกระทะร้อนกลายเป็นไอ แต่เมื่อกระทะร้อนขึ้นมากๆ ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นเร็วพอและมากพอที่จะกลายเป็นชั้นไอน้ำรองรับหยดน้ำให้ลอยอยู่เหนือกระทะนานๆ เนื่องชั้นไอน้ำนำความร้อนได้ช้ากว่าเวลาหยดน้ำติดกับกระทะตรงๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ปรากฏการณ์ลีเดนฟรอสท์” (Leidenfrost Effect)

จากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูคลิปนี้ครับ:

ปรากฎว่าถ้าทำพื้นผิวให้หยักๆเป็นฟันเลื่อย จะสามารถบังคับให้หยดน้ำเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการด้วยครับ

มีคนทำให้หยดน้ำวิ่งเป็นวงกลมด้วยครับ:

ปรากฏการณ์เดียวกันยังถูกคนเอาไปใช้เป็นกลจุ่มมือลงไปในตะกั่วเหลวร้อนๆโดยไม่เป็นอันตรายด้วยครับ:

ในคลิปเขาสามารถจุ่มนิ้วลงไปได้ครับถ้าตะกั่วเหลวนั้นร้อนมากๆ (ตะกั่วเริ่มเป็นของเหลวที่ประมาณ 330 องศาเซลเซียส ในการทดลองเขาต้มตะกั่วจนร้อนประมาณ 450 องศาเซลเซียส) แล้วเอามือจุ่มน้ำให้เปียก แล้วจุ่มลงไปในตะกั่วแป๊บเดียวแล้วดึงออก (แต่ถ้าตะกั่วร้อนไม่มากพอ เวลาเอามือไปจุ่ม ตะกั่วจะเย็นลงพอที่จะเป็นของแข็งแล้วติดนิ้วขึ้นมาทำให้เป็นอันตราย)

สาเหตุที่สามารถจุ่มนิ้วเข้าไปในตะกั่วเหลวร้อนมากๆแล้วไม่เป็นอันตรายก็เพราะน้ำที่ติดนิ้วอยู่จะโดนความร้อนจากตะกั่วจนกลายเป็นไอน้ำ เจ้าไอน้ำจะเป็นตัวกั้น เป็นฉนวนความร้อนป้องกันไม่ให้ความร้อนจากตะกั่วทำอันตรายนิ้วได้ แต่ถ้าแช่ไว้นานๆน้ำก็จะระเหยเป็นไอหมดและนิ้วก็จะไหม้ได้

หลังจากดูคลิปแล้วผมก็เอาเครื่องทำความสะอาดด้วยคลื่นเสียงอัลตร้าโซนิก (ultrasonic cleaner) มาให้เด็กๆดูและเล่นกัน:

เวลาเราใช้งาน เราก็จะใส่น้ำหรือของเหลวที่เหมาะสมกับของที่จะล้างลงไปในอ่างด้านบนของเครื่อง แล้วเราก็กดตั้งเวลาว่าจะให้เครื่องสั่นสะเทือนกี่นาที ใส่ของที่จะล้างลงไป แล้วก็เริ่มเดินเครื่อง คลื่นความถี่สูง (คลื่นในเครื่องนี้สั่น 40,000 ครั้งต่อวินาทีหรือ 40,000 Hz) จากถาดจะทำให้น้ำหรือของเหลวสั่นตาม เวลาน้ำขยับไปมาจะเกิดฟองอากาศเล็กๆที่เกิดจากแก๊สในน้ำขึ้น แล้วฟองก็จะยุบตัวลงอย่างรวดเร็วเมื่อน้ำวิ่งเข้ามาแทนที่ฟอง ทำให้เกิดแรงสะเทือนเล็กๆทั่วไปหมด สิ่งสกปรกต่างๆก็จะถูกชะล้างได้ เราทดลองทำความสะอาดแหวน สร้อยคอ สายนาฬิกา และแว่นตากันครับ ล้างได้สะอาดดี

เด็กๆเอาของหลายๆอย่างเช่นยางลบ สายนาฬิกา และเครื่องประดับมาทดลองล้างกันครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามทับหนึ่ง ผมให้ดูการทดลองจากการผสมน้ำส้มสายชูกับเบคกิ้งโซดาครับ เด็กๆได้เห็นว่าเมื่อผสมกันจะมีฟองฟอดเลย นั่นก็คือมีก๊าซเพิ่มขึ้นมา ก๊าซตัวนี้ก็คือคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง

เราทำการทดลองสามอย่างโดยผสมน้ำส้มสายชูกับเบคกิ้งโซดาในถุงมือหรือลูกโป่ง ใส่ในถุงปิดแน่นให้มันระเบิด และในขวดปิดจุกคอร์กให้จุกคอร์กกระเด็นไปเป็นจรวดจุกคอร์กครับ  วิธีทำผมอัดเป็นคลิปเหล่านี้ไว้ครับ:

ที่ทำกันในห้อง ลูกโป่งหน้าตาแบบนี้ครับ:

ระเบิดเบคกิ้งโซดา + น้ำส้มสายชูในถุงพลาสติกครับ:

ส่วนอันนี้คือจรวดจุกคอร์กครับ:

คลิปกระสุนเจาะเกราะ เกราะระเบิด การสั่น ของเล่นรถไฟเหาะ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้ดูคลิปกระสุนเจาะเกราะสำหรับรถถัง เห็นประเภทใหญ่ๆสองประเภทคือแบบใช้พลังงานจลน์ของลูกดอกโลหะแข็งที่วิ่งเร็วมากๆ (1-2 กิโลเมตร/วินาที) และอีกแบบคือแบบหัวระเบิดที่โฟกัสโลหะให้เหลวและร้อนแล้วพุ่งเป็นลำเล็กๆละลายเกราะเข้าไป เด็กประถมปลายได้พยายามเดาว่าจะป้องกันกระสุนแบบหัวระเบิดอย่างไร และได้รู้จักเกราะระเบิด (reactive armor) ที่ป้องกันกระสุนหัวระเบิดได้ เด็กๆได้เริ่มเรียนรู้เรื่องการสั่นโดยสังเกตจากลวดเกาหัวและก้านลูกโป่งถ่วงดินน้ำมัน เด็กอนุบาลสามได้เล่นรถไฟเหาะจำลองทำจากลูกแก้วและท่อพลาสติก

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “เรียนรู้จากคลิปรถถัง เคลื่อนที่เป็นวงกลม พื้นที่สัมผัส ของเล่นรถไฟเหาะ” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถม ผมให้ดูคลิปกระสุนรถถังเจาะเกราะสองแบบครับ (สัปดาห์ที่แล้วเด็กๆบอกว่าอยากเห็น)  แบบแรกเรียกว่าหัวเจาะเกราะด้วยพลังงานจลน์ (kinetic energy penetrator)ใช้วัตถุแข็งและความหนาแน่นสูงๆเช่นทังสเตนคาร์ไบด์ (tungsten carbide) หรือยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (depleted uranium, DU) ทำเป็นกระสุนแหลมๆยาวๆ หน้าตาคล้ายๆลูกดอกวิ่งไปด้วยความเร็วสูงมากๆ พุ่งทะลุเกราะต่างๆได้และทำให้เกิดความร้อนสูง เศษโลหะต่างๆจากการกระทบจะติดไฟ แบบที่สองคือแบบหัวระเบิด (high explosive anti tank, HEAT) ที่ระเบิดเมื่อกระทบและดันให้โลหะส่วนหัวของกระสุนหลอมเหลวและโฟกัสเป็นเส้นเล็กๆที่พุ่งทะลุเกราะด้วยความเร็วสูง คลิปเป็นอย่างนี้ครับ:

ผมถามเด็กประถมปลายว่าเราจะป้องกันกระสุนเจาะเกราะอย่างไรดี หลายๆคนบอกว่าทำเกราะให้หนาขึ้น บางคนบอกว่ามีเกราะหลายชั้น ผมเลยให้ดูคลิปเกราะแบบหนึ่งที่ป้องกันกระสุนหัวระเบิดได้ดีมาก:

เกราะแบบนี้เรียกว่า reactive armor ไอเดียคือมีแผ่นเกราะเล็กๆที่เป็นแซนวิชมีระเบิดตรงกลาง เมื่อกระสุนหัวระเบิดมาโดน เกราะจะระเบิดออกดันโลหะความเร็วสูงที่พุ่งมาจากกระสุนทำให้ไม่สามารถเจาะเกราะได้

ผมให้เด็กๆสังเกตกระสุนขนาด 20 มิลลิเมตรทะลุทะลวงแผ่นเหล็กด้วยครับ ให้เด็กๆเดาว่าทะลุกี่แผ่น ทำไมไฟแลบ (เศษโลหะร้อนพอจะติดไฟ) และรูในแผ่นเหล็กแต่ละแผ่นจะต่างกันไหม พอเดาเสร็จก็ดูคลิปที่หยุดไว้เพื่อเฉลยครับ:

หลังจากเด็กๆดูคลิปเสร็จแล้วเราก็เรียนรู้เรื่องการสั่นกันครับ ผมเอาลวดเกาหัวออกมาให้เด็กๆเล่นกัน:

ลวดเกาหัวมีลวดสั้นและลวดยาวอยู่ด้วยกันครับ ให้เด็กๆสังเกตดูว่าเวลาเราดีดให้ลวดยาวสั่นหนึ่งเส้น ลวดยาวอื่นๆจะสั่นตาม ส่วนลวดสั้นจะไม่สั่นตาม ในทางกลับกัน ถ้าเราดีดให้ลวดสั้นสั่นหนึ่งเส้น ลวดสั้นเส้นอื่นๆจะสั่นตามแต่ลวดยาวจะไม่สั่นตาม:

ตัวอย่างการสั่นครับ:

สิ่งต่างๆจะมีความถี่ที่มันสั่นตามธรรมชาติครับ ความถี่ธรรมชาติของลวดยาวและลวดสั้นไม่เท่ากัน เวลาเราดีดให้ลวดยาวสั่น ความถี่ของการสั่นไม่ตรงกับของลวดสั้น ทำให้ลวดสั่นไม่สั่นตาม แต่ลวดยาวเส้นอื่นๆที่มีความถี่ธรรมชาติเหมือนกันจะสั่นตามกัน

ผมถามว่าลวดยาวกับลวดสั้นอันไหนสั่นด้วยความถี่มากกว่ากัน เด็กมองไม่ทัน ผมเลยเอาแท่งพลาสติกก้านลูกโป่งมาถ่วงน้ำหนักด้วยดินน้ำมันให้แกว่งช้าลง แล้วดีดให้สั่นที่ความยาวก้านต่างๆครับ:

เด็กๆเห็นว่าก้านยาวๆจะสั่นที่ความถี่ต่ำกว่าก้านสั้นๆครับ

ผมให้เด็กๆทดลองเอาเส้นด้ายถ่วงดินนำ้มันเป็นลูกตุ้มด้วยครับ ให้เด็กๆสังเกตว่าความยาวเส้นด้ายมีผลกับความถี่ของการแกว่ง เด็กๆเห็นว่าถ้าเส้นด้ายสั้นความถี่การแกว่งจะสูง ถ้าเส้นด้ายยาวความถี่แกว่งจะต่ำครับ พบว่าดินน้ำมันหนักเบาไม่มีผลกับความถี่ครับ แต่ดินน้ำมันเบาจะหยุดสั่นเร็วกว่าดินน้ำมันหนัก

สำหรับเด็กอนุบาลสามทับสอง ผมให้เล่นของเล่นรถไฟเหาะจำลองครับ เอาสายพลาสติกใสมาสมมุติว่าเป็นราง เอาลูกแก้วมาสมมุติว่าเป็นรถไฟ แล้วปล่อยลูกแก้วในสายพลาสติกจากที่สูงๆ เด็กๆสังเกตว่าลูกแก้วจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเมื่อตกลงสู่ที่ต่ำ (สำหรับเด็กโตๆหน่อยจะอธิบายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงพลังงานศักย์เป็นพลังงานจลน์ สำหรับเด็กอนุบาลจะไม่อธิบายอะไรลึกครับ แค่ให้สังเกตว่าของตกลงมาจะมีความเร็ว ผมเคยบันทึกคำอธิบายที่ละเอียดขึ้นอยู่ที่ https://witpoko.com/?p=2465 ครับ)

ตัวอย่างวิธีเล่นครับ:

หลังจากเด็กๆเข้าใจว่าเล่นยังไง ก็แบ่งกลุ่มเล่นกันใหญ่ครับ:

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)