ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆได้หัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล จากนั้นได้พยายามปรับปรุงแหลนจำลองจากสัปดาห์ที่แล้วให้ขว้างได้ไกลขึ้นโดยการเพิ่มน้ำหนักส่วนหัวและทำครีบส่วนหางให้ขว้างได้ตรงและไกลมากขึ้น
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลน้ำไม่หกจากแก้วซึ่งทำเนียนกว่าที่เราเคยเล่นกันในชั้นเรียน:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ
สัปดาห์นี้เราต่อยอดจากสัปดาห์ที่แล้ว (วิทย์ประถม: ขว้างหลอดไกลๆ, จำลองแหลน) โดยการถ่วงน้ำหนักหลอดด้วยกระดาษที่ม้วนแน่นๆแล้วใส่ไว้ที่ปลายด้านหนึ่งของหลอด และดัดแปลงส่วนหางให้มีครีบให้มีต้านอากาศบ้างให้ตัวหลอดไม่สั่นหรือส่ายเกินไป น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้แรงต้านอากาศมีผลน้อยลงทำให้หลอดโดนปาไปได้ไกลขึ้นครับ (คือหลอดที่มีขนาดเหมือนกัน วิ่งผ่านอากาศด้วยความเร็วเดียวกัน จะมีแรงต้านอากาศเท่าๆกัน แต่หลอดที่หนักกว่าจะสูญเสียความเร็วช้ากว่าหลอดที่เบา จึงวิ่งไปไห้ไกลกว่าครับ)
เด็กๆหัดทำกันเองคนละหลายๆอัน เด็กประถมต้นมีปัญหาการม้วนกระดาษให้เป็นม้วนเล็กๆใส่ไว้ในหลอด ผู้ใหญ่อาจต้องช่วยบ้างครับ