การเปรียบเทียบสัดส่วนทำความเข้าใจปริมาณต่างๆ

ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องการทำเทียบสัดส่วนเพื่อเข้าใจปริมาณต่างๆ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ 

สรุปคือ:

  1. ปริมาณรอบๆตัวมีตั้งแต่เล็กมากๆไปถึงใหญ่มากๆ เรารู้ว่าปริมาณพันล้านมันใหญ่ หรือปริมาณหนึ่งส่วนล้านมันเล็ก แต่เรามักจะไม่เข้าใจจริงๆว่ามันใหญ่หรือเล็กแค่ไหน
  2. วิธีที่มีประโยชน์คือเปรียบเทียบปริมาณที่เราพยายามเข้าใจด้วยการคูณด้วยอัตราส่วนให้มีปริมาณมีขนาดพอๆกับสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันที่เราพอจะเข้าใจดีอยู่แล้ว
  3. วิธีแบบนี้ที่ดังๆก็เช่นวิธี Cosmic Calendar หรือปฏิทินจักรวาล (https://en.wikipedia.org/wiki/Cosmic_Calendar) ที่ย่นย่อเวลาตั้งแต่เริ่มบิ๊กแบงจนถึงปัจจุบันให้อยู่ใน 1 ปี ให้บิ๊กแบงอยู่เวลา 0:00 วันที่ 1 มกรา และปัจจุบันอยู่ที่ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม เราจะพบว่ามนุษย์รู้จักทำเกษตรกรรมและเริ่มอยู่เป็นเมืองใน 30 วินาทีสุดท้ายของทั้งปี และประวัติศาสตร์สมัยใหม่อยู่ในวินาทีสุดท้าย (ยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญเช่นบิ๊กแบงอยู่ 1 มกรา, กาแล็กซีทางช้างเผือกเกิด 12 พฤษภา, ระบบสุริยะและโลกเกิด 2 กันยา, สิ่งมีชีวิตเริ่มประมาณกลางเดือนกันยา, สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เกิด 5 ธันวา, ปลาเกิด 17 ธันวา, ไดโนเสาร์เกิด 25 ธันวา, อุกกาบาตชนโลกฆ่าไดโนเสาร์ 30 ธันวา เวลา 6 โมงเช้าเศษๆ, ฯลฯ)
  4. เราอาจเปรียบเทียบขนาดเล็กเช่นแบคทีเรียในร่างกายเรา สมมุติว่าเราขยายมันขึ้นมาจนมีขนาด 1 เซ็นติเมตร ตัวเราก็จะต้องสูงประมาณ 10 กิโลเมตร (เท่ากับความสูงที่เครื่องบินพาณิชย์บิน) ด้วยอัตราส่วนเดียวกัน
  5. ถ้าเราย่อขนาดดวงอาทิตย์ให้เท่ากับกำปั้นของเรา (10 เซ็นติเมตร) โลกก็ต้องมีขนาด 1 มิลลิเมตร และอย่างห่างออกไป 10 เมตร ส่วนดาวฤกษ์ดวงต่อไปที่ใกล้ที่สุดจะอยู่แถวๆไต้หวันถ้าดวงอาทิตย์อยู่ในกรุงเทพ (https://witpoko.com/?p=4291)
  6. สำหรับเด็กๆ สามารถทำกิจกรรมสร้างไทม์ไลน์เอาเข็มหมุดไปปักตามเส้นตรงโดยให้ระยะห่าง 1 มิลลิเมตรเท่ากับ 100 ปีหรือประมาณ 1 ชั่วอายุคน เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอยู่ในระยะสัก 10 เซ็นติเมตรเท่านั้น แต่คนกับลิงเริ่มแยกสายพันธุ์กันห่างไป 10 เมตร โลกเกิดห่างไป 45 กิโลเมตร และจักรวาลเกิดห่างไป 140 กิโลเมตร (https://witpoko.com/?p=4283)
  7. ถ้าจะเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์คิดเลขเร็วกว่าเราแค่ไหน เราก็สามารถใชัอัตราส่วนเปรียบเทียบได้ เช่นคอมพิวเตอร์ปัจจุบันอาจจะบวกเลขได้ใน 1 ส่วนพันล้านวินาที แต่เราบวกเลขเดียวกันใช้เวลา 3 วินาที เราก็ใชัอัตราส่วนเทียบสมมุติว่าคอมพิวเตอร์ใช้เวลา 1 วินาที เราก็จะต้องใช้เวลาเป็น 3 พันล้านเท่า หรือประมาณ 100 ปี
  8. ถ้าจะหวังรวยโดยการถูกล็อตเตอรีรางวัลที่ 1 โอกาสที่จะเป็นอย่างนั้นเท่ากับ 1 ในล้าน เราสามารถทำความเข้าใจได้โดยจินตนาการแบงค์ร้อย 1 ล้านใบ จะพบว่าสามารถปูทับสนามฟุตบอลได้พอดีๆ ดังนั้นการถูกรางวัลที่หนึ่งจึงเหมือนการเลือกแบงค์ที่ปูทับสนามฟุตบอลออกมาหนึ่งใบแล้วเป็นใบที่ถูกรางวัลพอดี

ลิงก์แนะนำ:

The Cosmic Calendar

The Scale of the Universe

ความเร็วของคอมพิวเตอร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.