วันนี้ผมไปสอนวิทย์ให้เด็กๆบ้านเรียนระดับม.1 มาครับ สัปดาห์ที่แล้วให้เด็กๆไปค้นคว้าว่านักวิทยาศาสตร์คิดว่าอายุของจักรวาลของเราเท่ากับเท่าไร และทำไมถึงคิดว่ามีอายุแบบนั้น เด็กๆก็ไปค้นคว้ากันพบว่าอายุน่าจะประมาณเกือบๆ 14,000 ล้านปี ผมจึงถามว่า 14,000 ล้านปีมันนานแค่ไหน
ผมแนะนำสองวิธีให้เด็กๆรู้จักคือวิธี Cosmic Calendar ที่เปรียบเทียบอายุจักรวาลทั้งหมดให้เท่ากับหนึ่งปี แล้วดูว่าเหตุการณ์ต่างๆเกิดที่วันที่เท่าไร เดือนไหนของปี
อีกวิธีหนึ่งคือเทียบเวลากับความยาวที่เราเข้าใจง่ายๆ การเปรียบเทียบที่เราใช้ในห้องเรียนวันนี้ก็คือประมาณว่าอายุขัยของเราคือ 100 ปี และกำหนดให้ 100 ปีเท่ากับความยาว 1 มิลลิเมตร จากนั้นเราก็ค่อยๆไล่ไปว่า 1,000 ปี หมื่นปี แสนปี ล้านปี สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้านปี เท่ากับความยาวเท่าไร ด้วยวิธีนี้เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่าถ้าชีวิตเรายาว 1 มิลลิเมตรแล้ว อายุจักรวาลจะยาวประมาณระยะทางกรุงเทพถึงพัทยาครับ
ผมให้เด็กๆคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตว่าเกิดมานานเท่าไรแล้ว (โดยให้หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตด้วย) แล้วหัดแปลงเป็นความยาวกัน
เด็กๆได้รู้จักวิธีเขียนเลขยกกำลัง 10 ยกกำลังต่างๆว่าเป็นเครื่องมือในการเข้าใจขนาดของตัวเลขด้วยครับ
ผมเคยคำนวณแบบนี้มาบ้างในอดีต เลยขอลอกมาไว้ตรงนี้เพื่อรวบรวมให้อยู่ที่เดียวกันครับ:
แล้วนับย้อนหลังไป…
เวลาที่ดาร์วิน (ผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ)อยู่ จะประมาณ 2 มิลลิเมตร (200 ปี)
เวลาที่นิวตันอยู่ จะประมาณ 3 มิลลิเมตร (300 ปี)
เวลาที่พ่อขุนรามคำแหงอยู่ จะประมาณ 7.5 มิลลิเมตร (750 ปี)
เวลาที่พระเยซูอยู่ จะประมาณ 2 เซ็นติเมตร (2,000 ปี)
เวลาที่พระพุทธเจ้าอยู่ จะประมาณ 2.5 เซ็นติเมตร หรือ 1 นิ้ว (2,500 ปี)
เวลาที่พีระมิดอียิปต์ถูกสร้าง จะประมาณ 5 เซ็นติเมตร หรือ 2 นิ้ว (5,000 ปี)
เวลาที่คนเริ่มอยู่กันเป็นเมือง จะประมาณ 10-20 เซ็นติเมตร หรือ 4-8 นิ้ว (10,000 – 20,000 ปี)
เวลาที่บรรพบุรุษคนเริ่มเดินตัวตรง จะประมาณ 1-2 เมตร (100,000 – 200,000 ปี)
เวลาที่คนกับลิงเริ่มต่างกัน จะประมาณ 10 เมตร (1 ล้านปี)
เวลาที่ไดโนเสาร์สูญพันธ์ จะประมาณ 650 เมตร หรือเกินครึ่งกิโล (65 ล้านปี)
เวลาที่เริ่มมีไดโนเสาร์ จะประมาณ 2.3 กิโลเมตร (230 ล้านปี)
เวลาที่เริ่มมีแมลง จะประมาณ 4 กิโลเมตร (400 ล้านปี)
เวลาที่เริ่มมีปลา จะประมาณ 4.5 กิโลเมตร (450 ล้านปี)
เวลาที่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ จะประมาณ 10 กิโลเมตร (1,000 ล้านปี)
เวลาที่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตบนโลก จะประมาณ 35 กิโลเมตร (3,500 ล้านปี)
อายุของโลกและดวงอาทิตย์ จะประมาณ 45 กิโลเมตร (4,500 ล้านปี)
2 thoughts on “สอนวิทย์มัธยม 1: ทักษะการเข้าใจปริมาณใหญ่ๆ”