อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ
ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ
(คราวที่แล้วเรื่องทำวงล้อภาพยนตร์อยู่
ที่นี่ครับ)
วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรมรวมกับกลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรมครับ สำหรับอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับไม่ได้ไปสอนเพราะเป็นสัปดาห์สุดท้ายปิดภาคแล้ว วันนี้เรื่องความฝืดมหาศาล กลเชือกไม่ยอมตกพื้น และของเล่นตัวไต่ราวครับ
คนทั่วไปไม่ทราบว่าเวลาเราเอาเชือกไปพันหลัก (หรือพันนิ้ว พันดินสอ ฯลฯ) ความฝืดที่เชือกทำกับหลักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากเมื่อเราเพิ่มจำนวนรอบที่เราพันเชือก วันนี้เรามาทำการทดลองและเล่น”กล”ที่อาศัยหลักการนี้กันครับ นอกจากนี้เด็กๆยังได้ประดิษฐ์ของเล่นไต่ราวที่อาศัยการสั่นและความฝืดระหว่างพลาสติกกับหนังยางด้วยครับ
ผมถามเด็กว่ารู้จักความฝืดไหม เด็กๆหลายๆคนก็บอกว่ามันคือแรงเสียดทานใช่ไหม ผมก็บอกว่าใช่แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน วันนี้เราจะมาเล่นกับความฝืดกัน
เริ่มแรกผมก็เอาเชือกยาวประมาณสองฟุต มาถ่วงด้วยดินน้ำมัน (มาชั่งทีหลังว่าน้ำหนัก 32 กรัม) แล้วก็เอาเชือกไปพาดนิ้ว พอปล่อยปลายเชือกข้างที่ไม่มีดินน้ำมัน ดินน้ำมันก็ถ่วงและดึงเชือกตกลงสู่พื้น ตามที่ทุกคนคิดอยู่แล้ว
|
พาดนิ้วแบบนี้ครับ ถ้าปล่อยมือขวา เชือกและดินน้ำมันก็ตกลงพื้นตามคาด |
ต่อไปผมพันเชือกรอบนิ้วหนึ่งรอบ (โดยไม่ได้ผูก แค่พันรอบนิ้วหนึ่งรอบเท่านั้น) แล้วผมก็ถามเด็กๆว่าถ้าปล่อยมือขวา ดินน้ำมันและเชือกจะตกลงมาไหม เด็กๆก็เดากันไปบางคนก็บอกว่าตก บางคนก็บอกว่าไม่ตก ผมถามว่าถ้ามันจะไม่ตก มันจะไม่ตกเพราะอะไร เด็กๆหลายคนก็บอกได้ว่าคงเป็นแรงเสียดทานที่เชือกกับนิ้ว จากนั้นผมก็ปล่อยมือขวา ปรากฏว่าดินน้ำมันห้อยอยู่ได้ ไม่ตกลงมาครับ
ต่อไปผมก็พันเชือกรอบนิ้วหนึ่งรอบ แล้วลองดึงปลายเชือกด้วยมือด้านขวาดู ปรากฏว่าแรงที่ต้องใช้ดึงให้ดินน้ำมันลอยขึ้นจะมากกว่าน้ำหนักของดินน้ำมันอย่างชัดเจน แรงส่วนที่เกินนี้ก็คือแรงที่ต้องเอาชนะความฝืดหรือแรงเสียดทานระหว่างเชือกกับนิ้วนั่นเอง
|
ดึงด้วยมือขวาอย่างนี้ครับ |
ต่อไปผมก็เอาเชือกไปพันคอขวดไวน์ (เพราะนิ้วจะเจ็บถ้าพันรอบนิ้วแล้วดึง) ผมเอาตาชั่งสปริงที่วัดน้ำหนักได้มากที่สุด 5 กิโลกรัมมาเกี่ยวกับปลายเชือกด้านที่ไม่มีดินน้ำมัน แล้วดึงให้ดินน้ำมันเคลื่อนตัว แล้วดูว่าตาชั่งบอกว่าต้องใช้แรงดึงเท่าไร เราทดลองพัน 1, 2, 3, 4 รอบแล้ววัดแรงดึงดูครับ
|
วัดแรงดึงด้วยตาชั่งสปริงแบบนี้ครับ |
|
พอพันเชือกหลายๆรอบ จะดึงยากมาก |
|
ผลของแรงดึงเทียบกับจำนวนรอบที่พันคอขวดครับ |
ต่อไปผมก็แสดงกลเชือกไม่ยอมตกพื้น คือเอาเชือกยาวประมาณสองฟุตมาถ่วงด้วยดินน้ำมันทั้งสองปลาย โดยให้ดินน้ำมันที่ปลายข้างหนึ่งหนักกว่าอีกข้างมากๆหน่อย (สักสิบเท่า) จากนั้นเราก็เอาเชือกมาพาดท่ออะไรกลมๆเช่นคอขวด (หรือ นิ้ว ดินสอ ฯลฯ) โดยให้ปลายที่มีิดินน้ำมันหนักกว่าอยู่ติดกับท่อ แล้วเราก็จับปลายเชือกด้านที่ดินน้ำมันเบากว่าไว้ให้เชือกขนานกับพื้น จากนั้นเราก็ปล่อยมือที่จับปลายเชือกด้านเบา ดินน้ำมันด้านที่หนักก็จะเริ่มตกลงสู่พื้น
|
จับพาดแบบนี้ครับ แล้วลดระดับมือซ้ายลงมาให้เชือกขนานกับพื้น |
สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือเจ้าดินน้ำมันมันตกลงมาได้ไม่เยอะ เพราะปลายเชือกที่มีดินน้ำมันเบามันจะวิ่งเข้าหาท่อที่เชือกพาดอยู่ด้วยความเร็วสูงพอที่มันจะแกว่งข้ามไปพันท่อหลายรอบ แล้วความฝืดก็จะเยอะพอที่จะหยุดไม่ให้ดินน้ำมันตกต่อไปได้ ผมมีตัวอย่างคลิปการทดลองที่ลูกชายผมเป็นผู้ช่วยครับ:
พอเด็กๆดูกลเสร็จ ผมก็สอนเด็กๆทำของเล่นง่ายๆที่อาศัยความฝืด เรียกว่าตัวไต่ราว อุปกรณ์ก็มีหนังยาง หลอดพลาสติก และแผ่น CD ที่ไม่ใช้แล้ว วิธีทำก็คือตัดหลอดยาวสักหนึ่งนิ้วแล้วไปติดกับขอบของ CD ด้านหนึ่ง จากนั้นก็ตัดหนังยางให้เป็นเส้นแล้วสอดหนังยางเข้าไปให้หลอด แล้วเราก็ยืดหนังยางให้ยาวๆโดยให้แผ่น CD อยู่สูง เราจะเห็นแผ่น CD ค่อยๆกระเด้งๆหล่นๆหยุดๆลงมาเรื่อยๆ เด็กๆสามารถเอากระดาษมาติดแผ่น CD แล้ววาดรูปต่างๆตามใจชอบ เช่นรูปบ้านเมืองแผ่นดินไหว นกหัวขวาน กระรอกไต่ลงจากต้นไม้ หรืออื่นๆตามใจชอบ คลิปตัวอย่างคืออันนี้ครับ:
พออธิบายครบสามอย่าง เราก็แบ่งห้องเรียนเป็นสามมุม ให้เด็กๆกระจายกันไปทำกิจกรรมแต่ละอย่างกันครับ สำหรับการวัดความฝืดว่าขึ้นกับจำนวนรอบที่เชือกพันอย่างไร ผมเปลี่ยนจากขวดแก้วเป็นปากกาเขียนไวท์บอร์ดที่เป็นโลหะจะได้ไม่เสี่ยงกับแก้วแตกครับ
ตัวอย่างภาพจากกิจกรรมครับ อัลบัมเต็มอยู่ที่นี่ครับ
|
ลองพันแปดรอบแล้วน้องกันโหนตาชั่งดูครับ ผลคือ… |
|
…ตาชั่งพัง |
นี่คือตัวอย่างการจดความเข้าใจและผลการทดลองของเด็กๆครับ อัลบัมเต็มอยู่ที่นี่ครับ