ผมไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็กประถมและอนุบาลสามมาครับ เด็กประถมได้พยายามอธิบายกลเป็นการฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์ ได้เล่นของเล่นกระเช้ามหัศจรรย์ที่ทำจากคลิปหนีบกระดาษและเชือก ประถมปลายได้คุยกันเรื่องแรงเสียดทานนิดหน่อย อนุบาลสามได้ดูภาพเคลื่อนไหวบนแผ่นกระดาษครับ
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ภาพยนตร์ทางม้าลาย, เล่นไฟฟ้าสถิต” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลลอยตัวครับ:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
จากนั้นเด็กๆก็ลองเล่นของเล่นกระเช้ามหัศจรรย์โดยเอาเชือกยาวๆมาพับครึ่ง แล้วร้อยปลายเชือกทั้งสองเข้ากับขาคลิปเหล็กหนีบกระดาษครับ:
ต่อไปก็เอาตรงกลางเชือกไปคล้องกับหลัก (เช่นนิ้ว หรือดินสอ หรือพนักพิงเก้าอี้) แล้วดึงปลายทั้งสองสลับกันจะพบว่าคลิปหนีบกระดาษเคลื่อนที่เข้าหาหรือเคลื่อนที่ออกจากหลักครับ ขึ้นกับว่าตอนร้อยปลายร้อยจากด้านในมาด้านนอกของคลิป หรือร้อยจากด้านนอกมาด้านในของคลิป และคลิปสามารถเคลื่อนที่จากที่ต่ำไปที่สูงได้เหมือนรถกระเช้าด้วยครับ
ผมให้เด็กๆเล่นและสังเกตว่าคลิปเคลื่อนที่ได้อย่างไร หลังจากเล่นและสังเกตการเคลื่อนที่เด็กๆพบว่าทุกครั้งที่มีการดึงเชือกขาข้างหนึ่งของคลิปจะติดกับเชือกแต่อีกข้างจะไม่ติดกับเชือก เด็กๆโตบางคนรู้จักว่ามันเกี่ยวกับแรงเสียดทานที่ไม่เท่ากันของขาทั้งสองข้างตอนดึงด้วยครับ
สำหรับท่านที่อยากเรียนรู้ให้ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับของเล่นแบบนี้ ผมแนะนำคลิปนี้ครับ:
สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมให้เด็กๆเล่นภาพยนตร์ทางม้าลายคือเล่นภาพเคลื่อนไหวบนกระดาษโดยเอาแผ่นใสพลาสติกที่มีลายดำพาดเหมือนทางม้าลายลากไปบนแผ่นกระดาษที่พิมพ์ลวดลายไว้ ทำให้ดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวครับ เป็นการเล่นทำนองเดียวกับพี่ประถมสัปดาห์ที่แล้วครับ เด็กๆพอเข้าใจว่ามีหลายภาพต่อๆกันและเห็นทีละภาพครับ (เพิ่มเติม: ดูโปรแกรมสร้างภาพแบบนี้ที่ วิทย์ม.ต้น: หัดใช้ PILLOW ใน PYTHON เพื่อจัดการภาพ นะครับ)