วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นประดิษฐ์ของเล่นจากหลอดกาแฟโดยพยายามให้ขว้างไปให้ไกลที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงน้ำหนักด้วยเพราะคะแนนจะมาจากระยะทางหารด้วยน้ำหนัก เด็กประถมปลายได้ประดิษฐ์กรวยกระดาษต่อโดยคราวนี้ปล่อยจากที่สูงชั้นสองลงสู่เป้า พยายามประดิษฐ์ให้กรวยตกช้าๆแต่คกลงตรงๆครับ เด็กอนุบาลสามเรียนรู้วิธีประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยขนแก้วน้ำไม่ให้หกด้วยแรงโน้มถ่วงเทียม
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “ขว้างหลอดกาแฟ, การตกของกรวยกระดาษ, แรงโน้มถ่วงเทียม” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนที่เข้าสู้ช่วงสิ่งประดิษฐ์ เด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือกลโต๊ะลอยได้ครับ:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
เด็กประถมต้นทำกิจกรรมต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่เอาหลอดพลาสติกมาประดิษฐ์ให้ขว้างได้ไกลๆ แต่คราวนี้มีโจทย์เพิ่มเติมคือเราต้องการให้มีน้ำหนักเบาด้วยครับ เราจะเอาระยะทางที่ขว้างได้มาหารด้วยน้ำหนัก ใครได้ระยะทางต่อน้ำหนักสูงสุดก็จะได้คะแนนมากสุดครับ เราไปขว้างบนลานข้างๆห้องเรียน เวลาขว้างต้องตกในแนวที่กำหนดด้วยครับ เราจดผลกันมาได้แบบนี้ครับ:
มวล (g) | ระยะ (cm) | ระยะ (cm) | ระยะ (cm) | ระยะมากสุด (cm) | ระยะมากสุด / มวล (cm/g) | |
ซาช่า | 3.3 | 170 | 260 | 260 | 260 | 79 |
ต้นน้ำ | 3.3 | 500 | 780 | 520 | 780 | 236 |
อุ่น | 1.7 | 300 | 310 | 300 | 310 | 182 |
ต้นข้าว | 2.4 | 100 | 150 | 150 | 150 | 63 |
กอหญ้า | 1.5 | 450 | 500 | 200 | 500 | 333 |
ซีน | 3.4 | 450 | 500 | 200 | 500 | 147 |
เจ๋ง | 2.1 | 200 | 200 | 520 | 520 | 248 |
ต้นบุญ | 9.2 | 1030 | 320 | 1030 | 112 | |
พ่อโก้ | 1.7 | 0 | – | |||
เอม | 2.4 | 450 | 350 | 450 | 450 | 188 |
เรเน่ | 2.6 | 0 | – | |||
ทิกเกอร์ | 3.5 | 200 | 200 | 150 | 200 | 57 |
กินเจ | 2 | 200 | 320 | 390 | 390 | 195 |
ขนมผิง | 2.8 | 220 | 220 | 79 | ||
ริว | 1.9 | 0 | – |
เด็กๆสนุกกับการเล่นและประดิษฐ์ครับ:
เด็กประถมปลายทำกิจกรรมต่อจากสัปดาห์ที่แล้วเหมือนกันครับ คราวนี้เอากรวยกระดาษขนาดต่างๆและความแหลมต่างๆมาปล่อยจากชั้นสอง พยายามให้ตกลงใปที่เป้าที่เป็นตะกร้าที่พื้นชั้นล่างครับ เด็กๆสนุกและเหนื่อยจากการเดินขึ้นลงบันไดครับ:
สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมสอนให้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับขนส่งแก้วน้ำไปที่ต่างๆแบบน้ำหกยากครับ ผมเอาตะกร้าผูกเชือกมาให้เด็กๆดู เอาแก้วใส่น้ำวางลงไป แล้วก็แกว่งตะกร้าไปมา ให้เด็กๆสังเกตผิวน้ำกันครับ
เด็กๆสังเกตเห็นผิวน้ำอยู่นิ่งๆ ไม่กระเพื่อมหรือกระฉอกไปมา บางคนคิดว่ามันคือเยลลี่ด้วยซ้ำ ต้องเอานิ้วจิ้มดูให้เห็นว่าเป็นน้ำเหลวๆจริงๆ
สำหรับเด็กตัวเล็กๆผมใช้ตะกร้าพลาสติกเล็กๆแทนตะกร้าใหญ่ ให้เขาลองแกว่งกันเองครับ ผมเคยบันทึกวิธีประดิษฐ์ไว้ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:
สาเหตุที่น้ำไม่หกลงมาก็เพราะว่าการที่เราแกว่งแก้วไปมาอย่างนั้น ก้นแก้วจะเป็นตัวบังคับไม่ให้น้ำเคลื่อนที่ไปอย่างอิสระออกไปจากวงหมุน (เนื่องจากน้ำมีความเฉื่อย เมื่อมันเคลื่อนที่อย่างไรมันก็จะอยากเคลื่อนที่ไปอย่างเดิมด้วยความเร็วเดิม จนกระทั่งมีแรงมากระทำกับมัน ถ้าไม่มีก้นแก้วมาบังคับ น้ำก็จะกระเด็นไปในแนวเฉียดไปกับวงกลมที่เราแกว่งอยู่) ผลของการที่ก้นแก้วบังคับน้ำให้เคลื่อนที่เป็นวงกลมก็คือดูเหมือนมีแรงเทียมๆอันหนึ่งดูดน้ำให้ติดกับก้นแก้ว ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแรงโน้มถ่วง เราเลยเรียกมันว่าแรงโน้มถ่วงเทียม
ต่อไปเราออกไปนอกห้องกัน แล้วผมแกว่งให้แรงขึ้นจนข้ามศีรษะ แต่น้ำก็ยังติดอยู่ในกระป๋องไม่ได้หกลงมา ทำให้เด็กๆตื่นเต้นมากครับ พอทำให้ดูแล้ว เด็กๆก็ลองกันเอง สนุกกันใหญ่: