วันอังคารที่ผ่านมาผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมได้หัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ประถมต้นหัดประดิษฐ์และตกแต่งหลอดกาแฟให้ขว้างได้ไกลและแม่นขึ้น ประถมปลายได้ทำกรวยกระดาษแบบต่างๆและสังเกตการตกของมัน อนุบาลได้เล่นแรงโน้มถ่วงเทียมทำให้น้ำไม่หกกันครับ
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมต่างๆอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “เรียนรู้เรื่องการปั่นไฟต่อ การทดรอบด้วยสายพาน” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลังนะครับ ไว้ดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือเทนมใส่แก้วที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆโดยนมเต็มแก้วทุกครั้งครับ:
https://www.youtube.com/watch?v=6qjqunGn_Lc
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
สำหรับเด็กประถมต้น ผมเอาหลอดกาแฟพลาสติกมาพยายามโยนให้ไกลๆให้ตรงกับเป้าครับ หลอดกาแฟมันเบาจึงเปลี่ยนทิศทางง่ายและถูกอากาศต้านทำให้ไปไม่ได้ไกล ผมแจกหลอดกาแฟให้เด็กๆให้ไปดัดแปลงกันเองเพื่อจะได้ขว้างได้ไกลและแม่นขึ้น
เด็กๆทดลองทำหลายแบบครับ มีทั้งพันเทปพันกระดาษให้หลอดหนักขึ้นจนขว้างได้เหมือนดินสอหรือตะเกียบ มีแบบถ่วงหัวให้เหมือนหอก มีถ่วงหัวและติดหางเหมือนลูกธนู และมีแบบติดปีกให้ร่อนได้ครับ
กิจกรรมนี้เน้นให้เด็กๆสนุกสนานและได้ลองผิดลองถูกเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆกันครับ อยากให้สังเกตและปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของแต่ละคนและเรียนรู้จากเพื่อนๆด้วยครับ
สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้หัดทำกรวยกระดาษเพื่อสัปดาห์หน้าจะแข่งกันทำให้กรวยตกช้าๆแต่ตรงเป้ากันครับ ก่อนอื่นผมเอากรวยกระดาษสองอันที่แหลมเท่าๆกัน ทำจากกระดาษชิ้นเดียวกัน แต่อันหนึ่งใหญ่กว่า อีกอันเล็กกว่า มาให้เด็กๆทายว่าถ้าปล่อยให้ตกพร้อมๆกัน อันไหนจะตกถึงพื้นก่อน คนที่ทายว่าอันเล็กตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันต้านอากาศมากกว่าน่าจะตกลงช้ากว่า คนที่ทายว่าอันใหญ่ตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันหนักกว่า มันน่าจะตกลงมาถึงพื้นก่อน ผลเป็นอย่างในคลิปครับ:
เด็กๆแยกย้ายกันทดลองทำกรวยของตัวเอง ดูว่าแบบไหนลอยนานๆและตกลงมาตรงๆครับ:
สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมสอนให้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับขนส่งแก้วน้ำไปที่ต่างๆแบบน้ำหกยากครับ ผมเอาตะกร้าผูกเชือกมาให้เด็กๆดู เอาแก้วใส่น้ำวางลงไป แล้วก็แกว่งตะกร้าไปมา ให้เด็กๆสังเกตผิวน้ำกันครับ
เด็กๆสังเกตเห็นผิวน้ำอยู่นิ่งๆ ไม่กระเพื่อมหรือกระฉอกไปมา บางคนคิดว่ามันคือเยลลี่ด้วยซ้ำ ต้องเอานิ้วจิ้มดูให้เห็นว่าเป็นน้ำเหลวๆจริงๆ
สำหรับเด็กตัวเล็กๆผมใช้ตะกร้าพลาสติกเล็กๆแทนตะกร้าใหญ่ ให้เขาลองแกว่งกันเองครับ ผมเคยบันทึกวิธีประดิษฐ์ไว้ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ครับ:
สาเหตุที่น้ำไม่หกลงมาก็เพราะว่าการที่เราแกว่งแก้วไปมาอย่างนั้น ก้นแก้วจะเป็นตัวบังคับไม่ให้น้ำเคลื่อนที่ไปอย่างอิสระออกไปจากวงหมุน (เนื่องจากน้ำมีความเฉื่อย เมื่อมันเคลื่อนที่อย่างไรมันก็จะอยากเคลื่อนที่ไปอย่างเดิมด้วยความเร็วเดิม จนกระทั่งมีแรงมากระทำกับมัน ถ้าไม่มีก้นแก้วมาบังคับ น้ำก็จะกระเด็นไปในแนวเฉียดไปกับวงกลมที่เราแกว่งอยู่) ผลของการที่ก้นแก้วบังคับน้ำให้เคลื่อนที่เป็นวงกลมก็คือดูเหมือนมีแรงเทียมๆอันหนึ่งดูดน้ำให้ติดกับก้นแก้ว ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแรงโน้มถ่วง เราเลยเรียกมันว่าแรงโน้มถ่วงเทียม
ต่อไปเราออกไปนอกห้องกัน แล้วผมแกว่งให้แรงขึ้นจนข้ามศีรษะ แต่น้ำก็ยังติดอยู่ในกระป๋องไม่ได้หกลงมา ทำให้เด็กๆตื่นเต้นมากครับ พอทำให้ดูแล้ว เด็กๆก็ลองกันเอง สนุกกันใหญ่: