วันนี้พวกเราคุยกันเรื่อง cognitive biases ที่เด็กๆไปอ่านในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ มี Social Proof, Sunk Cost Fallacy, และ Reciprocity
Social Proof (“ใครๆเขาก็ทำกัน”) คือการทำตามๆกัน ทำตามคนส่วนใหญ่ ในหลายๆกรณีก็มีประโยชน์เช่นเมื่อไปต่างเมืองแล้วเราสังเกตว่าคนแถวนั้นกินร้านอาหารใด แต่หลายๆครั้งก็มีโทษเช่นแห่ซื้อหุ้นตอนหุ้นขึ้น หรือเข้าไปในระบบขายตรงแบบพีรามิดเพื่อหวังรวย นอกจากนี้เราจะสังเกตว่าหลายๆองค์กรจัดการเราโดยอาศัย social proof เช่นรายการตลกมีเสียงหัวเราะแทรกให้เราหัวเราะตาม การชุมนุมหรือประขุมต่างๆที่มีหน้าม้าคอยชักนำให้เราทำตาม
Sunk Cost Fallacy (“เสียดายต้นทุนจม”) คือการที่เราให้ความสำคัญมากเกินไปกับสิ่งที่เราจ่ายไปแล้ว เอาคืนมาไม่ได้ (สิ่งต่างๆอาจเป็นเงิน เวลา ความรัก ฯลฯ) แทนที่จะดูว่าควรจะทำอะไรต่อไปโดยให้ความสำคัญกับอนาคตแทน เช่นเราจ่ายเงินค่าบุฟเฟ่ต์ไปแล้วจึงตะกละกินเยอะมากๆทั้งๆที่กินมากเกินไปก็เป็นทุกข์เพิ่ม แทนที่จะกินพอดีๆให้มีความสุขที่สุด หรือไม่ยอมลุกออกจากโรงหนังที่เราซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังห่วยแล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทน หรือซื้อหุ้นราคาแพงแล้วติดดอย แต่ทิ้งไว้ไม่ขายทิ้งเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ดีกว่าโดยคิดว่าถ้ายังไม่ขายก็ไม่ขาดทุน
Reciprocity (“บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องชำระ”) คือการที่เราอยากตอบแทนคนที่ทำอะไรให้เรา จริงๆแล้วสิ่งนี้มักจะมีผลดีกับสัตว์สังคมเช่นพวกเรา แต่เราก็อาจถูกจัดการให้ทำสิ่งที่ไม่ค่อยมีเหตุผลนัก เช่นเมื่อเรารับของแจกฟรีในซูเปอร์มาเก็ตจะทำให้เราอยากซื้อของของผู้แจกมากขึ้น องค์กรบริจาคต่างๆส่งของขวัญมาให้แล้วค่อยขอเงินบริจาคของเราในอนาคต หรือการคิดแก้แค้นเรื่องต่างๆจนเสียเวลาเสียโอกาสที่ดีไป
จากนั้นเราก็ทำการทดลองปล่อยกรวยกระดาษให้ตกสู่พื้นกันครับ ผมเอากรวยกระดาษสองอันที่แหลมเท่าๆกัน ทำจากกระดาษชิ้นเดียวกัน แต่อันหนึ่งใหญ่กว่า อีกอันเล็กกว่า มาให้เด็กๆทายว่าถ้าปล่อยให้ตกพร้อมๆกัน อันไหนจะตกถึงพื้นก่อน คนที่ทายว่าอันเล็กตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันต้านอากาศมากกว่าน่าจะตกลงช้ากว่า คนที่ทายว่าอันใหญ่ตกถึงพื้นก่อนบอกว่าอันใหญ่มันหนักกว่า มันน่าจะตกลงมาถึงพื้นก่อน ผลเป็นอย่างในคลิปครับ:
จากนั้นเด็กๆก็ทำกรวยของตัวเอง พบว่าความแหลมมีผลว่าอันไหนตกเร็วกว่า ครับ