Category Archives: science

อากาศร้อนเย็นสำหรับเด็กเล็ก การวิวัฒนาการสำหรับเด็กโต

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องจุดบอดในดวงตาและภาพลวงตาอยู่ที่นี่ครับ)

วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องอากาศร้อนเย็นสำหรับเด็กอนุบาล ป.1 ป.2 และเรื่องการวิวัฒนาการสำหรับเด็กป.3 4 5 ครับ

สำหรับเรื่องอากาศ ผมถามเด็กๆว่าเรารู้สึกว่าลมพัดไหม ลมคืออากาศที่เคลื่อนตัว เรารู้สึกได้เพราะอากาศมีตัวตน มีน้ำหนัก คือแถวๆพื้นโลกจะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งกิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จริงๆประมาณ 1.275 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และผมพยายามให้เด็กเข้าใจโดยทำมือวาดว่าหนึ่งลูกบาศก์เมตรมันใหญ่แค่ไหน เมื่อเทียบกับน้ำจะพบว่าน้ำหนาแน่นกว่าอากาศประมาณ 800 เท่า คือน้ำจะมีน้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

เราอยู่บนผิวโลก เราใช้อากาศหายใจ อากาศที่อยู่รอบๆโลกเรียกว่าชั้นบรรยากาศ (Earth Atmosphere) ชั้นบรรยากาศของโลกมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับโลก คือมีอากาศสูงขึ้นไปจากพื้นโลกเพียง 100-200 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดโลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12,000 กิโลเมตร ชั้นบรรยากาศจะหนาเพียงประมาณ 1% ของขนาดโลกเท่านั้น

ถ้าโลกมีขนาดเท่าลูกบอล ชั้นบรรยากาศจะหนาประมาณช่องที่ผมอ้าปากเครื่องวัดไว้ ห่างออกไปกว่านั้นอากาศจะบางมากจนเป็นสูญญากาศในที่สุด อากาศเกาะติดกับโลกได้ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ดวงจันทร์ที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าจึงมีบรรยากาศเบาบางมากจนเรียกเป็นสูญญากาศ ดาวพฤหัสที่มีแรงโน้มถ่วงมากจึงมีชั้นบรรยากาศหนาแน่นและเยอะมากเมื่อเทียบกับโลก

แม้ว่าชั้นบรรยากาศจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับโลก แต่มันใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัวเรา น้ำหนักของอากาศที่กดทับลงมาแถวๆพื้นโลกเทียบได้กับน้ำหนักสิบตันต่อตารางเมตรเลยทีเดียว (เทียบได้กับรถ 6-7 คันซ้อนๆกันกดลงมาในพื้นที่หนึ่งตารางเมตร หรือประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร) Continue reading อากาศร้อนเย็นสำหรับเด็กเล็ก การวิวัฒนาการสำหรับเด็กโต

(ปลูกภูมิต้านทานการหลอกลวงด้วยเรื่อง)จุดบอดในดวงตาและภาพลวงตา

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องวิดีโอหุ่นยนต์นกและถ่ายหนัง Silly Putty กลืนแม่เหล็ก อยู่ที่นี่ครับ)

เปิดเทอมใหม่แล้วครับ วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องจุดบอดในตาของเรา และภาพลวงตาต่างๆครับ

ทุกครั้งที่เริ่มเทอมใหม่ ผมจะพยายามคุยกับเด็กๆว่าเราต้องระมัดระวังที่จะเชื่อประสาทสัมผัสต่างๆของเราครับ เนื่องจากประสาทสัมผ้สเรามีข้อจำกัด และเรารับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆด้วยการแปลผลของสมอง และสมองก็ถูกหลอกได้ง่าย คิดไปเองได้ง่าย ถ้าเราไม่ระวัง เราก็รับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถ้าเราสงสัยหรือไม่มั่นใจว่าเรารับรู้ได้ถูกต้องหรือเปล่า เราควรจะหาวิธีใช้อุปกรณ์ที่น่าเชื่อถือมาวัดด้วยครับ จะเชื่อแต่ความรู้สึกหรือความคิดของเราเองไม่ได้  ผมหวังว่าในอนาคตเมื่อเด็กๆเห็นอะไรแปลกๆพิสดารเขาจะได้ไม่รีบเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ต้องพยายามเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรจริงๆก่อน Continue reading (ปลูกภูมิต้านทานการหลอกลวงด้วยเรื่อง)จุดบอดในดวงตาและภาพลวงตา

1 กัป = กี่ปีเอ่ย (แก้ไขการคำนวณ)

ผมสงสัยว่าเวลาคนพูดว่าชั่วกัปชั่วกัลป์เขาหมายถึงเวลายาวแค่ไหนแน่เลยเคยคำนวณไว้ที่ https://witpoko.com/?p=448 เมื่อสี่ปีที่แล้ว วันนี้พึ่งมีคนมาทักว่าคำนวณผิด ผมเลยเข้ามาดูแล้วพบว่าผมคำนวณผิดจริงๆด้วย เลยมาคำนวณใหม่ครับ

ปล. พระไตรปิฎกถูกเขียนบันทึกหลังจากเวลาของพระพุทธเจ้าประมาณ 400-500 ปี ไม่แน่ใจว่าจำนวนศูนย์ในหลักตัวเลขต่างๆอาจจะหายหรืองอกในระหว่างเวลานั้นกี่ตัวเหมือนกันครับ พระอาจจำผิดพลาดก็ได้ ช่วงตัวเลขมันถึงห่างกันหลายเท่าเกินไป 🙂

จากวิธีนับกัป ใน Wikipedia:

(วิธีที่ 1) วิธีนับกัป กำหนดกาลว่านานกัปหนึ่งนั้น พึงรู้ด้วยอุปมาประมาณว่า มีขุนเขากว้างใหญ่สูงโยชน์หนึ่ง (16 กิโลเมตร) ถึง 100 ปีมีเทพยดาเอาผ้าทิพย์เนื้อละเอียดลงมาเช็ดถูบนยอดขุนเขานั้นหนหนึ่งแล้วก็ไป ถึงอีก 100 ปีจึงเอาผ้าลงมาเช็ดถูอีก นิยมอย่างนี้นานมาจนตราบเท่าขุนเขานั้นสึกเกรียนเหี้ยนลงมาราบเสมอพื้นพสุธาแล้ว กำหนดเป็น 1 กัป เมื่อนั้น

(วิธีที่ 2) อีกนัยหนึ่ง กำหนดด้วยประมาณว่า มีกำแพงเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสโดยกว้างลึกกำหนดหนึ่งโยชน์ ถึง 100 ปีมีเทพยดานำเมล็ดผักกาดมาหยอดลง 1 เม็ด เมล็ดผักกาดเต็มเสมอปากกำแพงนั้นนานเท่าใด จึงกำหนดว่าเป็น 1 กัป (ดูการประมาณความยาวนานใน อสงไขย)

จากวิธีที่ 1 เราต้องประมาณว่าการเอาผ้ามาเช็ดหินนั้น หินสึกลงไปเท่าไร สมมุติว่าหินสึกไปน้อยที่สุดเท่าที่จะสึกได้ ก็แสดงว่าหินสึกไปประมาณขนาดของอะตอม ตีว่าขนาดอะตอมประมาณ 1 อังสตรอม (หรือเท่ากับหนี่งส่วนสิบนาโนเมตร = 0.1/1,000,000,000 เมตร) แสดงว่าทุกร้อยปีหินจะสึกไปหนึ่งส่วนสิบนาโนเมตร ถ้าจะให้หินสึก 16 กิโลเมตร ( = 16,000 เมตร) ก็ต้องใช้เวลา = 100 ปี x 16,000 เมตร / (0.1/1,000,000,000) เมตร = 16,000,000,000,000,000 ปี หรือ 1.6 x 10^16 ปี หรืออ่านว่า หนึ่งหมื่นหกพัน ล้าน ล้านปี (หรือประมาณเท่ากับล้านเท่าอายุจักรวาล) เวลานี้จะเป็น upper boundคือ 1 กัป จะไม่เกิน หนึ่งหมื่นหกพันล้านล้านปี

ถ้าจะหา lower bound เราก็สมมุติว่าหินสึกเท่ากับยางรถยนต์สึกเมื่อหมุนไปบนถนน เราสังเกตว่ายางเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2 เมตร จะสึกประมาณ 1 เซ็นติเมตร เมื่อวิ่งไป 50,000 กิโลเมตร ถ้าทุกครั้งที่ยางกลิ้งไปบนพื้นแล้วยางสึกไป d เราจะได้ความสัมพันธ์ d x 50,000 ก.ม. = 1 ซ.ม. x (1/2) ม. x Pi (การคำนวณนี้เป็น lower bound เพราะหินไม่น่าจะสึกได้มากกว่ายางรถยนต์)

จะได้ว่า d = 3.14 อังสตรอม พอเราแทนค่าความสึกเข้าไปในการคำนวณ upper bound เราก็จะได้ lower bound = 5 พันล้านล้านปี = 5 x 10^15 ปี

หรือ 1 กัป อยู่ระหว่าง 0.5 ถึง 1.6 หมื่นล้านล้านปี จากวิธีที่ 1

จากวิธีที่ 2 ถ้าเราจะถมหลุมขนาด 16 ก.ม. x16 ก.ม. x 16 ก.ม. ด้วยเมล็ดผักกาด (ตีว่าขนาดประมาณ 0.5 ม.ม. x 0.5 ม.ม. x 0.5 ม.ม.) เราจะต้องใช้เมล็ดผักกาดประมาณ 3 x 10^22 เมล็ด  หรืออ่านว่า สามหมื่นล้านล้านล้านเมล็ด ถ้าแต่ละเมล็ดใช้เวลา 100 ปี ก็จะได้ว่า 1 กัป เท่ากับประมาณ 3 ล้าน ล้าน ล้าน ล้าน ปี

ปรากฎว่าวิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 ต่างกัน 2 ร้อยล้านเท่า (ตาเหลือก)

— – —- – —– ———
ป.ล.

1. ถ้าจะให้วิธีที่ 2 ใกล้เคียงกับวิธีที่หนึ่ง เราต้องหาเมล็ดอะไรบางอย่างที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งฟุต คงจะใช้มะพร้าวได้

2. ผมสงสัยมานานแล้วว่า คำว่ากัป นานเท่าไรกันแน่ วันนี้พึ่งทดลองหาใน Google เลยเห็นคำจำกัดความ ก็เลยลองคำนวณดู