Category Archives: สอนเด็กๆ

วิทย์ประถม: ลอยลูกแก้วด้วยฟอยล์อลูมิเนียม

วันนี้ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เด็กๆทำฟอยล์อลูมิเนียมเป็นรูปทรงต่างๆเพื่อรับน้ำหนักลูกแก้วให้ลอยในน้ำได้

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลงอช้อนครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

สัปดาห์นี้ผมเอาลูกแก้วมาชั่งน้ำหนักให้เด็กๆดู (น้ำหนักประมาณ 5.6 กรัม) แล้วปล่อยลงในน้ำ ก่อนจะปล่อยให้เด็กๆเดากันว่ามันจะลอยหรือจม เมื่อมันจมผมก็เอาฟอยล์อลูมิเนียม (ฟอยล์ห่อปลาเผา) ขนาดกว้างยาวประมาณ 10 ซ.ม. x 10 ซ.ม. มาชั่งน้ำหนัก (ประมาณ 0.4 กรัม) และลอยอยู่ที่ผิวน้ำให้เด็กๆดู

จากนั้นผมก็ถามเด็กๆว่าถ้าเราเอาลูกแก้วไปวางบนฟอยล์ จะจมหรือลอย เมื่อเด็กๆเดาเสร็จ ผมก็ทดลองวางลูกแก้วให้เด็กๆดู

ผมให้เด็กๆสังเกตว่ารูปทรงฟอยล์เป็นอย่างไร ทำไม่ไม่จมลงไป ถ้าเราดูด้านข้างเราจะเห็นฟอยล์ตรงกลางจมลงไปในน้ำเล็กน้อย เป็นการแทนที่น้ำทำให้เกิดแรงลอยตัวที่น้ำดันกลับ สามารถรับน้ำหนักลูกแก้วได้ น้ำที่ขอบๆฟอยล์ก็ไม่ทะลักเข้ามาง่ายๆเพราะน้ำมีแรงตึงผิวอยู่ ผิวน้ำยังไม่แตกแยกออก

จากนั้นผมก็ค่อยๆเพิ่มจำนวนลูกแก้วบนฟอยล์ไปทีละลูก และให้สังเกตรูปทรงฟอยล์ที่ค่อยๆเปลี่ยนไป เมื่อวางลูกแก้วได้ 5-6 ลูก ฟอยล์ก็จะเสียรูปทรงทำให้น้ำเข้าและจมในที่สุด

ภาพข้างล่างเหล่านี้คือภาพจำนวนลูกแก้วตั้งแต่ 1-5 ลูก และด้านข้างของแผ่นฟอยล์ที่เปลี่ยนไป

ให้เด็กๆสังเกตว่าถ้าน้ำเริ่มเข้ามาในแผ่นฟอยล์ได้ มันจะจม ถ้าจะให้จมยากๆจะทำอย่างไร เด็กๆมีการเสนอว่าทำให้เป็นแพหรือเรือ จึงแจกฟอยล์อลูมิเนียมให้เด็กๆแยกย้ายกันสร้างรูปทรงต่างๆให้รับน้ำหนักลูกแก้วได้มากๆ ให้ทดลองดัดแปลงสังเกตเรียนรู้ด้วยตนเองกัน

วิทย์ประถม: การแทนที่น้ำ, วัดปริมาตรกำปั้นด้วยการวัดแรงลอยตัว

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เราทำการทดลองเกี่ยวกับการแทนที่น้ำและวัดปริมาตรกำปั้นของเราโดยการวัดขนาดแรงลอยตัวกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลสลับตัวครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

สัปดาห์นี้เราเล่นกับแรงลอยตัวเป็นสัปดาห์สุดท้ายครับ ทบทวนจากสัปดาห์ที่แล้วว่า น้ำ 1 มิลลิลิตร (1 ซีซี) หนัก 1 กรัม และเมื่อของจุ่มลงไปในน้ำ มันต้องดันน้ำให้ย้ายไปที่อื่น น้ำก็ดันสู้ เกิดเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง ขนาดของแรงลอยตัวถูกค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชื่ออาคิมีดีสค้นพบว่าเมื่อจุ่มของลงไปในน้ำ น้ำจะดันของนั้นๆขึ้นด้วยแรงลอยตัวค่าหนึ่ง แรงลอยตัวนี้มีมีค่าเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยของที่จุ่มลงมาครับ

ผมใช้ถ้วยพลาสติกที่มีหลอดให้น้ำไหลออกอยู่ด้านข้างค่อนไปด้านบน เมื่อใส่น้ำเต็ม น้ำจะไหลออกเรื่อยๆจนถึงระดับรูของหลอดแล้วจะหยุดไหล จากนั้นเมื่อเอาของจุ่มลงไปในน้ำ น้ำที่ไหลออกมาก็คือน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยปริมาตรของสิ่งที่จุ่มลงไปนั่นเอง ผมให้เด็กๆเดาว่าปริมาตรนิ้วชี้ของผมมีขนาดกี่มิลลิลิตร แล้ววัดโดยการจุ่มนิ้วให้น้ำไหลออกมาจากหลอด แล้วชั่งน้ำหนักว่าน้ำที่ไหลออกหนักกี่กรัม คิดเป็นปริมาตรเท่าไร

จากนั้นผมให้เด็กๆสังเกตว่าถ้าเอาภาชนะใส่น้ำและวางไว้บนตาชั่ง เมื่อเอาของไปจุ่มน้ำ น้ำหนักบนตาชั่งจะเพิ่มเท่ากับแรงลอยตัว ซึ่งเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยปริมาตรของที่จุ่มน้ำ

การทดลองต่อไปคือให้เด็กๆวัดปริมาตรของมือและกำปั้นของเขาโดยการจุ่มน้ำในภาชนะที่วางบนตาชั่ง ดูว่าน้ำหนักเพิ่มเท่าไร น้ำหนักที่เพิ่ม = แรงลอยตัว = น้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ ซึ่งเราคำนวณได้ว่าน้ำที่ถูกแทนที่มีปริมาตรเท่าไร เพราะเรารู้ว่าน้ำ 1 กรัมมีปริมาตร 1 มิลลิลิตร

วิทย์ประถมต้น: แรงลอยตัว = น้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เราได้คุยกันเรื่องแรงลอยตัวกันต่อโดยชั่งน้ำหนักของที่จุ่มในน้ำ เด็กๆพยายามดูว่าน้ำหนักมากแค่ไหนจะกดเรืออลูมิเนียมให้จมน้ำได้

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลกระป๋องลอยครับ:

และให้เด็กๆดูภาพนี้ให้อธิบายว่าเป็นภาพลวงตาอย่างไร:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมชั่งน้ำหนักน้ำให้เด็กๆดู ให้เห็นว่าน้ำ 1 มิลลิลิตร (1 ซีซี) หนัก 1 กรัม

ให้เห็นว่าน้ำหนึ่งแก้วมีปริมาตรประมาณ 200-400 มิลลิลิตร

ให้เห็นขวด 1 ลิตร ใส่น้ำได้ 1,000 มิลลิลิตร และหนัก 1,000 กรัม (หรือ 1 กิโลกรัม)

ชั่งน้ำหนักน้ำที่ปริมาณต่างๆ

จากนั้นเอาถ้วยพลาสติกใส่น้ำเข้าไป 400 มิลลิลิตร คิดเป็นน้ำหนักน้ำ 400 กรัม แล้วเขียนระดับน้ำที่ถ้วยไว้

ใส่น้ำเข้าไป 400 กรัม ขีดเส้นระดับน้ำข้างถ้วยไว้

ถ้าเราเอาถ้วยที่ใส่น้ำไปลอยในอ่าง เราจะสังเกตว่าถ้วยจมไปถึงเส้นที่เราขีดระดับน้ำ และถ้าเทน้ำออกจากถ้วยแล้วใส่ลูกแก้วลงไปแทน ต้องใส่ลูกแก้วลงไปเท่ากับน้ำหนักน้ำตอนต้น (400 กรัม) ให้ถ้วยจมไปถึงระดับเส้นที่ขีดไว้

ต้องใส่ลูกแก้วไป 400 กรัมให้ถ้วยจมไปเท่ากับตอนใส่น้ำ 400 กรัม

การทดลองนี้แสดงว่าลูกแก้ว 400 กรัม หรือน้ำ 400 กรัม ใส่เข้าไปในถ้วย จะทำให้ถ้วยจมลงไปลึกเท่าๆกัน ที่ลอยอยู่ได้ก็เพราะถ้วยลงไปแทนที่น้ำ น้ำที่ถูกแทนที่ก็ผลักดันรวมเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง

จากนั้นผมก็เอาก้อนดินน้ำมันผูกเชือกแล้วชั่งโดยห้อยกับตาชั่ง โดยตอนแรกให้ลอยอยู่ในอากาศ แล้วก็เอาไปจุ่มบางส่วนในน้ำ แล้วก็เอาไปจุ่มในน้ำทั้งหมด ให้เด็กๆดูน้ำหนักที่ตาชั่ง

เมื่อจุ่มก้อนดินน้ำมันลงไปในน้ำ นำ้หนักของมันที่ตาชั่งก็จะลดลง น้ำหนักที่ลดไปนี้ก็เพราะว่าเมื่อของจุ่มลงไปในน้ำ มันต้องดันน้ำให้ย้ายไปที่อื่น น้ำก็ดันสู้ เกิดเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง ขนาดของแรงลอยตัวถูกค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชื่ออาคิมีดีสค้นพบว่าเมื่อจุ่มของลงไปในน้ำ น้ำจะดันของนั้นๆขึ้นด้วยแรงลอยตัวค่าหนึ่ง แรงลอยตัวนี้มีมีค่าเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยของที่จุ่มลงมาครับ

ผมเคยอัดคลิปอธิบายการทดลองนี้ในอดีต:

เวลาที่เหลือเด็กๆได้แยกย้ายกันเล่นใส่ลูกแก้วในกล่องอลูมิเนียม (กล่องขนมเค้กเล็กๆ) ให้พยายามใส่ให้มากที่สุดก่อนจะจมน้ำ (ซึ่งยากขึ้นเพราะกล่องเอียงไม่เท่ากัน)