วิทย์ประถมต้น: แรงลอยตัว = น้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เราได้คุยกันเรื่องแรงลอยตัวกันต่อโดยชั่งน้ำหนักของที่จุ่มในน้ำ เด็กๆพยายามดูว่าน้ำหนักมากแค่ไหนจะกดเรืออลูมิเนียมให้จมน้ำได้

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลกระป๋องลอยครับ:

และให้เด็กๆดูภาพนี้ให้อธิบายว่าเป็นภาพลวงตาอย่างไร:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมชั่งน้ำหนักน้ำให้เด็กๆดู ให้เห็นว่าน้ำ 1 มิลลิลิตร (1 ซีซี) หนัก 1 กรัม

ให้เห็นว่าน้ำหนึ่งแก้วมีปริมาตรประมาณ 200-400 มิลลิลิตร

ให้เห็นขวด 1 ลิตร ใส่น้ำได้ 1,000 มิลลิลิตร และหนัก 1,000 กรัม (หรือ 1 กิโลกรัม)

ชั่งน้ำหนักน้ำที่ปริมาณต่างๆ

จากนั้นเอาถ้วยพลาสติกใส่น้ำเข้าไป 400 มิลลิลิตร คิดเป็นน้ำหนักน้ำ 400 กรัม แล้วเขียนระดับน้ำที่ถ้วยไว้

ใส่น้ำเข้าไป 400 กรัม ขีดเส้นระดับน้ำข้างถ้วยไว้

ถ้าเราเอาถ้วยที่ใส่น้ำไปลอยในอ่าง เราจะสังเกตว่าถ้วยจมไปถึงเส้นที่เราขีดระดับน้ำ และถ้าเทน้ำออกจากถ้วยแล้วใส่ลูกแก้วลงไปแทน ต้องใส่ลูกแก้วลงไปเท่ากับน้ำหนักน้ำตอนต้น (400 กรัม) ให้ถ้วยจมไปถึงระดับเส้นที่ขีดไว้

ต้องใส่ลูกแก้วไป 400 กรัมให้ถ้วยจมไปเท่ากับตอนใส่น้ำ 400 กรัม

การทดลองนี้แสดงว่าลูกแก้ว 400 กรัม หรือน้ำ 400 กรัม ใส่เข้าไปในถ้วย จะทำให้ถ้วยจมลงไปลึกเท่าๆกัน ที่ลอยอยู่ได้ก็เพราะถ้วยลงไปแทนที่น้ำ น้ำที่ถูกแทนที่ก็ผลักดันรวมเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง

จากนั้นผมก็เอาก้อนดินน้ำมันผูกเชือกแล้วชั่งโดยห้อยกับตาชั่ง โดยตอนแรกให้ลอยอยู่ในอากาศ แล้วก็เอาไปจุ่มบางส่วนในน้ำ แล้วก็เอาไปจุ่มในน้ำทั้งหมด ให้เด็กๆดูน้ำหนักที่ตาชั่ง

เมื่อจุ่มก้อนดินน้ำมันลงไปในน้ำ นำ้หนักของมันที่ตาชั่งก็จะลดลง น้ำหนักที่ลดไปนี้ก็เพราะว่าเมื่อของจุ่มลงไปในน้ำ มันต้องดันน้ำให้ย้ายไปที่อื่น น้ำก็ดันสู้ เกิดเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง ขนาดของแรงลอยตัวถูกค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชื่ออาคิมีดีสค้นพบว่าเมื่อจุ่มของลงไปในน้ำ น้ำจะดันของนั้นๆขึ้นด้วยแรงลอยตัวค่าหนึ่ง แรงลอยตัวนี้มีมีค่าเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยของที่จุ่มลงมาครับ

ผมเคยอัดคลิปอธิบายการทดลองนี้ในอดีต:

เวลาที่เหลือเด็กๆได้แยกย้ายกันเล่นใส่ลูกแก้วในกล่องอลูมิเนียม (กล่องขนมเค้กเล็กๆ) ให้พยายามใส่ให้มากที่สุดก่อนจะจมน้ำ (ซึ่งยากขึ้นเพราะกล่องเอียงไม่เท่ากัน)

One thought on “วิทย์ประถมต้น: แรงลอยตัว = น้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.