ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เราทำการทดลองเกี่ยวกับการแทนที่น้ำและวัดปริมาตรกำปั้นของเราโดยการวัดขนาดแรงลอยตัวกัน
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลสลับตัวครับ:
กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ
สัปดาห์นี้เราเล่นกับแรงลอยตัวเป็นสัปดาห์สุดท้ายครับ ทบทวนจากสัปดาห์ที่แล้วว่า น้ำ 1 มิลลิลิตร (1 ซีซี) หนัก 1 กรัม และเมื่อของจุ่มลงไปในน้ำ มันต้องดันน้ำให้ย้ายไปที่อื่น น้ำก็ดันสู้ เกิดเป็นแรงลอยตัวนั่นเอง ขนาดของแรงลอยตัวถูกค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ชื่ออาคิมีดีสค้นพบว่าเมื่อจุ่มของลงไปในน้ำ น้ำจะดันของนั้นๆขึ้นด้วยแรงลอยตัวค่าหนึ่ง แรงลอยตัวนี้มีมีค่าเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยของที่จุ่มลงมาครับ
ผมใช้ถ้วยพลาสติกที่มีหลอดให้น้ำไหลออกอยู่ด้านข้างค่อนไปด้านบน เมื่อใส่น้ำเต็ม น้ำจะไหลออกเรื่อยๆจนถึงระดับรูของหลอดแล้วจะหยุดไหล จากนั้นเมื่อเอาของจุ่มลงไปในน้ำ น้ำที่ไหลออกมาก็คือน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยปริมาตรของสิ่งที่จุ่มลงไปนั่นเอง ผมให้เด็กๆเดาว่าปริมาตรนิ้วชี้ของผมมีขนาดกี่มิลลิลิตร แล้ววัดโดยการจุ่มนิ้วให้น้ำไหลออกมาจากหลอด แล้วชั่งน้ำหนักว่าน้ำที่ไหลออกหนักกี่กรัม คิดเป็นปริมาตรเท่าไร
จากนั้นผมให้เด็กๆสังเกตว่าถ้าเอาภาชนะใส่น้ำและวางไว้บนตาชั่ง เมื่อเอาของไปจุ่มน้ำ น้ำหนักบนตาชั่งจะเพิ่มเท่ากับแรงลอยตัว ซึ่งเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยปริมาตรของที่จุ่มน้ำ
การทดลองต่อไปคือให้เด็กๆวัดปริมาตรของมือและกำปั้นของเขาโดยการจุ่มน้ำในภาชนะที่วางบนตาชั่ง ดูว่าน้ำหนักเพิ่มเท่าไร น้ำหนักที่เพิ่ม = แรงลอยตัว = น้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ ซึ่งเราคำนวณได้ว่าน้ำที่ถูกแทนที่มีปริมาตรเท่าไร เพราะเรารู้ว่าน้ำ 1 กรัมมีปริมาตร 1 มิลลิลิตร