วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องฝุ่น PM2.5 กับสุขภาพ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ
สรุปคือ:
- PM2.5 คือฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (1 ไมครอน = 1 ไมโครเมตร = หนึ่งส่วนล้านเมตร = เล็กกว่า 1 มิลลิเมตรไปพันเท่า) ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ไม่ตกลงพื้นเพราะแรงต้านอากาศและกระแสลม เกิดจากการเผาไหม้ทั้งหลายเช่นเผาทางเกษตรกรรม เครื่องยนต์รถ โรงงานอุตสาหกรรม การปิ้งย่าง ฯลฯ ฝุ่นเหล่านี้มีทั้งเป็นของแข็งและของเหลว หน่วยที่วัดจะเป็นน้ำหนักไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร (μg/m3)
- PM2.5 มีขนาดเล็กมากจึงเข้าไปในปอดเราได้ลึกๆถึงถุงลมเล็กๆที่แลกเปลี่ยนก๊าซกับเลือด ฝุ่นเหล่านี้ซึมเข้าไปในร่างกายผ่านทางนี้ได้ นอกจากนี้ยังอาจมีปฏิกิริยากับผิวหนังและตาของเราด้วย
- พบว่าที่ที่มีมลพิษทางอากาศมาก จะพบผู้ป่วยด้านทางเดินหายใจอักเสบ ด้านหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และมะเร็งปอดมากกว่าที่มลพิษน้อย และคนอาจอายุสั้นลงหลายเดือนถึงหลายปีเมื่ออยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศ
- ทารก เด็ก และคนแก่ได้รับผลกระทบจากมลพิษมากกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง และการแบ่งเซลล์เติบโตในกรณีทารกและเด็ก
- ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ และภูมิแพ้อาจถูก PM2.5 กระตุ้นทำให้อาการกำเริบได้
- ไม่มีวิธีแก้ปัญหา PM2.5 ให้เสร็จได้เร็วๆในปีสองปี ต้องใช้เป็นแผนระยะยาวเป็นสิบปี คือลดการเผาไหม้ทั้งหลาย เช่นหยุดเผาในการเกษตรแล้วทดแทนด้วยวิธีอื่น ลดจำนวนรถที่ใช้น้ำมันโดยเฉพาะดีเซล ตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆให้ลดการเผาไหม้ทางการเกษตร
- ประชาชนสามารถลดผลกระทบต่อตนเองโดยใส่หน้ากาก N95 ในที่โล่งแจ้ง หลบอยู่ในอาคารที่ปรับอากาศหรือฟอกอากาศ ใช้เครื่องฟอกอากาศตามบ้านแบบเป่าหรือดูดอากาศให้วิ่งผ่านไส้กรอง HEPA เป็นหลัก (ไม่แนะนำเครื่องกรองประเภทอื่น) ทานผักผลไม้สะอาดเยอะๆ (ดูเหมือนว่าจะช่วยลดโอกาสป่วย) อย่าตื่นกลัวเกินไปเพราะความกลัวและความกังวลทำให้ป่วยมากขึ้นได้ (Nocebo effect)
ลิงก์น่าสนใจ:
เปรียบเทียบอากาศเมืองที่เราอยู่กับเมืองที่ฝุ่นเยอะๆ
PM2.5 กับผิวหนัง
PM2.5 และสุขภาพโดย WHO
ถามตอบเรื่อง PM2.5 โดย WHO
วัดผลกระทบ PM2.5 กับอัตราการตาย
AQI คืออะไร แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน
แผนที่มลพิษทางอากาศประเทศไทย
วิดีโอว่า PM2.5 เข้าร่างกายอย่างไร:
สร้างโมเดลทำนายปริมาณฝุ่น PM2.5 พบว่าปัจจัยหลักของฝุ่นหน้าหนาวคือการเผาในที่โล่ง
เว็บแผนที่และข้อมูลการเผาไหม้ Fire Information for Resource Management System (FIRMS) โดย NASA
เว็บความร่วมมืออาเซียนเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ ASEAN Specialised Meteorological Center (ASMC)
ทำไมกำหนดมาตรฐาน PM2.5 เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปี
วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องยาหลอก (placebo) เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ
- ยาหลอก (placebo, อ่านว่าพลา-ซี-โบ้) คือสิ่งที่ไม่มีตัวยาในการรักษา (เช่นแคปซูลใส่แต่ผงแป้ง) หรือคือขบวนการรักษาหลอกๆ (เช่นฉีดน้ำกลั่นเข้าเส้นเลือด หรือทำทีว่ามีการรักษาเช่นการกดจุดฝังเข็มมั่วๆ) ใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบว่าการรักษาโรคต่างๆได้ผลหรือไม่ โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับยาจริงๆ อีกกลุ่มได้รับยาหลอก โดยผู้ป่วยไม่ทราบว่าได้ยาจริงหรือยาหลอกไป ถ้าเปรียบเทียบแล้วสองกลุ่มได้ผลเหมือนกันก็แสดงว่ายาจริงๆที่เอามาทดลองไม่ได้มีผลดีกว่ายาหลอก ถ้าการรักษาจะได้ผลทั้งสองกลุ่มต้องได้ผลต่างกันโดยที่กลุ่มได้ยาจริงต้องมีอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างชัดเจน วิธีเปรียบเทียบแบบนี้เรียกว่า Randomized Controlled Trial (RTC)
- บางครั้งการได้ยาหลอกก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น หายปวดหายเจ็บ ในหลายๆโรคที่หายเองได้ด้วยธรรมชาติโรค (เช่นหวัดหรือไข้หวัด) ผู้ป่วยก็อาจคิดว่ายาหลอกที่ได้รับเมื่อป่วยเป็นปัจจัยทำให้โรคหาย
- การที่ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นทั้งๆที่ได้รับยาหลอกเรียกว่าผลจากยาหลอก (placebo effect)
- นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่าผลจากยาหลอกเกิดได้อย่างไร แต่คาดว่าเกิดจากความคิดความรู้สึกทำให้สมองส่งสัญญาณไปตามที่ต่างๆในร่างกายทำให้ร่างกายมีผลตอบสนอง
- อาการปวดอาการเจ็บได้ผลจากยาหลอกมากกว่าอาการอื่นๆ โรคที่เกิดจากเชื้อโรคมักไม่ได้ผลจากยาหลอก
- มีการศึกษาฝังเข็มแบบมั่วๆเทียบกับฝังเข็มตามจุดในตำรา พบว่าได้ผลหายเจ็บปวดเท่าๆกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการฝังเข็มเป็นยาหลอกประเภทหนึ่งที่ทำให้ร่างกายหายปวดได้เองในบางครั้ง
- เมื่อมีคนมาบอกวิธีรักษาโรคให้เราฟัง เราควรคิดเสมอว่าวิธีนั้นๆได้ถูกตรวจสอบโดยการวิจัยเทียบกับยาหลอกหรือวิธีรักษามาตรฐานหรือไม่ (ดูว่ามีการตรวจสอบด้วย RTC หรือไม่) ถ้าไม่มีก็ไม่ควรให้ราคามากแม้ว่าจะมีคนมายืนยันว่าใช้วิธีนั้นๆแล้วหายจากโรค เพราะเราอาจจะได้ยินจากเฉพาะคนที่หายจากโรค (คนตายไม่ได้พูด) หรือโรคหายได้เองตามธรรมชาติในบางคน หรือมีการรักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย หรืออาการดีขึ้นด้วยผลจากยาหลอกก็ได้
- Randomized Controlled Trial (RCT) นอกจะใช้ในการศึกษาว่ายามีฤทธิ์จริงๆหรือไม่ ยังถูกนำไปใช้ศึกษาว่านโยบายพัฒนาต่างๆใช้ได้ผลหรือไม่ รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 2019 เกี่ยวกับการตรวจสอบนโยบายแบบนี้
- ตอนผมเด็กๆ คุณพ่อสอนว่าถ้าอ้าปากไว้จะไม่ปวดปัสสาวะ (ในสถานการณ์นั่งรถไกลๆ) ปรากฎว่าได้ผลจริงๆ แต่เมื่อผมโตขึ้นผมจึงเข้าใจว่าเป็นเทคนิกเบี่ยงเบนความสนใจและทำให้นั่งเงียบๆ เมื่อผมมีลูกผมจึงทดลองบอกเรื่องอ้าปากให้ลูกฟัง ปรากฎว่าใช้ได้ผลกับลูกผมด้วย คาดว่าเป็นผลจากยาหลอกเหมือนกัน
ลิงก์น่าสนใจ:
ผลของยาหลอก (placebo effect):
ตัวอย่างการศึกษาว่ายาหลอกทำงานหรือไม่:
ตัวอย่าง RCT สำหรับการพัฒนาประเทศ:
Esther Duflo ได้รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์โดยการใช้ RCT เปรียบเทียบนโยบายต่างๆว่าอะไรได้ผล อะไรไม่ได้ผล:
The weird power of the placebo effect, explained
วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องน้ำประปาเค็ม เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ
สรุปคือ
- น้ำประปาในกรุงเทพบางส่วนมีรสเค็มเพราะว่าน้ำดิบ (น้ำตั้งต้น) ที่นำมาผลิตน้ำประปามีเกลือและสารละลายอื่นๆมากกว่าปกติ
- ขบวนการผลิตน้ำประปาจากน้ำดิบทำโดยตกตะกอนให้ใส ปรับความเป็นกรดด่าง กรองด้วยกรวดและทราย และฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน ไม่มีส่วนไหนกำจัดเกลือออกจึงทำให้น้ำประปามีเกลือเท่ากับน้ำดิบตั้งต้น
- น้ำดิบที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเค็มเพราะภาวะแห้งแล้ง น้ำจืดน้อย ถูกน้ำทะเลหนุนเข้ามาเจือปนเยอะ (น้ำดิบจากแหล่งอื่นเช่นจากเขื่อนแม่กลองไม่มีปัญหานี้)
- สำหรับคนปกติน้ำประปาเค็มไม่มีอันตรายอะไร ถ้าป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและความดันหรือโรคเรื้อรังอื่นๆก็ควรระวังไม่ควรดื่ม ควรปรึกษาแพทย์ (ที่ควรระวังคือโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันสูง รวมถึงเด็กเล็กและคนชรา)
- ไม่ควรต้มน้ำประปาเค็มแล้วดื่มเพราะมันจะเค็มขึ้น
- แก้เฉพาะหน้าโดยใช้เครื่องกรองน้ำแบบอาร์โอ (RO, Reverse Osmosis) ซึ่งจะกรองเกลือและสารละลายต่างๆออกได้ ใช้ตู้กรองน้ำที่เป็นประเภทอาร์โอ (ตู้กรองน้ำต้องอยู่ในสภาพดี) วัดคุณภาพน้ำเองได้ด้วยเครื่องวัดทีดีเอส (TDS, Total Dissolved Solid) หรือถ้าใช้น้ำจำนวนน้อยก็หาทางกลั่นหรือซื้อน้ำดื่ม นอกจากนี้อาจโทร 1125 ไปรับน้ำจากการประปานครหลวง
- น้ำที่ผ่านเครื่องกรองอาร์โอดื่มได้ปกติ ไม่ต้องกลัวขาดแร่ธาตุ เพราะเราได้แร่ธาตุต่างๆจากอาหารอยู่แล้ว
- ปัญหาน้ำแล้งเป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องจากปัญหาโลกร้อน ต้องหาทางลดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ หาพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในเกษตรกรรม
- หลายประเทศเช่นอิสราเอลและสิงคโปร์มีโรงงานผลิตน้ำจึดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยีประเภทอาร์โอ ต้นทุนการผลิตน้ำยังค่อนข้างสูงเพราะต้องใช้พลังงานมาก (ประมาณพลังงานไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อน้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ถ้าลดต้นทุนพลังงานได้ก็จะเป็นทางเลือกการหาแหล่งน้ำจืดต่อไป
ลิงก์ที่น่าสนใจ:
ระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแบบ Real Time โดยการประปานครหลวง
แหล่งน้ำดิบของการประปานครหลวง
ภาพสรุปขั้นตอนการผลิตน้ำประปา
บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)