วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องฝุ่น PM2.5 กับสุขภาพ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ
สรุปคือ:
- PM2.5 คือฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (1 ไมครอน = 1 ไมโครเมตร = หนึ่งส่วนล้านเมตร = เล็กกว่า 1 มิลลิเมตรไปพันเท่า) ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ไม่ตกลงพื้นเพราะแรงต้านอากาศและกระแสลม เกิดจากการเผาไหม้ทั้งหลายเช่นเผาทางเกษตรกรรม เครื่องยนต์รถ โรงงานอุตสาหกรรม การปิ้งย่าง ฯลฯ ฝุ่นเหล่านี้มีทั้งเป็นของแข็งและของเหลว หน่วยที่วัดจะเป็นน้ำหนักไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร (μg/m3)
- PM2.5 มีขนาดเล็กมากจึงเข้าไปในปอดเราได้ลึกๆถึงถุงลมเล็กๆที่แลกเปลี่ยนก๊าซกับเลือด ฝุ่นเหล่านี้ซึมเข้าไปในร่างกายผ่านทางนี้ได้ นอกจากนี้ยังอาจมีปฏิกิริยากับผิวหนังและตาของเราด้วย
- พบว่าที่ที่มีมลพิษทางอากาศมาก จะพบผู้ป่วยด้านทางเดินหายใจอักเสบ ด้านหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และมะเร็งปอดมากกว่าที่มลพิษน้อย และคนอาจอายุสั้นลงหลายเดือนถึงหลายปีเมื่ออยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศ
- ทารก เด็ก และคนแก่ได้รับผลกระทบจากมลพิษมากกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง และการแบ่งเซลล์เติบโตในกรณีทารกและเด็ก
- ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ และภูมิแพ้อาจถูก PM2.5 กระตุ้นทำให้อาการกำเริบได้
- ไม่มีวิธีแก้ปัญหา PM2.5 ให้เสร็จได้เร็วๆในปีสองปี ต้องใช้เป็นแผนระยะยาวเป็นสิบปี คือลดการเผาไหม้ทั้งหลาย เช่นหยุดเผาในการเกษตรแล้วทดแทนด้วยวิธีอื่น ลดจำนวนรถที่ใช้น้ำมันโดยเฉพาะดีเซล ตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆให้ลดการเผาไหม้ทางการเกษตร
- ประชาชนสามารถลดผลกระทบต่อตนเองโดยใส่หน้ากาก N95 ในที่โล่งแจ้ง หลบอยู่ในอาคารที่ปรับอากาศหรือฟอกอากาศ ใช้เครื่องฟอกอากาศตามบ้านแบบเป่าหรือดูดอากาศให้วิ่งผ่านไส้กรอง HEPA เป็นหลัก (ไม่แนะนำเครื่องกรองประเภทอื่น) ทานผักผลไม้สะอาดเยอะๆ (ดูเหมือนว่าจะช่วยลดโอกาสป่วย) อย่าตื่นกลัวเกินไปเพราะความกลัวและความกังวลทำให้ป่วยมากขึ้นได้ (Nocebo effect)
ลิงก์น่าสนใจ:
เปรียบเทียบอากาศเมืองที่เราอยู่กับเมืองที่ฝุ่นเยอะๆ
วัดผลกระทบ PM2.5 กับอัตราการตาย
AQI คืออะไร แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน
วิดีโอว่า PM2.5 เข้าร่างกายอย่างไร:
สร้างโมเดลทำนายปริมาณฝุ่น PM2.5 พบว่าปัจจัยหลักของฝุ่นหน้าหนาวคือการเผาในที่โล่ง
เว็บแผนที่และข้อมูลการเผาไหม้ Fire Information for Resource Management System (FIRMS) โดย NASA
เว็บความร่วมมืออาเซียนเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ ASEAN Specialised Meteorological Center (ASMC)
ทำไมกำหนดมาตรฐาน PM2.5 เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปี