ยาหลอก (Placebo)

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องยาหลอก (placebo) เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

  1. ยาหลอก (placebo, อ่านว่าพลา-ซี-โบ้) คือสิ่งที่ไม่มีตัวยาในการรักษา (เช่นแคปซูลใส่แต่ผงแป้ง) หรือคือขบวนการรักษาหลอกๆ (เช่นฉีดน้ำกลั่นเข้าเส้นเลือด หรือทำทีว่ามีการรักษาเช่นการกดจุดฝังเข็มมั่วๆ) ใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบว่าการรักษาโรคต่างๆได้ผลหรือไม่ โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับยาจริงๆ อีกกลุ่มได้รับยาหลอก โดยผู้ป่วยไม่ทราบว่าได้ยาจริงหรือยาหลอกไป ถ้าเปรียบเทียบแล้วสองกลุ่มได้ผลเหมือนกันก็แสดงว่ายาจริงๆที่เอามาทดลองไม่ได้มีผลดีกว่ายาหลอก ถ้าการรักษาจะได้ผลทั้งสองกลุ่มต้องได้ผลต่างกันโดยที่กลุ่มได้ยาจริงต้องมีอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างชัดเจน วิธีเปรียบเทียบแบบนี้เรียกว่า Randomized Controlled Trial (RTC)
  2. บางครั้งการได้ยาหลอกก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น หายปวดหายเจ็บ ในหลายๆโรคที่หายเองได้ด้วยธรรมชาติโรค (เช่นหวัดหรือไข้หวัด) ผู้ป่วยก็อาจคิดว่ายาหลอกที่ได้รับเมื่อป่วยเป็นปัจจัยทำให้โรคหาย
  3. การที่ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นทั้งๆที่ได้รับยาหลอกเรียกว่าผลจากยาหลอก (placebo effect)
  4. นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่าผลจากยาหลอกเกิดได้อย่างไร แต่คาดว่าเกิดจากความคิดความรู้สึกทำให้สมองส่งสัญญาณไปตามที่ต่างๆในร่างกายทำให้ร่างกายมีผลตอบสนอง
  5. อาการปวดอาการเจ็บได้ผลจากยาหลอกมากกว่าอาการอื่นๆ โรคที่เกิดจากเชื้อโรคมักไม่ได้ผลจากยาหลอก
  6. มีการศึกษาฝังเข็มแบบมั่วๆเทียบกับฝังเข็มตามจุดในตำรา พบว่าได้ผลหายเจ็บปวดเท่าๆกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการฝังเข็มเป็นยาหลอกประเภทหนึ่งที่ทำให้ร่างกายหายปวดได้เองในบางครั้ง
  7. เมื่อมีคนมาบอกวิธีรักษาโรคให้เราฟัง เราควรคิดเสมอว่าวิธีนั้นๆได้ถูกตรวจสอบโดยการวิจัยเทียบกับยาหลอกหรือวิธีรักษามาตรฐานหรือไม่ (ดูว่ามีการตรวจสอบด้วย RTC หรือไม่) ถ้าไม่มีก็ไม่ควรให้ราคามากแม้ว่าจะมีคนมายืนยันว่าใช้วิธีนั้นๆแล้วหายจากโรค เพราะเราอาจจะได้ยินจากเฉพาะคนที่หายจากโรค (คนตายไม่ได้พูด) หรือโรคหายได้เองตามธรรมชาติในบางคน หรือมีการรักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย หรืออาการดีขึ้นด้วยผลจากยาหลอกก็ได้
  8. Randomized Controlled Trial (RCT) นอกจะใช้ในการศึกษาว่ายามีฤทธิ์จริงๆหรือไม่ ยังถูกนำไปใช้ศึกษาว่านโยบายพัฒนาต่างๆใช้ได้ผลหรือไม่ รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 2019 เกี่ยวกับการตรวจสอบนโยบายแบบนี้
  9. ตอนผมเด็กๆ คุณพ่อสอนว่าถ้าอ้าปากไว้จะไม่ปวดปัสสาวะ (ในสถานการณ์นั่งรถไกลๆ) ปรากฎว่าได้ผลจริงๆ แต่เมื่อผมโตขึ้นผมจึงเข้าใจว่าเป็นเทคนิกเบี่ยงเบนความสนใจและทำให้นั่งเงียบๆ เมื่อผมมีลูกผมจึงทดลองบอกเรื่องอ้าปากให้ลูกฟัง ปรากฎว่าใช้ได้ผลกับลูกผมด้วย คาดว่าเป็นผลจากยาหลอกเหมือนกัน

ลิงก์น่าสนใจ:

ผลของยาหลอก (placebo effect):

ตัวอย่างการศึกษาว่ายาหลอกทำงานหรือไม่:

ตัวอย่าง RCT สำหรับการพัฒนาประเทศ:

Esther Duflo ได้รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์โดยการใช้ RCT เปรียบเทียบนโยบายต่างๆว่าอะไรได้ผล อะไรไม่ได้ผล:

The weird power of the placebo effect, explained

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.