วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องน้ำประปาเค็ม เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ
สรุปคือ
- น้ำประปาในกรุงเทพบางส่วนมีรสเค็มเพราะว่าน้ำดิบ (น้ำตั้งต้น) ที่นำมาผลิตน้ำประปามีเกลือและสารละลายอื่นๆมากกว่าปกติ
- ขบวนการผลิตน้ำประปาจากน้ำดิบทำโดยตกตะกอนให้ใส ปรับความเป็นกรดด่าง กรองด้วยกรวดและทราย และฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน ไม่มีส่วนไหนกำจัดเกลือออกจึงทำให้น้ำประปามีเกลือเท่ากับน้ำดิบตั้งต้น
- น้ำดิบที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเค็มเพราะภาวะแห้งแล้ง น้ำจืดน้อย ถูกน้ำทะเลหนุนเข้ามาเจือปนเยอะ (น้ำดิบจากแหล่งอื่นเช่นจากเขื่อนแม่กลองไม่มีปัญหานี้)
- สำหรับคนปกติน้ำประปาเค็มไม่มีอันตรายอะไร ถ้าป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและความดันหรือโรคเรื้อรังอื่นๆก็ควรระวังไม่ควรดื่ม ควรปรึกษาแพทย์ (ที่ควรระวังคือโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันสูง รวมถึงเด็กเล็กและคนชรา)
- ไม่ควรต้มน้ำประปาเค็มแล้วดื่มเพราะมันจะเค็มขึ้น
- แก้เฉพาะหน้าโดยใช้เครื่องกรองน้ำแบบอาร์โอ (RO, Reverse Osmosis) ซึ่งจะกรองเกลือและสารละลายต่างๆออกได้ ใช้ตู้กรองน้ำที่เป็นประเภทอาร์โอ (ตู้กรองน้ำต้องอยู่ในสภาพดี) วัดคุณภาพน้ำเองได้ด้วยเครื่องวัดทีดีเอส (TDS, Total Dissolved Solid) หรือถ้าใช้น้ำจำนวนน้อยก็หาทางกลั่นหรือซื้อน้ำดื่ม นอกจากนี้อาจโทร 1125 ไปรับน้ำจากการประปานครหลวง
- น้ำที่ผ่านเครื่องกรองอาร์โอดื่มได้ปกติ ไม่ต้องกลัวขาดแร่ธาตุ เพราะเราได้แร่ธาตุต่างๆจากอาหารอยู่แล้ว
- ปัญหาน้ำแล้งเป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องจากปัญหาโลกร้อน ต้องหาทางลดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ หาพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในเกษตรกรรม
- หลายประเทศเช่นอิสราเอลและสิงคโปร์มีโรงงานผลิตน้ำจึดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยีประเภทอาร์โอ ต้นทุนการผลิตน้ำยังค่อนข้างสูงเพราะต้องใช้พลังงานมาก (ประมาณพลังงานไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อน้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ถ้าลดต้นทุนพลังงานได้ก็จะเป็นทางเลือกการหาแหล่งน้ำจืดต่อไป
ลิงก์ที่น่าสนใจ: