(ปลูกภูมิต้านทานการหลอกลวงด้วยเรื่อง)จุดบอดในดวงตาและภาพลวงตา

 

อัลบั้มภาพการเรียนการสอนอยู่ที่นี่ครับ

ถ้าสงสัยว่าไม่เห็นรูปหรือวิดีโอ เข้าไปดูที่เว็บ https://witpoko.com/ นะครับ ส่วนใหญ่ถ้าอ่านในเมล์จะไม่เห็นวิดีโอครับ

(คราวที่แล้วเรื่องวิดีโอหุ่นยนต์นกและถ่ายหนัง Silly Putty กลืนแม่เหล็ก อยู่ที่นี่ครับ)

เปิดเทอมใหม่แล้วครับ วันนี้ผมไปสอนเด็กๆกลุ่มบ้านเรียนปฐมธรรม กลุ่มบ้านเรียนภูมิธรรม และอนุบาลบ้านพลอยภูมิครับ วันนี้เรื่องจุดบอดในตาของเรา และภาพลวงตาต่างๆครับ

ทุกครั้งที่เริ่มเทอมใหม่ ผมจะพยายามคุยกับเด็กๆว่าเราต้องระมัดระวังที่จะเชื่อประสาทสัมผัสต่างๆของเราครับ เนื่องจากประสาทสัมผ้สเรามีข้อจำกัด และเรารับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆด้วยการแปลผลของสมอง และสมองก็ถูกหลอกได้ง่าย คิดไปเองได้ง่าย ถ้าเราไม่ระวัง เราก็รับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถ้าเราสงสัยหรือไม่มั่นใจว่าเรารับรู้ได้ถูกต้องหรือเปล่า เราควรจะหาวิธีใช้อุปกรณ์ที่น่าเชื่อถือมาวัดด้วยครับ จะเชื่อแต่ความรู้สึกหรือความคิดของเราเองไม่ได้  ผมหวังว่าในอนาคตเมื่อเด็กๆเห็นอะไรแปลกๆพิสดารเขาจะได้ไม่รีบเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ต้องพยายามเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรจริงๆก่อน

ก่อนอื่นผมก็คุยเรื่องตาของเราก่อนครับ เรามองเห็นได้โดยแสงวิ่งไปกระทบกับจอรับแสง (เรตินา, Retina) ที่ด้านหลังข้างในลูกตา แต่บังเอิญตาของคนเราวิวัฒนาการมาโดยมีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่บนผิวของจอรับแสง เมื่อจะส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง เส้นประสาทจะต้องร้อยผ่านรูอันหนึ่งที่อยู่บนจอรับแสง รอบบริเวณรูนั้นจะไม่มีเซลล์รับแสง ดังนั้นถ้าแสงจากภายนอกลูกตาไปตกลงบนบริเวณนั้นพอดี ตาจะไม่สามารถเห็นแสงเหล่านั้นได้ บริเวณรูนั้นจึงเรียกว่าจุดบอด หรือ Blind Spot นั่นเอง

จุดบอดหรือ Blind spot อยู่ตรงที่เส้นประสาทรวมกันเป็นเส้นลากจากภายในลูกตาออกมาด้านหลัง ไปยังสมองในที่สุด
(ภาพจาก http://transitionfour.wordpress.com/tag/blind-spot/)
ตาของปลาหมึกทั้งหลายจะไม่มีจุดบอดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเราครับ เนื่องจากเส้นประสาทของปลาหมึกอยู่หลังจอรับแสง จึงไม่ต้องมีการร้อยผ่านรูในจอรับแสงแบบตาพวกเรา
 
วิธีดูว่าเรามีจุดบอดก็ทำได้ง่ายมากครับ แค่เขียนตัวหนังสือตัวเล็กๆบนแผ่นกระดาษสองตัว ให้อยู่ในแนวบรรทัดเดียวกันแต่ห่างกันสักหนึ่งฝ่ามือ จากนั้นถ้าเราจะหาจุดบอดในตาขวา เราก็หลับตาซ้าย แล้วใช้ตาขวามองตัวหนังสือตัวซ้ายไว้นิ่งๆ จากนั้นเราก็ขยับกระดาษเข้าออกให้ห่างจากหน้าเราช้าๆ ที่ระยะๆหนึ่งเราจะไม่เห็นตัวหนังสือตัวขวา นั่นแสดงว่าแสงจากตัวหนังสือตัวขวาตกลงบนจุดบอดเราพอดี

ถ้าจะหาจุดบอดในตาซ้าย เราก็ทำสลับกับขั้นตอนสำหรับตาขวา โดยเราหลับตาขวาแล้วใช้ตาซ้ายมองตัวหนังสือตัวขวาไว้นิ่งๆ อย่ากรอกตาไปมา แล้วเราก็ขยับกระดาษให้ใกล้ไกลหน้าเราช้าๆ ที่ระยะหนึ่งตัวหนังสือตัวซ้ายจะหายไปเพราะแสงจากหนังสือตัวซ้ายตกลงบนจุดบอดตาซ้ายของเราพอดี

 
ถ้าท่านไม่มีกระดาษลองใช้ตัวหนังสือข้างล่างนี่ก็ได้ครับ แต่อาจต้องขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์หน่อย:
 
 
A                                                                                              B
 
 
ลองหลับตาซ้ายแล้วใช้ตาขวามองตัว A ดู ตอนแรกท่านจะเห็นตัว B ด้วย แต่ถ้าขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์ที่ระยะที่เหมาะสม อยู่ๆตัว B ก็จะหายไป และท่านก็จะเห็นพื้นขาวแถวๆนั้นแทน
 
ที่น่าสนใจก็คือสมองเราจะมั่วเองขึ้นมาเลยว่าเราควรจะเห็นอะไรตอนที่แสงจากตัวอักษรตกลงบนจุดบอดพอดี แทนที่จะเห็นจุดดำๆเพราะไม่มีแสงตรงจุดบอด สมองวาดรูปให้เสร็จเลยว่าควรจะเห็นสีพื้นข้างหลังของตัวอักษร
 
ธีญาหาจุดบอดในตาขวา
 
หลังจากเด็กๆได้ทดลองทำการทดลองจุดบอดแล้ว ผมก็เอาภาพลวงตาหลายๆอันให้เด็กๆดู  อันแรกก็คือภาพลวงตาว่ากระดาษชิ้นไหนยาวกว่ากัน วิธีทำก็คือตัดกระดาษออกมาสองชิ้นให้มีขนาดเท่ากัน โดยที่รูปร่างของกระดาษก็คือเป็นรูปคล้ายๆกล้วย ที่ผมทำก็คือเอาแผ่น CD มาทาบกับกระดาษแล้วลากเส้นตามขอบแผ่น CD เป็นเส้นโค้ง แล้วก็ขยับแผ่น CD ไปสักสองสามเซ็นติเมตรแล้วลากเส้นอีก หน้าตาเป็นดังในรูปครับ:
 
 
 
 
ถ้าเอามาประกบกันเราจะรู้สึกว่าชิ้นล่างยาวกว่าชิ้นบนทั้งๆที่มันยาวเท่ากัน สลับไปมาอย่างไรตัวล่างก็ดูยาวกว่าอยู่ดี กลอันนี้ผมบอกให้เด็กๆลองไปทำหลอกพ่อแม่พี่น้องดูที่บ้านครับเพราะทำง่ายมาก

ภาพลวงตาอีกอันก็คือ มังกรลวงตา ซึ่งอาศัยหลักการที่ว่าสมองเมื่อเห็นสิ่งที่คล้ายๆหน้า (คือมีตา จมูก ปาก) ก็จะคิดเองว่าหน้าที่ควรเป็นต้องเป็นหน้านูนๆ (เพราะหน้าของคนและสัตว์เป็นหน้านูนๆทั้งนั้น) พอเราเอากระดาษไปตัดและพับให้เป็นรูปกล่องเว้าเข้าไป แต่มีหน้า ปาก จมูกในที่ที่เหมาะสม สมองก็คิดว่าเป็นหน้าจริงๆ และเมื่อเรามองในมุมต่างๆเราก็จะเห็น “หน้า” ส่ายไปมา มองมาทางเราเสมอ ตัวอย่างมังกรลวงตาเป็นอย่างนี้ครับ:

ส่วนวิธีทำเราก็ไปเอาแบบมาจากที่ http://www.grand-illusions.com/images/articles/opticalillusions/dragon_illusion/dragon.pdf มาพิมพ์บนกระดาษและพับติดกาวครับ ถ้าอยากได้แบบอื่นๆอีกสามารถหาได้จากที่นี่ครับ เวลามองต้องหลับตาหนึ่งข้างนะครับเพราะมังกรมันตัวเล็กถ้าใช้สองตาจะเห็นด้านข้างๆมันง่ายทำให้เกิดภาพลวงตายาก ที่ Singapore Science Center มีเจ้ามังกรตัวนี้ขนาดใหญ่กว่าคนทำให้มองด้วยสองตาก็เห็นภาพลวงตาง่ายครับ

ตอนประกอบมังกร ถ้างงวิธีทำให้ดูวิดีโอคลิปอันนี้ครับ:

เจ้ามังกรลวงตาเนี่ยเป็นแบบหนึ่งของภาพลวงตาที่เรียกว่าภาพลวงตาแบบหน้าเว้า (Hollow-face illusion) ที่สมองอยากจะเห็นหน้านูนๆทั้งๆที่มันไม่ใช่ ถ้าเอาหน้าเว้าไปวางตามทางคนเดิน คนที่เดินผ่านจะเห็นหน้าต่างๆมองตาม แม้ว่าเรารู้ว่ามันไม่ใช่หน้าจริงๆและมันควรจะอยู่เฉยๆก็ตาม บังคับให้ไม่เห็นไม่ได้ ลองดูคลิปตัวอย่างนี้ครับ:

ภาพลวงตาคล้ายๆกับพวกหน้าเว้าก็คือพวกที่ทำให้เรางงว่าอะไรอยู่ใกล้อะไรอยู่ไกลเช่นภาพน็อตประหลาดและเพื่อนๆเหล่านี้:

ต่อไปผมก็ให้เด็กๆดูคลิปที่สมองเดาว่าสิ่งที่เห็นมีความลึกหรือห่างไกลต่างกัน ทำให้กะขนาดวัตถุผิด ในคลิปอันนี้ลองดูสิครับว่าบุหรี่อันไหนยาวกว่ากัน อันนี้วาดเล่นเองได้ง่ายๆครับ:

ในคลิปข้างบน ภาพวาดแบบเพอสเป็คทีฟ (perspective) ทำให้เรารู้สึกถึงความลึกเข้าไปในกระดาษแบนๆ ทำให้เราคิดว่าบุหรี่อันที่อยู่”ลึก”กว่ามีขนาดใหญ่กว่า ทั้งๆที่มันมีขนาดเท่ากัน การตีความแบบนี้ของสมองอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นพระจันทร์หรือพระอาทิตย์ตอนขึ้นหรือตอนตกมีขนาดใหญ่กว่าตอนอยู่สูงๆเหนือหัวเรามากด้วยครับ คือเราให้น้ำหนักว่าของในแนวราบแนวสายตามีระยะไกลกว่าของเหนือหัว พอเราเห็นดวงจันทร์แถวๆขอบฟ้า สมองจึงคิดว่ามันไกลกว่ากว่าตอนมันอยู่เหนือหัว เลยแปลความว่าขนาดมันใหญ่ตอนอยู่แถวๆขอบฟ้า

ภาพลวงตาอีกอันก็คือการที่เราเห็นเส้นขนานเอียงเข้าหากันถ้ามีลายเป็นก้างปลาอยู่ใกล้ๆครับ อันนี้เด็กๆสามารถวาดเล่นได้ไม่ยาก:

ภาพลวงตาอันสุดท้ายแสดงว่าสมองเราเดาว่าสีที่เห็นควรจะเป็นสีอะไร โดยดูจากสีและเงารอบๆ ซึ่งบางครั้งก็ห่างไกลจากความเป็นจริงมาก:

หลังจากดูภาพลวงตาต่างๆเหล่านี้ไปแล้ว ผมก็ย้ำกับเด็กๆว่าให้ระวัง อย่าเชื่อประสาทสัมผัสหรือความจำเรามากเกินไป เพราะเราถูกหลอกง่ายมาก ถ้าจะศึกษาอะไรควรหาทางวัดปริมาณต่างๆดีกว่า จะมีโอกาสหลอกตัวเองน้อยลง

นี่เป็นภาพตัวอย่างจากชั้นเรียนครับ อัลบั้มเต็มอยู่ที่นี่ครับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

One thought on “(ปลูกภูมิต้านทานการหลอกลวงด้วยเรื่อง)จุดบอดในดวงตาและภาพลวงตา”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.