Category Archives: General Science Info

ลิงก์เรื่องกล้องตรวจจับความร้อนและแสงอินฟราเรด

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องกล้องตรวจจับความร้อนและแสงอินฟราเรด เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. มีข่าวที่ผู้หญิงคนหนึ่งไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทย์ มีกล้องจับความร้อนแล้วเธอสังเกตว่าหน้าอกด้านขวาของเธอร้อนกว่าด้านซ้าย จึงไปพบแพทย์ แพทย์ตรวจพบว่ามีมะเร็งเต้านมจึงทำการรักษา สาเหตุที่เห็นในกล้องจับความร้อนก็เพราะว่าเมื่อมะเร็งเติบโตมันจะใช้สารอาหารมากกว่าเนื้อเยื่อรอบๆ จึงมีเส้นเลือดนำเลือดและสารอาหารไปบริเวณนั้นเยอะ จึงทำให้บริเวณนั้นร้อนกว่าปกติ แต่อย่างไรก็ตามหญิงคนนี้โชคดีที่มะเร็งอยู่ใกล้ผิวจึงตรวจพบด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้คัดกรองว่ามีมะเร็งหรือไม่ ควรตรวจด้วยวิธีที่เหมาะสมกว่าเช่นแมมโมแกรม
  2. กล้องจับความร้อนเป็นอุปกรณ์ที่รับแสงอินฟราเรดที่ตาเรามองไม่เห็น มาวาดเป็นรูปด้วยสีที่ตาเรามองเห็น
  3. แสงอินฟราเรดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ช่วงหนึ่งที่ต่ำกว่าความถี่ของแสงสีแดง (อินฟรา = ใต้ เรด = แดง) ตาเรามองไม่เห็นแต่ผิวหนังเรารู้สึกได้เป็นความร้อน (คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเรียงตามความถี่การสั่นจากต่ำไปสูงคือ วิทยุ ไมโครเวฟ อินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น อัลตร้าไวโอเลต เอ็กซ์เรย์ แกมมาเรย์)
  4. วัตถุที่มีอุณหภูมิอุ่นๆร้อนๆจะปล่อยแสงอินฟราเรดออกมาเยอะ ถ้าเรามีเครื่องมือจับเราก็จะ “เห็น” มันได้
  5. สัตว์หลายชนิดเช่นงูเหลือมมีอวัยวะที่ตรวจจับอินฟราเรดได้ ใช้ในการล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตัวอุ่นๆในที่มืดๆได้
  6. มนุษย์ประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจจับแสงอินฟราเรดและนำไปใช้มากมาย เช่นกล้องวงจรปิดในที่มืด (ปล่อยแสงอินฟราเรดทำให้กล้องเห็นเหมือนกลางวัน) กล้องตรวจจับความร้อนดูว่าไฟไหม้ที่ไหนหรือสายไฟที่ไหนร้อนบ้าง กล้องตรวจจับการเติบโตของพืชจากดาวเทียม จรวดนำวิถีด้วยความร้อน กล้องโทรทรรศน์จับแสงอินฟราเรด รีโมททีวี ตรวจกระดองปูเพื่อผลิตปูนิ่ม ฯลฯ
  7. แสงอินฟราเรดผ่านกระจกได้น้อย เหตุผลที่รถที่จอดตากแดดแล้วภายในรถร้อนกว่าข้างนอกก็เพราะว่าแสงที่ตาเห็นได้วิ่งผ่านกระจกเข้าไปในรถ ทำให้ภายในรถร้อนขึ้น สิ่งต่างๆภายในรถที่ร้อนขึ้นก็ปล่อยแสงอินฟราเรดออกมา แต่แสงอินฟราเรดไม่สามารถทะลุกระจกเอาความร้อนออกมาจากรถได้ ทำให้ความร้อนภายในรถสะสมมากขึ้นเรื่อยๆจนร้อนกว่าภายนอก เป็นตัวอย่างหนึ่งของปรากฎการณ์เรือนกระจก (เหตุผลเดียวกับภาวะโลกร้อนโดยที่ก๊าซเรือนกระจกเช่นคาร์บอนไดออกไซด์ทำหน้าที่เหมือนกระจก กันไม่ให้แสงอินฟราเรดพาความร้อนไปทิ้งในอวกาศ)

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

ข่าวผู้หญิงพบมะเร็งด้วยกล้องจับความร้อนที่พิพิธภัณฑ์ Camera Obscura & World of Illusions

ใช้แสงอินฟราเรดตรวจับกระดองปูเพื่อผลิตปูม้านิ่ม:

ความรู้เบื้องต้นเรื่องแสงอินฟราเรดจากนาซ่า

ใช้เว็บแคมสังเกตแสงอินฟราเรดรอบๆตัวเรา:

เอากล้องจับความร้อนส่องสิ่งของรอบๆตัว:

ลิงก์เรื่องการสังเคราะห์คลิปภาพยนต์และเสียงด้วย AI (ข่าวปลอม, DeepFakes)

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องการสังเคราะห์ภาพยนต์และเสียงด้วย AI เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีเปลี่ยนหน้าคนในวิดีโอ และเปลี่ยนเสียงให้เหมือนใครก็ได้ โดยที่คนส่วนใหญ่ดูหรือฟังไม่รู้ว่าเป็นคลิปที่ถูกสร้างขึ้น
  2. ที่ผ่านมาเทคโนโลยีอย่างนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแต่งภาพและสังเคราะห์เสียง ใช้สร้างภาพยนต์ที่นักแสดงเสียชีวิตไปแล้วหรือเพื่อลดวัยของนักแสดง (เช่น Forrest Gump, The Fast and the Furious 7, Rogue One: A Star Wars Story, ฯลฯ) ต้องลงทุนด้วยเงินและเวลาเป็นจำนวนมาก
  3. ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา งานวิจัยด้าน AI เรียนรู้วิธีการแต่งภาพหน้าและสังเคราะห์เสียงจากตัวอย่างภาพและเสียงจนสามารถทำงานได้อัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหรือทุนสูงๆ มีโปรแกรมสำเร็จรูปให้ดาวน์โหลดไปใช้ที่บ้าน
  4. โปรแกรมพวกนี้ทำงานโดยเอาตัวอย่างภาพหน้าคนมาสร้างแบบจำลองสามมิติเพื่อวาดทับไปบนหน้าคนอื่น สร้างแบบจำลองการขยับปากให้เข้ากับเสียงต้องการให้พูด เอาตัวอย่างเสียงมาสังเคราะห์ให้พูดเป็นคำต่างๆแต่มีลักษณะเหมือนผู้พูดต้นฉบับ
  5. เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ในการทำให้คอมพิวเตอร์ติดต่อกับคนด้วยเสียงเป็นธรรมชาติ สามารถสร้างนักอ่านข่าวสังเคราะห์ที่อ่านข่าวเป็นธรรมชาติ สร้างครูสังเคราะห์ในการสอน สร้างตัวละครต่างๆในภาพยนต์
  6. เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีนี้ประกอบอาชญากรรม เช่นปลอมเสียงให้โอนเงิน เปลี่ยนหน้าคนในคลิปอนาจาร สร้างคลิปใส่ร้ายคู่แข่งการเมือง ฯลฯ
  7. ประชาชนและสื่อควรตระหนักว่าสิ่งที่เห็นและได้ยินอาจเชื่อไม่ได้เสมอ ควรตรวจสอบให้ละเอียดมากขึ้น สื่อต่างๆควรจะคัดกรองการแพร่กระจายของสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการปลอมแปลงเพื่ออาชญากรรมหรือไม่
  8. มีการวิจัยเทคโนโลยีตรวจสอบว่าคลิปถูกปลอมแปลงมาหรือไม่ ความสามารถเก่งกว่าคนส่วนใหญ่ แต่ทางฝ่ายปลอมแปลงก็พัฒนามากขึ้น เป็นการแข่งกันสองฝ่าย

ลิงก์น่าสนใจ:

ตัวอย่างคลิปต่างๆที่ r/GifFakes และ r/SFWdeepfakes

ซอฟท์แวร์ DeepFaceLab สำหรับเปลี่ยนหน้าคนในวิดีโอ

งานศิลปะ อ่านบทกวีด้วยหน้าและเสียงดาราดังต่างๆ:

ข่าวสรุปจาก CNN: When seeing is no longer believing

Google และ Facebook จะต่อสู้กับคลิปปลอมได้ไหม/อย่างไร:

นักวิจัยเชื้อชาติไทยคุยเรื่องนี้ที่ TED:

ปัญหาวิดีโอปลอมต่อสังคม:

ตัวอย่างงานวิจัยตรวจจับวิดีโอที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมา:

ลิงก์เรื่องการอยู่กับภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องการอยู่กับภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภัยธรรมชาติจำนวนมากเพราะเป็นเกาะกลางทะเลในบริเวณที่เปลือกโลกชนกันอยู่ มีภูเขาไฟมากกว่าร้อยลูก มีแผ่นดินไหวประมาณ 20% ของโลก มีพายุเข้าปีละเป็นสิบลูก
  2. เขาเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สะสมมา ฝึกประชาชนตั้งแต่เด็กให้รู้จักและเข้าใจว่าต้องทำอะไรในสถานการณ์ต่างๆ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ส่วนบุคคลและต่อส่วนรวม
  3. มีระบบเตือนภัยต่างๆเช่นสถานีวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินกว่า 4,000 สถานีที่สามารถส่งคำเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามที่ฝึกมา หรือส่งข้อมูลให้หยุดรถไฟต่างๆที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว (เนื่องจากยังไม่สามารถทำนายแผ่นดินไหวได้ จึงได้แต่ส่งคำเตือนล่วงหน้าไม่กี่วินาที่จนถึงไม่กี่สิบวินาที่ก่อนที่การไหวรุนแรงจะตามมาจากการเริ่มไหว) มีระบบติดตามพายุต่างๆด้วยดาวเทียมที่ทำงานร่วมกับนานาชาติเพื่อทำนายทิศทาง ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน ข้อมูลเตือนต่างๆเข้าถึงได้ง่ายผ่าน twitter และ app ของรัฐบาล
  4. มีมาตรฐานการก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง ถนน และผังเมืองที่ออกแบบมาเพื่อรองรับภัยธรรมชาติต่างๆ เคร่งครัดในการบังคับใช้
  5. มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่นเจาะชั้นดินดูการทับถมของทรายและโคลนเพื่อดูประวัติและขนาดสึนามิในอดีต มีการวิจัยธรรมชาติของแผ่นดินไหวและการขยับของเปลือกโลก ประดิษฐ์อุโมงค์ยักษ์ที่ทำหน้าที่เหมือนแม่น้ำใต้ดินลงไป 50 เมตรเพื่อช่วยระบายน้ำจากในเมืองออกทะเลให้เร็วขึ้น ฯลฯ

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

วัฒนธรรมสู้ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น:

เรียนรู้ประวัติสินามิในอดีตจากชั้นดินและหินในฝั่ง:

อุโมงค์ยักษ์ใต้ดินระบายน้ำ (ดูภาพสวยๆที่นี่):

กันน้ำท่วมรถไฟใต้ดินด้วยดาวเทียม:

เรื่องภัยจากภาวะโลกร้อนโดยอาจารย์ธรณ์:

เว็บดูพายุต่างๆโดย NOAA