วิทย์ประถม: อากาศร้อนอากาศเย็นขยายตัวหดตัว, Implosion ด้วยความดันอากาศ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เราเรียนรู้กันเรื่องการขยายตัวและหดตัวของอากาศเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง และการยุบตัว (Implosion) ของกระป๋องด้วยความดันอากาศ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลวิทยุหายครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

เราคุยกันเรื่องการขยายตัวและหดตัวของอากาศเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงครับ

เวลาเราเอาขวดพลาสติกมาปิดฝา อากาศภายในและภายนอกขวดจะดันกันไว้พอดี ทำให้ขวดไม่ยุบตัวหรือพองออก แต่ถ้าเราเอาขวดไปตากแดดให้อากาศในขวดร้อนขึ้น อากาศในขวดจะขยายตัวทำให้ขวดบวม หรือถ้าเราทำให้อากาศในขวดเย็นลง อากาศจะหดตัวทำให้ขวดยุบตัว

การทดลองที่ทำง่ายๆก็คือเอาขวดพลาสติกมาใส่น้ำร้อนเข้าไปเล็กน้อย ปิดฝา แล้วเขย่าๆไปมาให้น้ำร้อนทำให้อากาศในขวดร้อน รีบเทน้ำทิ้งแล้วปิดฝาให้แน่น เมื่อเรารอให้อากาศในขวดเย็นลง (หรือเอาไปแช่น้ำเย็น) อากาศในขวดจะหดตัวทำให้ขวดยุบตัว เชิญดูคลิปที่บันทึกมาได้เลยครับ:

ต่อจากนั้นเราดูการยุบตัวด้วยความดันอากาศ เราต้มน้ำในกระป๋องอลูมิเนียม พอเดือดก็เอาไปคว่ำในกาละมังใส่น้ำ:

กระป๋องจะบี้แบนเหมือนโดนเหยียบ เพราะเมื่อต้มน้ำในกระป๋องเปิดจนน้ำเดือด ภายในกระป๋องจะเต็มไปด้วยไอน้ำร้อนๆ เมื่อเอากระป๋องไปคว่ำในน้ำ ไอน้ำจะเย็นลงและควบแน่นเป็นหยดน้ำ ทำให้ปริมาตรลดลงอย่างมาก ความดันภายในกระป๋องลดลงเกือบเป็นสุญญากาศทำให้อากาศภายนอกบีบกระป๋องให้แบนอย่างรวดเร็ว

ถ้ามีเวลา ผมจะพยายามถามนำให้เด็กๆตอบไปทีละขั้นๆ เมื่อต้มน้ำจนเดือดจะเกิดอะไรขึ้น น้ำเหลวๆเปลี่ยนเป็นไอน้ำใช่ไหม ไอน้ำอยู่ที่ไหน อยู่ในกระป๋องใช่ไหม เมื่อคว่ำกระป๋องลงไปในกาละมังใส่น้ำ อุณหภูมิของไอน้ำในกระป๋องจะเป็นอย่างไร มันจะเย็นลง ไอน้ำเมื่อเย็นลงมันจะเป็นอะไร ควบแน่นเป็นหยดน้ำใช่ไหม อยู่ๆไอน้ำเต็มกระป๋องกลายเป็นหยดน้ำเล็กๆ จะเกิดอะไรขึ้น เกิดสุญญากาศไม่มีความดันสู้กับอากาศภายนอก อากาศภายนอกจึงบีบกระป๋องแบนหมดเลย

เมื่อเสร็จการทดลอง ผมปิดเตาไฟแล้วถอดกระป๋องแก๊สหุงต้มออกมาให้เด็กๆจับ มันเย็นมากครับ เย็นเพราะเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวในกระป๋องขยายตัวออกมาเป็นก๊าซครับ เป็นเรื่องเดียวกับการทำงานของเครื่องปรับอากาศ หรือเวลาตัวเราเปียกแล้วมีลมพัดเราจะรู้สึกเย็น เวลาของเหลวกลายเป็นไอมันจะดูดความร้อนจากรอบๆทำให้บริเวณรอบๆเย็นลงครับ

วิทย์ประถม: ใช้ลมยกของ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล เด็กๆทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศเรื่องเป่าลมใส่ถุงจะมีแรงยกมากกว่าเราคาดคิดกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นคนลอยครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมถามเด็กๆว่าเราจะใช้ลมหายใจของเรายกโต๊ะได้ไหม เอาโต๊ะมาวางซ้อนกันแล้วพยายามเป่า แน่นอนโต๊ะไม่ขยับเลย เลยถามต่อว่าใช้อุปกรณ์อื่นมาช่วยจะทำได้ไหม ตกลงคือเอาถุงพลาสติกสอดไว้ระหว่างโต๊ะแล้วเป่าถุงก็สามารถขยับโต๊ะขึ้นได้ นอกจากนี้ถ้าใช้เครื่องช่วยเป่าลมใส่ถุงใหญ่ๆก็สามารถยกตัวคนได้ด้วย:

ถุงลมยกน้ำหนักมากๆได้ก็เพราะว่าขนาดพื้นที่ของถุงมีขนาดใหญ่พอ เมื่อเป่าลมเข้าไปทำให้ถุงมีความดันอากาศ ผิวของถุงก็ช่วยกันพยุงน้ำหนักที่กดทับอยู่ ยิ่งถุงใหญ่เท่าไร (และถ้าวัสดุของถุงมีความทนทานพอ ไม่แตกหรือรั่วเสียก่อน) ถุงก็จะสามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้นเท่านั้น (แต่ก็ต้องแลกด้วยปริมาณอากาศที่ต้องเป่าเข้าไปมากขึ้นเมื่อเทียบกับถุงเล็ก) น้ำหนักที่ยกได้เท่ากับพื้นที่คูณกับความดันอากาศนั่นเอง

หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการทำงานของยางรถยนต์ ยางรถมีความทนทานมากสามารถอัดอากาศความดันสูงๆเข้าไปได้เยอะๆ ทำให้ยางสามารถรับน้ำหนักรถเป็นตันๆได้ครับ

วิทย์ประถม: ทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล วันนี้เด็กทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศเช่นพยายามดึงหลอดฉีดยาที่ปีดปลาย ดูดอากาศออกจากขวดพลาสติก ใช้กระดาษทับไม้บรรทัดไม่ให้กระดก ใช้สุญญากาศยกของต่างๆ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเปลี่ยนแบงค์ครับ:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

คราวนี้เราทำการทดลองเกี่ยวกับความดันอากาศกันหลายอย่าง:

  1. ผมใช้ปากดูดอากาศออกจากขวดน้ำดื่มพลาสติกเปล่าๆ จะพบว่าขวดบุบแบนอย่างรวดเร็ว
  2. ผมให้เด็กๆดึงก้านหลอดฉีดยาโดยใช้นิ้วอุดที่ปลายเปิดกันไม่ให้อากาศเข้า จะพบว่าต้องใช้แรงมากเพื่อดึง
  3. ให้เด็กๆเอายางปั๊มห้องน้ำ (หรือในอีกชื่อคือไม้ปั๊มส้วม) ที่ใหม่ๆยังไม่เคยใช้ มากดกับผิวเรียบแล้วพยายามดึงออก จะพบว่าต้องใช้แรงมาก
  4. เอาอุปกรณ์ขนย้ายกระจกมากดกับผิวเรียบ อุปกรณ์จะติดแน่นกับผิวเรียบ ดึงไม่ออก ถ้าติดกับโต๊ะเล็กๆสามารถยกเด็กขึ้นมาได้
  5. เอาไม้บรรทัดมาวางไว้ให้พ้นขอบโต๊ะ แล้วปล่อยน้ำหนักใส่ที่ปลายที่ยื่นออกมา ไม้บรรทัดจะกระเด็น แต่ถ้าเอากระดาษเรียบไปวางทับที่ปลายที่อยู่บนโต๊ะ เมื่อปล่อยน้ำหนักใส่ ไม้บรรทัดจะอยู่บริเวณเดิม ไม่กระเด็น

ลักษณะกิจกรรมจะเป็นประมาณนี้:

การทดลองต่างๆของเราวันนี้เกี่ยวข้องกับความดันอากาศ

สำหรับความรู้เบื้องต้นเรื่องอากาศ ผมถามเด็กๆว่าเรารู้สึกว่าลมพัดไหม ลมคืออากาศที่เคลื่อนตัว เรารู้สึกได้เพราะอากาศมีตัวตน มีน้ำหนัก คือแถวๆพื้นโลกจะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งกิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (จริงๆประมาณ 1.275 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เมื่อเทียบกับน้ำจะพบว่าน้ำหนาแน่นกว่าอากาศประมาณ 800 เท่า คือน้ำจะมีน้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

เราอยู่บนผิวโลก เราใช้อากาศหายใจ อากาศที่อยู่รอบๆโลกเรียกว่าชั้นบรรยากาศ (Earth Atmosphere) ชั้นบรรยากาศของโลกมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับโลก คือมีอากาศสูงขึ้นไปจากพื้นโลกเพียง 100-200 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดโลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 13,000 กิโลเมตร ชั้นบรรยากาศจะหนาเพียงประมาณ 1% ของขนาดโลกเท่านั้น

แม้ว่าชั้นบรรยากาศจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับโลก แต่มันใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัวเรา น้ำหนักของอากาศที่กดทับลงมาแถวๆพื้นโลกเทียบได้กับน้ำหนักสิบตันต่อตารางเมตรเลยทีเดียว (เทียบได้กับน้ำหนักช้างสองตัวกดลงมาในพื้นที่หนึ่งตารางเมตร หรือประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร) น้ำหนักที่กดลงมาต่อพื้นที่คือความดันอากาศนั่นเอง

ในการทดลองที่ใช้ไม้ปั๊มห้องน้ำหรืออุปกรณ์ย้ายกระจก เวลาเรากดลงไป เราจะไล่อากาศออกไปจากบริเวณที่เบ้ายางประกบกับพื้น ความดันอากาศภายในเบ้ายางจะลดลงตามปริมาณอากาศที่ลดลง ความดันอากาศภายในเบ้ายางจึงน้อยกว่าความดันอากาศภายนอก เบ้ายางจึงถูกกดให้แนบสนิทกับพื้น ทำให้ดึงออกยาก แต่ถ้าพื้นขรุขระ พื้นจะมีช่องเล็กๆให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าไปในเบ้ายางได้ง่ายๆ ทำให้ดึงออกง่าย

ในการทดลองดึงเข็มฉีดยา สาเหตุที่เราใช้แรงมากในการดึงก้านก็เพราะว่าเราต้องสู้กับแรงดันจากความดันอากาศนั่นเอง ถ้าเราไม่อุดปลายหลอดให้อากาศไหลเข้าออกอย่างอิสระ เราจะไม่ต้องใช้แรงมาก แต่ถ้าอุดปลายหลอด เราต้องสู้กับแรงกดจากอากาศภายนอกที่ดันก้านหลอดฉีดยาไม่ให้เคลื่อนที่ออกมา

สำหรับการทดลองที่ปล่อยน้ำหนักใส่ไม้บรรทัด เมื่อเราเอากระดาษไปวางทับไม้บรรทัด อากาศที่กดทับกระดาษจะทำหน้าที่เป็นน้ำหนักกดไม้บรรทัดไม่ให้ขยับด้วย ถ้าขยำกระดาษแผ่นนั้นให้เป็นลูกบอลแล้ววางทับไม้บรรทัด น้ำหนักของลูกบอลกระดาษจะไม่พอที่จะกดไม้บรรทัด ไม้บรรทัดและลูกบอลกระดาษจะกระเด็น

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)