Category Archives: General Science Info

PM2.5 และสุขภาพ

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องฝุ่น PM2.5 กับสุขภาพ เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. PM2.5 คือฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (1 ไมครอน = 1 ไมโครเมตร = หนึ่งส่วนล้านเมตร = เล็กกว่า 1 มิลลิเมตรไปพันเท่า) ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ไม่ตกลงพื้นเพราะแรงต้านอากาศและกระแสลม เกิดจากการเผาไหม้ทั้งหลายเช่นเผาทางเกษตรกรรม เครื่องยนต์รถ โรงงานอุตสาหกรรม การปิ้งย่าง ฯลฯ ฝุ่นเหล่านี้มีทั้งเป็นของแข็งและของเหลว หน่วยที่วัดจะเป็นน้ำหนักไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร (μg/m3)
  2. PM2.5 มีขนาดเล็กมากจึงเข้าไปในปอดเราได้ลึกๆถึงถุงลมเล็กๆที่แลกเปลี่ยนก๊าซกับเลือด ฝุ่นเหล่านี้ซึมเข้าไปในร่างกายผ่านทางนี้ได้ นอกจากนี้ยังอาจมีปฏิกิริยากับผิวหนังและตาของเราด้วย
  3. พบว่าที่ที่มีมลพิษทางอากาศมาก จะพบผู้ป่วยด้านทางเดินหายใจอักเสบ ด้านหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และมะเร็งปอดมากกว่าที่มลพิษน้อย และคนอาจอายุสั้นลงหลายเดือนถึงหลายปีเมื่ออยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศ
  4. ทารก เด็ก และคนแก่ได้รับผลกระทบจากมลพิษมากกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง และการแบ่งเซลล์เติบโตในกรณีทารกและเด็ก
  5. ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ และภูมิแพ้อาจถูก PM2.5 กระตุ้นทำให้อาการกำเริบได้
  6. ไม่มีวิธีแก้ปัญหา PM2.5 ให้เสร็จได้เร็วๆในปีสองปี ต้องใช้เป็นแผนระยะยาวเป็นสิบปี คือลดการเผาไหม้ทั้งหลาย เช่นหยุดเผาในการเกษตรแล้วทดแทนด้วยวิธีอื่น ลดจำนวนรถที่ใช้น้ำมันโดยเฉพาะดีเซล ตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆให้ลดการเผาไหม้ทางการเกษตร
  7. ประชาชนสามารถลดผลกระทบต่อตนเองโดยใส่หน้ากาก N95 ในที่โล่งแจ้ง หลบอยู่ในอาคารที่ปรับอากาศหรือฟอกอากาศ ใช้เครื่องฟอกอากาศตามบ้านแบบเป่าหรือดูดอากาศให้วิ่งผ่านไส้กรอง HEPA เป็นหลัก (ไม่แนะนำเครื่องกรองประเภทอื่น) ทานผักผลไม้สะอาดเยอะๆ (ดูเหมือนว่าจะช่วยลดโอกาสป่วย) อย่าตื่นกลัวเกินไปเพราะความกลัวและความกังวลทำให้ป่วยมากขึ้นได้ (Nocebo effect)

ลิงก์น่าสนใจ:

เปรียบเทียบอากาศเมืองที่เราอยู่กับเมืองที่ฝุ่นเยอะๆ

PM2.5 กับผิวหนัง

PM2.5 และสุขภาพโดย WHO

ถามตอบเรื่อง PM2.5 โดย WHO

วัดผลกระทบ PM2.5 กับอัตราการตาย

AQI คืออะไร แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน

แผนที่มลพิษทางอากาศประเทศไทย

วิดีโอว่า PM2.5 เข้าร่างกายอย่างไร:

สร้างโมเดลทำนายปริมาณฝุ่น PM2.5 พบว่าปัจจัยหลักของฝุ่นหน้าหนาวคือการเผาในที่โล่ง

เว็บแผนที่และข้อมูลการเผาไหม้ Fire Information for Resource Management System (FIRMS) โดย NASA

เว็บความร่วมมืออาเซียนเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ ASEAN Specialised Meteorological Center (ASMC)

ทำไมกำหนดมาตรฐาน PM2.5 เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปี

ยาหลอก (Placebo)

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องยาหลอก (placebo) เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

  1. ยาหลอก (placebo, อ่านว่าพลา-ซี-โบ้) คือสิ่งที่ไม่มีตัวยาในการรักษา (เช่นแคปซูลใส่แต่ผงแป้ง) หรือคือขบวนการรักษาหลอกๆ (เช่นฉีดน้ำกลั่นเข้าเส้นเลือด หรือทำทีว่ามีการรักษาเช่นการกดจุดฝังเข็มมั่วๆ) ใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบว่าการรักษาโรคต่างๆได้ผลหรือไม่ โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับยาจริงๆ อีกกลุ่มได้รับยาหลอก โดยผู้ป่วยไม่ทราบว่าได้ยาจริงหรือยาหลอกไป ถ้าเปรียบเทียบแล้วสองกลุ่มได้ผลเหมือนกันก็แสดงว่ายาจริงๆที่เอามาทดลองไม่ได้มีผลดีกว่ายาหลอก ถ้าการรักษาจะได้ผลทั้งสองกลุ่มต้องได้ผลต่างกันโดยที่กลุ่มได้ยาจริงต้องมีอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างชัดเจน วิธีเปรียบเทียบแบบนี้เรียกว่า Randomized Controlled Trial (RTC)
  2. บางครั้งการได้ยาหลอกก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น หายปวดหายเจ็บ ในหลายๆโรคที่หายเองได้ด้วยธรรมชาติโรค (เช่นหวัดหรือไข้หวัด) ผู้ป่วยก็อาจคิดว่ายาหลอกที่ได้รับเมื่อป่วยเป็นปัจจัยทำให้โรคหาย
  3. การที่ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นทั้งๆที่ได้รับยาหลอกเรียกว่าผลจากยาหลอก (placebo effect)
  4. นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่าผลจากยาหลอกเกิดได้อย่างไร แต่คาดว่าเกิดจากความคิดความรู้สึกทำให้สมองส่งสัญญาณไปตามที่ต่างๆในร่างกายทำให้ร่างกายมีผลตอบสนอง
  5. อาการปวดอาการเจ็บได้ผลจากยาหลอกมากกว่าอาการอื่นๆ โรคที่เกิดจากเชื้อโรคมักไม่ได้ผลจากยาหลอก
  6. มีการศึกษาฝังเข็มแบบมั่วๆเทียบกับฝังเข็มตามจุดในตำรา พบว่าได้ผลหายเจ็บปวดเท่าๆกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการฝังเข็มเป็นยาหลอกประเภทหนึ่งที่ทำให้ร่างกายหายปวดได้เองในบางครั้ง
  7. เมื่อมีคนมาบอกวิธีรักษาโรคให้เราฟัง เราควรคิดเสมอว่าวิธีนั้นๆได้ถูกตรวจสอบโดยการวิจัยเทียบกับยาหลอกหรือวิธีรักษามาตรฐานหรือไม่ (ดูว่ามีการตรวจสอบด้วย RTC หรือไม่) ถ้าไม่มีก็ไม่ควรให้ราคามากแม้ว่าจะมีคนมายืนยันว่าใช้วิธีนั้นๆแล้วหายจากโรค เพราะเราอาจจะได้ยินจากเฉพาะคนที่หายจากโรค (คนตายไม่ได้พูด) หรือโรคหายได้เองตามธรรมชาติในบางคน หรือมีการรักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย หรืออาการดีขึ้นด้วยผลจากยาหลอกก็ได้
  8. Randomized Controlled Trial (RCT) นอกจะใช้ในการศึกษาว่ายามีฤทธิ์จริงๆหรือไม่ ยังถูกนำไปใช้ศึกษาว่านโยบายพัฒนาต่างๆใช้ได้ผลหรือไม่ รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 2019 เกี่ยวกับการตรวจสอบนโยบายแบบนี้
  9. ตอนผมเด็กๆ คุณพ่อสอนว่าถ้าอ้าปากไว้จะไม่ปวดปัสสาวะ (ในสถานการณ์นั่งรถไกลๆ) ปรากฎว่าได้ผลจริงๆ แต่เมื่อผมโตขึ้นผมจึงเข้าใจว่าเป็นเทคนิกเบี่ยงเบนความสนใจและทำให้นั่งเงียบๆ เมื่อผมมีลูกผมจึงทดลองบอกเรื่องอ้าปากให้ลูกฟัง ปรากฎว่าใช้ได้ผลกับลูกผมด้วย คาดว่าเป็นผลจากยาหลอกเหมือนกัน

ลิงก์น่าสนใจ:

ผลของยาหลอก (placebo effect):

ตัวอย่างการศึกษาว่ายาหลอกทำงานหรือไม่:

ตัวอย่าง RCT สำหรับการพัฒนาประเทศ:

Esther Duflo ได้รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์โดยการใช้ RCT เปรียบเทียบนโยบายต่างๆว่าอะไรได้ผล อะไรไม่ได้ผล:

The weird power of the placebo effect, explained

น้ำประปาเค็ม

วันนี้ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องน้ำประปาเค็ม เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ

  1. น้ำประปาในกรุงเทพบางส่วนมีรสเค็มเพราะว่าน้ำดิบ (น้ำตั้งต้น) ที่นำมาผลิตน้ำประปามีเกลือและสารละลายอื่นๆมากกว่าปกติ
  2. ขบวนการผลิตน้ำประปาจากน้ำดิบทำโดยตกตะกอนให้ใส ปรับความเป็นกรดด่าง กรองด้วยกรวดและทราย และฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน ไม่มีส่วนไหนกำจัดเกลือออกจึงทำให้น้ำประปามีเกลือเท่ากับน้ำดิบตั้งต้น
  3. น้ำดิบที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเค็มเพราะภาวะแห้งแล้ง น้ำจืดน้อย ถูกน้ำทะเลหนุนเข้ามาเจือปนเยอะ (น้ำดิบจากแหล่งอื่นเช่นจากเขื่อนแม่กลองไม่มีปัญหานี้)
  4. สำหรับคนปกติน้ำประปาเค็มไม่มีอันตรายอะไร ถ้าป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและความดันหรือโรคเรื้อรังอื่นๆก็ควรระวังไม่ควรดื่ม ควรปรึกษาแพทย์ (ที่ควรระวังคือโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันสูง รวมถึงเด็กเล็กและคนชรา)
  5. ไม่ควรต้มน้ำประปาเค็มแล้วดื่มเพราะมันจะเค็มขึ้น
  6. แก้เฉพาะหน้าโดยใช้เครื่องกรองน้ำแบบอาร์โอ (RO, Reverse Osmosis) ซึ่งจะกรองเกลือและสารละลายต่างๆออกได้ ใช้ตู้กรองน้ำที่เป็นประเภทอาร์โอ (ตู้กรองน้ำต้องอยู่ในสภาพดี) วัดคุณภาพน้ำเองได้ด้วยเครื่องวัดทีดีเอส (TDS, Total Dissolved Solid) หรือถ้าใช้น้ำจำนวนน้อยก็หาทางกลั่นหรือซื้อน้ำดื่ม นอกจากนี้อาจโทร 1125 ไปรับน้ำจากการประปานครหลวง
  7. น้ำที่ผ่านเครื่องกรองอาร์โอดื่มได้ปกติ ไม่ต้องกลัวขาดแร่ธาตุ เพราะเราได้แร่ธาตุต่างๆจากอาหารอยู่แล้ว
  8. ปัญหาน้ำแล้งเป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องจากปัญหาโลกร้อน ต้องหาทางลดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ หาพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในเกษตรกรรม
  9. หลายประเทศเช่นอิสราเอลและสิงคโปร์มีโรงงานผลิตน้ำจึดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยีประเภทอาร์โอ ต้นทุนการผลิตน้ำยังค่อนข้างสูงเพราะต้องใช้พลังงานมาก (ประมาณพลังงานไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อน้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ถ้าลดต้นทุนพลังงานได้ก็จะเป็นทางเลือกการหาแหล่งน้ำจืดต่อไป

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

ระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแบบ Real Time โดยการประปานครหลวง

แหล่งน้ำดิบของการประปานครหลวง

ภาพสรุปขั้นตอนการผลิตน้ำประปา