วิทย์ประถม: เก็บพลังงานในความสูง

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลคนหายตัว แล้วเราก็คุยกันต่อจากคราวที่แล้วที่เราเก็บพลังงานในหนังยางและไม้เสียบลูกชิ้น คราวนี้เราเก็บพลังงานในความสูง (พลังงานศักย์โน้มถ่วง) ให้เด็กๆสังเกตว่าของตกแล้วความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เล่าเรื่องอุกกาบาตที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะมันตกเข้าสู่โลกด้วยความเร็วสูงมากๆ เล่าให้เด็กๆประถมปลายฟังว่าดาวทุกดวงตกเข้าหากันด้วยแรงโน้มถ่วง แต่เพราะส่วนใหญ่ความเร็วพอเหมาะจึงไม่ได้ชนกันแต่เป็นวงโคจรต่างๆแทน จากนั้นเราก็เล่นของเล่นปล่อยลูกแก้วจากที่สูงใส่เป้ากัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นมายากลคนหายตัว:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

กิจกรรมสองครั้งที่แล้วเราคุยกันเรื่องเก็บพลังงานไว้ในหนังยาง และเก็บไว้ในไม้เสียบลูกชิ้น คราวนี้เราจะเก็บพลังงานไว้ในความสูงบ้าง

คราวนี้แทนที่เราจะใช้แรงของเราไปยืดหนังยาง หรือทำให้ไม้เสียบลูกชิ้นงอ เราใช้แรงยกของไปที่สูงๆแทน เมื่อเราปล่อยมือ ของที่เรายกไว้สูงๆก็จะตกสู่พื้นโลก โดยความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วย

ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าเวลามีของตกจากที่สูง มันจะตกเร็วขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก แต่ขณะเดียวกันยิ่งมันตกเร็วเท่าไร แรงต้านอากาศก็จะเพิ่มขึ้นตาม ทำให้ของแต่ละอย่างตกลงมาด้วยความเร็วต่างกันขึ้นอยู่กับรูปร่างความสามารถในการแหวกอากาศและความหนาแน่นของมัน ความเร็วสูงสุดที่ของแต่ละชิ้นที่จะตกลงมาได้เรียกว่า Terminal Velocity สำหรับคนที่กระโดดมาจากเครื่องบินแต่ร่มไม่กางความเร็วสูงสุดจะประมาณ 200-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ขึ้นกับว่ากางแขนขาเพื่อต้านลมหรือเปล่า)  แม้ว่าความเร็วการตกจะเร็วแบบนั้น แต่ก็มีคนรอดชีวิตหลายคนด้วยความโชคดีต่างๆเช่นตกโดนต้นไม้อ่อน ตกโดนสายไฟ ตกลงน้ำ

มีเด็กถามขึ้นมาว่าของในอวกาศมันไม่ตกใช่ไหม ผมเลยเล่าให้ฟังว่าจริงๆแล้วดาวทุกดวงดึงดูดกันด้วยแรงโน้มถ่วง มันจึงตกเข้าหากัน แต่เนื่องจากความเร็วแนวเฉียงๆมีขนาดเหมาะสม ทำให้มันตกเข้าหากันแต่ไม่ชนกัน กลายเป็นการเคลื่อนที่เป็นวงโคจรไปเรื่อยๆ ดวงจันทร์ก็ตกเข้าสู่โลกแต่ความเร็วในแนวเฉียงๆเหมาะสมทำให้มันโคจรรอบโลก โลกก็ตกเข้าสู่ดวงอาทิตย์แต่ความเร็วในแนวเฉียงๆเหมาะสมทำให้โคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นต้น (สำหรับนักเรียนมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย ควรไปศึกษาเรื่อง barycenter เพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมนะครับ)

อุกกาบาตก็เป็นวัตถุที่ถูกโลกดึงดูดด้วยแรงโน้มถ่วงเหมือนกัน แต่ความเร็วแนวเฉียงๆไม่เพียงพอ มันจึงตกเข้าสู่ผิวโลก ยกตัวอย่างเช่นอุกกาบาตที่ตกลงมาบนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนแล้วทำให้สิ่งมีชีวิตประมาณ 70% รวมทั้งไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปก็มีขนาดประมาณ 10 กิโลเมตร และตกใส่โลกด้วยความเร็วสูงมากๆ อุกกาบาตทำความเสียหายได้มากมายก็เพราะความเร็วของมัน อุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่พอจนอากาศต้านให้ช้าไม่ค่อยได้ และตกมาจากระยะไกลๆ (เช่นไกลกว่าดวงจันทร์ขึ้นไป) เวลาตกลงถึงผิวโลกจะมีความเร็วอย่างน้อย 11 กิโลเมตรต่อวินาที หรืออย่างน้อยประมาณ 40,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เร็วกว่าเสียง 30 เท่า, เร็วกว่ากระสุนปืนพก 30 เท่า, เร็วกว่าเครื่องบินโดยสารสามสิบกว่าเท่า, เร็วกว่ากระสุนปืนไรเฟิลประมาณสิบเท่า) ความเร็วนี้เกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลกที่ดึงดูดอุกกาบาตเข้ามา ถ้าอุกกาบาตมีความเร็วเดิมพุ่งเข้าหาโลกอยู่แล้ว ความเร็วที่ตกสู่โลกก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก

พอเล่าเสร็จเราก็เอาหลักการนี้มาเล่นกัน เอาสายพลาสติกใสมาสมมุติว่าเป็นราง เอาลูกแก้วมาสมมุติว่าเป็นรถไฟ แล้วปล่อยลูกแก้วในสายพลาสติกจากที่สูงๆ เด็กๆสังเกตว่าลูกแก้วจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเมื่อตกลงสู่ที่ต่ำ เป็นการเปลี่ยนแปลงพลังงานศักย์โน้มถ่วงเป็นพลังงานจลน์ (ผมเคยบันทึกคำอธิบายที่ละเอียดขึ้นอยู่ที่ “จำลอง “รถไฟเหาะ” การเปลี่ยนรูปพลังงานระหว่างศักย์และจลน์” ครับ) แต่การเล่นคราวนี้เรามีกระป๋องอลูมิเนียมตั้งเป็นเป้าให้เด็กๆเล็งกันเพื่อความสนุกสนานกันด้วย

คลิปนี้มาจากกิจกรรมในอดีตครับ:

ส่วนบรรยากาศกิจกรรมวันนี้เป็นอย่างนี้ครับ สนุกสนานกันดี:

วิทย์ประถม: เก็บพลังงานในไม้เสียบลูกชิ้น

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลมนุษย์ซิกแซก แล้วเราก็คุยกันต่อจากคราวที่แล้วที่เราเก็บพลังงานในหนังยาง คราวนี้เราเก็บพลังงานในไม้เสียบลูกชิ้นที่บิดให้โค้งครับ ได้เห็นว่าวัสดุต่างๆสั่นได้ทั้งนั้น ขนาดใหญ่สั่นช้าๆ (ความถี่ต่ำ) ขนาดเล็กๆสั่นเร็วๆ (ความถี่สูง) 

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลมนุษย์ซิกแซก:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

สืบเนื่องจากคราวที่แล้วที่เราใช้แรงของเรายืดหนังยางให้เปลี่ยนรูปร่าง (เก็บพลังงานศักย์) แล้วปล่อยมือให้หนังยางคืนรูป ปล่อยกระสุนออกไปด้วยความเร็ว (เปลี่ยนพลังงานศักย์เป็นพลังงานจลน์) คราวนี้เราจะใช้วัสดุอื่นเก็บพลังงานกันครับ

ผมคุยกับเด็กๆเรื่องความยืดหยุ่นของวัสดุต่างๆ ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าวัสดุหลายๆอย่าง ถ้าเราไปกดหรืองอมันแล้วปล่อย มันจะกระเด้งกลับสู่รูปเดิม(ตราบใดที่เราไม่ไปกดหรืองอมันมากเกินไปจนรูปร่างมันเปลี่ยนไปถาวร) วัสดุเช่นไม้ เหล็ก พลาสติกแข็งๆ หนังยาง ต่างเป็นเช่นนี้ทั้งนั้น เราต้องออกแรงทำให้วัสดุเหล่านี้เปลี่ยนรูปร่าง แต่เมื่อเราปล่อยวัสดุก็จะขยับตัวกลับหารูปร่างเดิมของมัน ตอนเราทำให้มันเปลี่ยนรูปร่างเราใส่พลังงานเข้าไปในวัสดุ พลังงานที่ถูกเก็บไว้เป็นพลังงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปร่างของวัตถุ เมื่อวัตถุคืนรูปร่างเดิมก็จะปล่อยพลังงานนั้นออกมา พลังงานที่วัสดุเก็บไว้เมื่อเปลี่ยนรูปร่างนี้เรียกได้ว่าเป็นพลังงานศักย์ที่เกี่ยวกับการยืดหยุ่นของวัตถุ  แล้วผมก็ยกตัวอย่างเอาไม้บรรทัดมากดติดกับโต๊ะแล้วกดให้งอเล็กน้อยโดยวางยางลบไว้บนไม้บรรทัด เมื่อปล่อยไม้บรรทัดก็จะดีดยางลบให้ลอยขึ้น ตัวอย่างอื่นๆที่เด็กคิดว่าเป็นปรากฏการณ์คล้ายๆกันก็คือ กระดานกระโดดน้ำ แทรมโปลีน ไม้ง่ามยิงหนังสติ๊ก

ไม้บรรทัดดีดยางลบ

เด็กๆได้สังเกตว่าความยาวของไม้บรรทัดมีผลกับการสั่นของมัน ถ้ายาวก็จะสั่นด้วยความถี่ต่ำ ถ้าสั้นก็สั่นด้วยความถี่สูง วัสดุของไม้บรรทัดก็มีผลกับความถี่การสั่น ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าความถี่ที่วัตถุสั่นเองเมื่อเราไปเคาะ บิด หรือดีดมันเรียกว่าความถี่ธรรมชาติความถี่ธรรมชาติของวัตถุแต่ละชิ้นจะมีหลายความถี่ และขึ้นอยู่กับรูปทรง ขนาด และประเภทวัสดุครับ มีเด็กๆป.5และป.6 สังเกตว่าการกดสายกีต้าร์ทำให้ความยาวสายที่สั่นเปลี่ยนไปทำให้สั่นด้วยความถี่จึงเกิดเสียงสูงต่ำต่างไปด้วยครับ

เปรียบเทียบการสั่นของไม้บรรทัดที่ทำด้วยวัสดุต่างๆที่ความยาวต่างๆ

จากนั้นผมก็เอาไม้เสียบลูกชิ้น (ที่ไม่มีปลายแหลม) ออกมาดัดให้งอแล้วปล่อยให้กลับรูปเดิม จะเห็นมันดีดเร็วๆแต่ดูไม่แรงอะไรนัก แต่เมื่อเอากระดาษมาม้วนเป็นหลอดแน่นๆแล้วงอเป็นรูปตัว U (เหมือนสัปดาห์ที่แล้ว) มาปล่อยจากไม้เสียบลูกชิ้น จะพบว่ามันวิ่งออกไปด้วยความเร็วสูงเกินคาดครับ

ดีดกระสุนกระดาษด้วยไม้เสียบลูกชิ้น

จากนั้นเด็กๆก็แยกย้ายกันเล่นดังในคลิปบรรยากาศห้องเรียนครับ:

เมื่อใกล้จะหมดเวลา ผมเอาคลิปการสร้างคันธนูและลูกธนูแบบคนสมัยโบราณมาให้เด็กๆดูครับ ให้เห็นหลักการทำงานเดียวกัน:

แนะนำช่อง Primitive Technology ครับ เขาประดิษฐ์สิ่งต่างๆแบบโบราณ:

วิทย์ประถม: เก็บพลังงานในหนังยาง

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากลเลื่อยคนไม่ตาย แล้วเราก็รู้จักว่าแทนที่เราจะขว้างของโดยตรง เราสามารถใช้แรงของเราไปเปลี่ยนรูปร่างวัตถุ(ให้เก็บพลังงานศักย์เอาไว้) แล้วปล่อยให้วัตถุคืนรูปทรงสร้างการเคลื่อนไหวเร็วๆ (เปลี่ยนพลังงานศักย์เป็นพลังงานจลน์) แล้วเราก็เล่นยิงกระสุนด้วยหนังยางกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เป็นกลเลื่อยคนไม่ตาย:

กิจกรรมหัดอธิบายมายากลนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าวัสดุหลายๆอย่าง ถ้าเราไปกดหรืองอมันแล้วปล่อย มันจะกระเด้งกลับสู่รูปเดิม(ตราบใดที่เราไม่ไปกดหรืองอมันมากเกินไปจนรูปร่างมันเปลี่ยนไปถาวร) วัสดุเช่นไม้ เหล็ก พลาสติกแข็งๆ หนังยาง ต่างเป็นเช่นนี้ทั้งนั้น เราต้องออกแรงทำให้วัสดุเหล่านี้เปลี่ยนรูปร่าง แต่เมื่อเราปล่อยวัสดุก็จะขยับตัวกลับหารูปร่างเดิมของมัน ตอนเราทำให้มันเปลี่ยนรูปร่างเราใส่พลังงานเข้าไปในวัสดุ พลังงานที่ถูกเก็บไว้เป็นพลังงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปร่างของวัตถุ เมื่อวัตถุคืนรูปร่างเดิมก็จะปล่อยพลังงานนั้นออกมา พลังงานที่วัสดุเก็บไว้เมื่อเปลี่ยนรูปร่างนี้เรียกว่าเป็นพลังงานศักย์ที่เกี่ยวกับการยืดหยุ่นของวัตถุ  ปรากฏการณ์คล้ายๆกันก็คือ กระดานกระโดดน้ำ แทรมโปลีน ไม้ง่ามยิงหนังสติ๊ก ธนู เป็นต้น

ผมฉีกกระดาษมาขยำให้เป็นลูกกลมๆแน่นๆเล็กๆแล้วขว้างด้วยมือเต็มแรง จะพบว่าไปไม่ไกลมาก เพราะความเร็วมือของผมที่ขว้างยังไม่สูงพอ แต่เมื่อใช้กระดาษขนาดเดียวกันม้วนเป็นหลอดแน่นๆแล้วงอเป็นตัว U แล้วใช้หนังยางยิงออกไปจะไปไกลกว่าและเร็วกว่า โดยที่ผมใช้แรงของมือผมไปดึงให้หนังยางเปลี่ยนรูป (เก็บพลังงานศักย์) แล้วปล่อยให้หนังยางคืนรูปทำให้กระสุนกระดาษพุ่งออกไปด้วยความเร็ว (เปลี่ยนพลังงานศักย์เป็นพลังงานจลน์)

จากนั้นเด็กๆก็เล่นใช้หนังยางยิงกระสุนใส่เป้ากันอย่างสนุกสนานครับ:

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)