วิทย์ประถม: คลื่นเสียงและการสั่นสะเทือน ส่งเสียงไปตามท่อ โทรศัพท์เส้นเชือก

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมครับ เราหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล ดูคลื่นในสปริงจำลองการเคลื่อนที่ของคลื่นเสียง ส่งเสียงผ่านท่อยางที่ป้องกันไม่ให้คลื่นเสียงกระจายและอ่อนกำลังลง และเล่นของเล่นโทรศัพท์แก้วพลาสติก+เชือกกันครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลสั้นๆสองคลิปนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน วันนี้คือกลห่วง และตัดตัวในกล่องครับ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

เราคุยกันเรื่องเสียงต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว (วิทย์ประถม: เสียง กล่องเสียง หู และปี่หลอด) ผมเล่าว่างเราได้ยินเสียงเพราะการสั่นสะเทือนทำให้อากาศหรือตัวกลางอื่นๆเปลี่ยนรูปร่างทำให้เกิดคลื่นเสียงวิ่งมาเข้าหูเราทำให้แก้วหูเราสั่น เช่นเมื่อเราตะโกน การสั่นสะเทือนจากในคอของเราจะทำให้อากาศสั่นตาม การสั่นสะเทือนชองอากาศจะกระจายจากปากของเราออกไปทุกทิศทาง เมื่อระยะไกลมากขึ้นขนาดของการสั่นสะเทือนจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้เสียงเบาเกินกว่าที่จะได้ยินเมื่อระยะทางมากพอ

ถ้าเรามีวิธีบังคับให้การสั่นสะเทือนวิ่งไปในทิศทางที่เราต้องการ เช่นเอามือป้องปาก หรือพูดผ่านโทรโข่ง เสียงในทิศทางนั้นก็จะดังขึ้น ทำให้เสียงได้ยินไกลมากขึ้น

ถ้าเราบังคับให้เสียงวิ่งไปตามท่อยาง การสั่นสะเทือนส่วนใหญ่จะวิ่งไปตามอากาศในท่อยาง ทำให้สามารถฟังเสียงกระซิบไกลๆได้ คนเราใช้วิธีส่งเสียงไปตามท่อนี้ในตึกหรือในเรือโดยไม่ต้องใช้โทรศัพท์หรือวิทยุมานานเป็นพันปีแล้วครับ วันนี้เราเล่นโดยติดกรวยพลาสติกที่ปลายทั้งสองของสายยางยาวๆ แล้วให้เด็กๆผลัดกันพูดเบาๆและฟัง พบว่าได้ยินชัดดีมากๆ

เนื่องจากเราไม่เห็นอากาศสั่น ผมจึงเอาสปริงยาวๆมาให้เด็กๆดูเป็นแบบจำลองว่าคลื่นในสปริงเป็นตัวอย่างคล้ายๆคลื่นในอากาศ ให้เด็กๆขยับสปริงดู เห็นว่าคลื่นวิ่งผ่านกันได้

Posted by Pongskorn Saipetch on Tuesday, 30 November 2021

จากนั้นเราก็เล่นของเล่นโทรศัพท์ที่ทำจากถ้วยพลาสติกสองอันที่เชื่อมกันด้วยเชือกยาวๆ เมื่อดึงให้เชือกตึง การสั่นสะเทือนที่ถ้วยหนึ่งจะส่งผ่านเชือกไปทำให้อีกถ้วยหนึ่งสั่นสะเทือนตาม ทำให้สามารถพูดที่ถ้วยหนึ่งแล้วอีกคนฟังอีกถ้วยได้

ถ้าเชือกหย่อนการหรือใช้วัสดุยืดหยุ่นเช่นสปริง หรือหนังยาง เสียงก็จะไปไม่ถึงอีกถ้วย (แต่จะได้ยินเสียงแปลกๆถ้าลองดีดสปริงหรือหนังยางดู)

ถ้าวัสดูที่ทำถ้วยหนาหรือแข็งเกินไป การสั่นสะเทือนจากการพูดจะทำให้ถ้วยสั่นน้อย ทำให้อีกข้างไม่ค่อยได้ยิน

พออธิบายว่าของเล่นทำได้อย่างไร เด็กๆก็แยกย้ายกันเล่นครับ:

วิทย์ม.ต้น: ดูคลื่นเสียงและสเปกตรัมของมัน

วิทย์ม.ต้นวันนี้เราทบทวนความรู้เบื้องต้นเรื่องเสียง ซึ่งข้อมูลจะมีตามลิงก์เหล่านี้:

  1. เสียง กล่องเสียง หู และปี่หลอด (อย่าลืมดูคลิปต่างๆในลิงก์นี้)
  2. How Well Do Dogs and Other Animals Hear?

จากนั้นเราคุยกันเรื่องอัดเสียงด้วยโปรแกรมต่างๆเช่น Audacity เราจะเห็นกราฟความดันอากาศที่ไม่โครโฟนวัดที่เวลาต่างๆ ถ้าเราซูมเข้าไปจะเห็นเป็นคลื่น ภาพเหล่านี้จะเกิดจากการซูมดูรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ (สังเกตได้จากเวลาเป็นวินาทีในแนวนอน):

เราสามารถดูว่าเสียงที่เราอัดมามีความถี่ต่างๆผสมกันอย่างไรโดยการวาดกราฟสเปกตรัมของมัน (ใน Audacity สามารถใช้เมนู Analyze/Plot Spectrums…) แกนนอนสเปกตรัมคือความถี่ต่างๆ ความสูงของกราฟจะบอกว่ามีพลังงานอยู่ในความถี่ต่างๆเหล่านั้นเท่าไร:

ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือ เราสามารถใช้แอพหลายตัวเพื่ออัดคลื่นเสียงและดูสเปกตรัมของมันได้ ยกตัวอย่างเช่น SpectrumView สำหรับ iOS หรือ Spectrum Analyzer สำหรับ Android

นอกจากนี้เราสามารถใช้แอพ Phyphox ทำการทดลองหลายๆชนิดด้วยโทรศัพท์รวมถึงการอัดเสียงและหาสเปกตรัมด้วย

เราคุยกันเรื่องการสร้าง”ลายนิ้วมือของเสียง” (audio fingerprinting) โดยการดูรูปแบบสเปกตรัมของเสียงต่างๆเมื่อเวลาเปลี่ยนไป สามารถนำไปประยุกต์ในบริการถามชื่อเพลงเช่น Shazam เป็นต้น เรื่องที่คุยจะเป็นสรุปของลิงก์นี้: How does Shazam work 

วิทย์ประถม: เสียง กล่องเสียง หู และปี่หลอด

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทยาศาสตร์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้รู้จักว่าการสั่นสะเทือนที่เข้าหูของเราทำให้เกิดเสียง ได้ดูคลิปการทำงานของกล่องเสียงที่คอของเรา ประถมปลายได้เห็นส่วนประกอบของหู เด็กๆได้เล่นปี่ที่ทำจากหลอดพลาสติกกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลสั้นๆสองคลิปนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน วันนี้คือตัดไพ่ในกล่อง และหมุนกลับหัว:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ

ผมให้เด็กๆเอามือจับคอแล้วพูดให้สังเกตว่ามือรู้สึกอย่างไรครับ เด็กๆบอกได้ว่ามือมันสั่นๆ ผมบอกว่าในคอเรามีกล่องเสียง (Larynx) ที่เป็นท่อล้อมรอบเส้นเสียง (Vocal Cords) ที่จะสั่นไปมาเวลาเราพูดหรือส่งเสียงต่างๆ เราต้องใช้อากาศจากปอดของเราพ่นให้ผ่านเส้นเสียงและสมองจะบังคับเส้นเสียงให้ขยับ ให้ตึงหรือหย่อน ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน การสั่นสะเทือนนี้จะกระทบอากาศในคอทำให้อากาศสั่นสะเทือนด้วย อากาศสั่นสะเทือนเป็นทอดๆออกมาจากคอ ทำให้อากาศสะเทือนไปเรื่อยๆจนเข้ามาในหู ทำให้แก้วหูสะเทือนและส่งสัญญาณไปสมองของผู้ฟังทำให้ได้ยิน

ผมให้เด็กๆดูคลิปกล้องที่ส่องลงไปทางจมูกเพื่อดูเส้นเสียงขณะคนร้องเพลงครับ:

เด็กร้องยี้กันใหญ่เพราะมันน่าเกลียด แต่เราทุกคนก็เป็นอย่างนี้แหละครับ อีกคลิปที่อยากให้เด็กๆดูถ้าสนใจคือคลิปที่ส่องไฟกระพริบเร็วๆ (Stroboscope) ให้ใกล้กับความถี่การสั่นของเส้นเสียง จะได้เห็นการเคลื่อนที่ของเส้นเสียงเป็น slo-motion ครับ:

ในวิดีโอข้างบนเราจะเห็นว่าเวลาเราเปล่งเสียงตำ่เส้นเสียงจะหย่อนกว่าเวลาเราเปล่งเสียงสูง นอกจากนี้เส้นเสียงของผู้ชายมักจะใหญ่กว่าผู้หญิง จึงสั่นที่ความถี่ (ครั้งต่อวินาที) ต่ำกว่าของผู้หญิง เสียงผู้ชายจึงมักจะต่ำกว่าเสียงของผู้หญิงด้วยครับ

สำหรับประถมปลายผมอธิบายขบวนการการได้ยินด้วยหูครับ ให้เด็กๆดูรูปหูแบบเป็นภาพตัดให้เห็นส่วนประกอบข้างในก่อน:

ภาพส่วนประกอบของหู จาก https://www.pinterest.com/explore/external-ear-anatomy/ ครับ

เราก็จะเห็นใบหู (pinna) รูหู (auditory canal หรือ ear canal) เยื่อแก้วหู (tympanic membrane) กระดูกสามชิ้น (ค้อน ทั่ง โกลน — hammer, anvil, stirrup) ท่อยูสเทเชียนที่ต่อหูส่วนกลางกับปาก (eustachian tube) โคเคลีย (cochea ที่เป็นรูปก้นหอย) และอุปกรณ์หลอดครึ่งวงกลมสำหรับการทรงตัว (semicircular canls)  ส่วนประกอบเหล่านี้แบ่งเป็นหูชั้นนอก (ใบหูถึงเยื่อแก้วหู) ชั้นกลาง (ในเยื่อแก้วหู กระดูกสามชิ้น และท่อยูสเทเชียน) และชั้นใน (โคเคลียและอุปกรณ์ทรงตัว)

ถึงตอนนี้ผมก็แทรกข้อมูลที่ว่าเวลาเราขึ้นที่สูงเช่นขึ้นลิฟท์ ขึ้นเขา หรือขึ้นเครื่องบิน ความดันอากาศภายนอกจะน้อยลง อากาศที่อยู่ในหูชั้นกลางมีความดันมากกว่า ทำให้เราหูอื้อ พอเราอ้าปาก หาว หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง อากาศในหูก็จะสามารถออกมาทางปากผ่านทางท่อยูสเทเชียนได้ ทำให้เราหายหูอื้อ

ขบวนการฟังเสียงก็คือ ความสั่นสะเทือนวิ่งผ่านอากาศหรือตัวกลางอื่นๆเช่นพื้น วิ่งเข้ามาในรูหู ทำให้เยื่อแก้วหูสั่นตาม เยื่อแก้วหูติดกับกระดูกค้อนเลยทำให้กระดูกค้อนสั่น กระดูกค้อนอยู่ติดกับกระดูกทั่งเลยทำให้กระดูกทั่งสั่น กระดูกทั่งติดกับกระดูกโกลนเลยทำให้กระดูกโกลนสั่น กระดูกโกลนติดอยู่กับผนังของโคเคลียเลยทำให้ผนังของโคเคลียสั่น ในโคเคลียมีของเหลวอยู่เลยมีคลื่นในของเหลว คลื่นนี้ทำให้ขนของเซลล์การได้ยินขยับไปมา ทำให้เซลล์การได้ยินส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่สมอง แล้วสมองก็ตีความว่าได้ยินอะไร มีวิดีโอคลิปให้เด็กๆดูครับ (ภาพการทำงานเริ่มที่ประมาณ 3:00 นาทีครับ):

ส่วนอันนี้เป็นภาพขนของเซลล์การได้ยิน (Hair Cell) ในโคเคลียครับ:

ขนของเซลล์การได้ยิน จะสั่นไปมาเวลามีเสียงมากระทบหู

 ขนเหล่านี้มีจำนวนจำกัด ถ้าเราได้ยินเสียงดังมากๆ ขนอาจจะหักหรืองอได้ ทำให้เราหูตึงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเด็กๆควรจะระมัดระวังไม่ฟังเสียงดังมากๆเช่นเสียงประทัด เสียงเจาะถนน เสียงปืน เสียงเครื่องบินใกล้ๆ เพื่อรักษาหูไว้ให้อยู่ในสภาพดีๆไปนานๆ สาเหตุที่เราฟังเสียงสูงได้น้อยลงไปเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้นก็เพราะว่าเจ้าขนในโคเคลียสำหรับฟังเสียงสูงจะอยู่ใกล้ด้านนอกของหูที่สุดครับ มันจึงพังก่อนอันข้างในๆที่ฟังเสียงต่ำกว่า ทำให้คนที่ยิ่งมีอายุก็จะไม่ค่อยได้ยินเสียงสูงๆครับ

แล้วก็ถึงช่วงเวลาสำคัญคือของเล่น ผมสอนเด็กๆให้ทำของเล่นปี่หลอดกาแฟครับ วิธีทำก็คือเอาหลอดกาแฟมากดๆให้ปลายข้างหนึ่งแบนๆ แล้วตัดปลายข้างนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม  แล้วเอาปากเม้มปลายนั้นเข้าปาก แล้วเป่าเป็นเสียงแตร ถ้าหลอดอ่อนๆหน่อย (เช่นพวกหลอดตรง ราคาถูกๆ) ก็จะเป่าให้ดังได้ง่าย ถ้าหลอดแข็ง (เช่นพวกหลอดงอได้ ราคาแพงกว่า) ก็จะเป่าให้ดังยากกว่า เวลาที่เราเป่าส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมที่อยู่ในปากเราจะสั่นไปมาทำให้เกิดเสียง ถ้าเราตัดหลอดให้มีความยาวต่างๆกัน เสียงที่ได้ก็จะสูงต่ำต่างกันด้วย ดูวิดีโอวิธีทำได้ครับ:

ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ในช่องเด็กจิ๋ว&ดร.โก้ด้วยครับ:

พอเด็กๆได้เห็นวิธีทำก็มารับหลอดไปคนละหลอดแล้วแยกย้ายกันไปทำเองครับ เป่ากันอย่างสนุกสนานและหนวกหูดีมาก

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)