วิทย์ประถม: กล้องรูเข็มและวิวัฒนาการของตา

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมที่ศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้เห็นว่าตาของสัตว์มีหลากหลายแบบ เห็นตาของหอยงวงช้าง (หอยนอติลุส) ที่ไม่มีเลนส์แบบตาของเรา แต่เป็นรูที่น้ำเข้าได้ ทำงานแบบกล้องรูเข็มที่เรามาเล่นกันวันนี้ เด็กประถมปลายได้เริ่มรู้จักขบวนการวิวัฒนาการ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลในคลิปนี้ครับ เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย คราวนี้เรื่องสะกดจิตให้แขนแข็งแรง:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

จากนั้นเราคุยเรื่องตากันต่อจากสัปดาหที่แล้ว (วิทย์ประถม: แบบจำลองของดวงตา, เลนส์นูนเลนส์เว้า) เด็กๆได้เห็นความหลากหลายของตาแบบต่างๆของสัตว์:

เด็กประถมปลาย ได้ดูคลิปอธิบายการวิวัฒนาการของตา จากเซลล์ที่รับแสงได้อยู่บนผิวแบนๆรู้แต่ว่ามืดและสว่าง กลายเป็นเซลล์รับแสงอยู่ในรอยบุ๋มลงไปที่รับรู้ทิศทางของแสง จนกระทั้งเป็นตาแบบกล้องรูเข็มและตาที่มีเลนส์อยู่ด้านหน้าแบบตาพวกเราที่สามารถมองเห็นภาพได้ครับ:

ภาพนี้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Evolution_of_the_eye แสดงให้เห็นว่าตาแบบต่างๆมีความสามารถในการมองแบบต่างๆกัน:

ในภาพข้างบน สีเหลืองคือเซลล์รับแสง คือถ้ามีแสงมาตกที่เซลล์มันจะส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทไปที่สมองว่ามีแสงมาตกตรงนี้ ในภาพ a ตาแบบนี้มีเซลล์เรียงอยู่เป็นแผ่นแบนๆดังนั้นจะรับแสงได้ว่าสว่างหรือมืด แต่จะไม่เห็นภาพอะไรชัดเจน ภาพ b เซลล์รับแสงอยู่ในแอ่งลงไป จะดีกว่าแบบ a ตรงที่เริ่มจับทิศทางว่าแสงหรือเงาอยู่ทิศทางไหน ตัวอย่างตาแบบนี้คือหนอนแบนตัวเล็กที่เรียกว่าพลานาเรียน (Planarian ถ้ามากกว่าหนึ่งตัวเรียกว่าพลานาเรีย Planaria)

ตัวพลานาเรีย

ภาพ c และ d แอ่งลึกลงไปและรูรับแสงมีขนาดเล็กเหมือนกล้องรูเข็ม ตาแบบนี้จะเริ่มเห็นภาพแต่ภาพจะมืดๆเพราะแสงเข้าไปได้น้อย ภาพ c จะไม่มีอะไรปิดรูรับแสง หอยงวงช้าง (Nautilus) จะมีตาแบบนี้ ภาพ d จะมีเยื่อใสๆปิดกันน้ำกันฝุ่นและมีของเหลวอยู่ภายในตา

หอยงวงช้างนอติลุสครับ สังเกตตามันที่มีรูเล็กๆเหมือนรูเข็ม
ตาหอยงวงช้างครับ

งูบางชนิดจะมีรูรับแสงอินฟราเรด (คลื่นความร้อน) ทำหน้าที่เหมือนตาแบบรูเข็มสำหรับล่าเหยื่อเลือดอุ่นในที่มืดด้วยครับ

รูรับแสงอินฟราเรดของงูเหลือมและงูหางกระดิ่งครับ (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Infrared_sensing_in_snakes):

งูมีอวัยวะที่ใช้ “มอง” คลื่นความร้อนหรือแสงอินฟราเรดที่เรามองไม่เห็นครับ มันเลยล่าสัตว์เลือดอุ่นในที่มืดได้

ภาพ e และ f คือตาที่มีเลนส์รวมแสงแทนที่จะเป็นรูเล็กๆ จะเห็นภาพได้ชัดและสว่างกว่า แบบ f มีม่านตาคอยขยายหรือหุบเพื่อปรับปริมาณแสงที่เข้าไปในตาด้วยครับ ตาของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นแบบ f

พวกเราเล่นกล้องรูเข็มซึ่งทำงานเหมือนกับตาของหอยงวงช้าง ผมให้เด็กๆดูรูปนี้:

แล้วบอกว่าสมมุติว่ากล่องสี่เหลี่ยมนั้นคือตาของหอยงวงช้าง มีรูเล็กๆอยู่ข้างหนึ่ง และมีแผงเซลล์รับแสงอยู่ด้านตรงข้าม แสงที่ตกกระทบวัตถุ(รูปต้นไม้หัวตั้ง)จะสะท้อนจากวัตถุและแสงส่วนหนึ่งก็วิ่งผ่านรูเล็กๆแล้วไปตกที่เซลล์รับแสง แล้วเซลล์รับแสงก็จะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปให้สมองแปลผล รูยิ่งเล็กเท่าไรแสงก็เข้าได้น้อยเท่านั้น แต่แสงที่วิ่งผ่านในแต่ละทิศทางจะไม่ปนกับแสงจากทิศทางอื่นๆ ทำให้แสงที่ตกบนแผงเซลล์รับแสง(รูปต้นไม้กลับหัว-กลับซ้ายขวา)มีความคมชัด ไม่เบลอจากการผสมของแสงจากหลายๆทิศทาง ข้อเสียก็คือตาที่เป็นรูเล็กๆต้องการแสงสว่างมากๆ ถ้าแสงภายนอกน้อย แสงก็ผ่านรูน้อย ตาก็มองไม่เห็น ถ้าจะให้ตาไวแสง รูก็ต้องใหญ่ขึ้นให้แสงผ่านมากขึ้น แต่แสงที่วิ่งเข้ามาก็ปนกับแสงจากทิศทางใกล้ๆกันมากขึ้น ทำให้ภาพที่ตกที่แผงเซลล์รับแสงไม่คมชัด

จากนั้นผมก็เอากล้องรูเข็มสองแบบมาให้เด็กๆเล่นกัน วิธีทำดังในคลิปนี้ครับ:

วิทย์ประถม: แบบจำลองของดวงตา, เลนส์นูนเลนส์เว้า

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมที่ศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กๆหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ได้ดูและเล่นแบบจำลองลูกตาที่ทำจากโคมกระดาษ เลนส์นูน และแผ่นผลาสติกขุ่น ได้สังเกตการกลับหัวกลับหางของภาพบนเรตินา เด็กประถมปลายได้เรียนรู้เรื่องเลนส์เว้า เลนส์นูน และแว่นตา

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลสั้นๆในคลิปเหล่านี้ครับ ประถมต้นดูสองอันแรก ประถมปลายดูอันที่สาม เด็กๆดูกลก่อนแล้วพยายามอธิบายก่อนเฉลย มีเรื่องนมเยอะขึ้นตามขนาดแก้ว, ผ้าพันคอล่องหน, และเสกแมลงวันให้ฟื้นคืนชีพ:

กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็น และหวังว่าเมื่อโตไปจะไม่ถูกหลอกง่ายๆครับ

สัปดาหที่แล้วเด็กๆได้รู้จักลูกตาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ได้เห็นส่วนประกอบต่างๆดังในรูปนี้:

สัปดาห์นี้เราเลยมาเล่นแบบจำลองของลูกตากัน ให้สังเกตว่าเลนส์ด้านหน้ารวมแสงให้เป็นภาพที่จอรับภาพ (เรตินา) ด้านหลังของตาได้อย่างไร ได้สังเกตว่าภาพที่จอรับภาพจะกลับหัวกลับหาง บนลงล่าง ซ้ายไปขวา แต่สมองจะตีความแล้วกลับทิศทางให้เรา

ให้เด็กๆสังเกตว่าถ้าจอรับภาพอยู่ใกล้หรือไกลเกินไปจากเลนส์ ภาพก็จะไม่ชัด เหมือนอาการสายตายาวสายตาสั้น

วิธีทำแบบจำลองก็คือเอาโคมกระดาษญี่ปุ่นมายืดให้เป็นกลมๆคล้ายๆลูกตา โคมจะมีช่องเปิดสองด้าน  เราก็เอาเลนส์รวมแสงแบนๆที่เรียกว่าเลนส์เฟรเนล (Fresnel Lens) มาติดที่ช่องเปิดด้านหนึ่ง เลนส์นี้จะทำหน้าที่เหมือนเลนส์ในตาของเรามีหน้าที่รวมแสงไปที่จอรับภาพในดวงตา 

สำหรับส่วนจอรับภาพ ผมตัดพลาสติกขุ่นๆมาจากถุงก๊อบแก๊บ แล้วไปติดที่ช่องเปิดอีกด้านของโคมครับ เราจะได้มองเห็นว่ามีภาพอะไรมาตกที่จอรับภาพด้านหลังดวงตา

สำหรับท่านที่จะทำตามแต่ไม่มีเลนส์แบนๆแบบ Fresnel ท่านใช้เลนส์นูนของแว่นขยายก็ได้ครับ สาเหตุที่ผมใช้เลนส์ Fresnel ก็เพราะว่าน้ำหนักเบา และระยะโฟกัสไม่ยาวเกินไป ถ้าโฟกัสยาวกว่าขนาดโคมกระดาษ เลนส์ก็ต้องเลยไปข้างหน้าของโคม ทำให้ดูไม่ค่อยเหมือนลูกตาครับ

หน้าตาของมันเหมือนดังในคลิปครับ:

ในคลิปเราจะเห็นการใช้เลนส์นูนแก้ปัญหาสายตายาวที่ภาพตกเลยจอรับภาพได้ด้วย

ภาพที่จอรับภาพก็จะเป็นประมาณนี้:

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมเอาชุดทดลองที่มีแสงเลเซอร์สองหรือสามเส้นมายิงให้ผ่านเลนส์ประเภทต่างๆว่าเลนส์นูนจะรวมแสง เลนส์เว้าจะกระจายแสง เลนส์แว่นตาสำหรับสายตาสั้นจะเป็นเลนส์เว้า เลนส์แว่นตาสำหรับสายตายาวจะเป็นเลนส์นูนครับ:

วิทย์ประถม: การมองเห็น ภาพลวงตา

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เราพูดคุยกันเรื่องการมองเห็น ส่วนประกอบของตา จุดบอดของตา สมองวาดภาพต่างๆจากสัญญาณไฟฟ้าจากประสาทตา และตัวอย่างภาพลวงตา เด็กๆประถมปลายหัดทำภาพลวงตาหนอนสีน้ำเงินและสีเหลืองกระดึ๊บไม่พร้อมกัน

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

ผมถามเด็กๆว่าเรามองเห็นได้อย่างไร ต้องใช้อวัยวะอะไรบ้าง เด็กๆก็ตอบกันว่าต้องมีลูกตา ต้องมีสมอง เราจึงคุยกันก่อนว่าลูกตาทำอะไร

เรามองเห็นได้โดยแสงวิ่งไปกระทบกับจอรับแสง (เรตินา, Retina) ที่ด้านหลังข้างในลูกตา แต่บังเอิญตาของคนเราวิวัฒนาการมาโดยมีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่บนผิวของจอรับแสง เมื่อจะส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง เส้นประสาทจะต้องร้อยผ่านรูอันหนึ่งที่อยู่บนจอรับแสง รอบบริเวณรูนั้นจะไม่มีเซลล์รับแสง ดังนั้นถ้าแสงจากภายนอกลูกตาไปตกลงบนบริเวณนั้นพอดี ตาจะไม่สามารถเห็นแสงเหล่านั้นได้ บริเวณรูนั้นจึงเรียกว่าจุดบอด หรือ Blind Spot นั่นเอง

จุดบอดหรือ Blind spot อยู่ตรงที่เส้นประสาทรวมกันเป็นเส้นลากจากภายในลูกตาออกมาด้านหลัง ไปยังสมองในที่สุด
(ภาพจาก http://transitionfour.wordpress.com/tag/blind-spot/)

ตาของปลาหมึกทั้งหลายจะไม่มีจุดบอดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเราครับ เนื่องจากเส้นประสาทของปลาหมึกอยู่หลังจอรับแสง จึงไม่ต้องมีการร้อยผ่านรูในจอรับแสงแบบตาพวกเรา  

วิธีดูว่าเรามีจุดบอดก็ทำได้ง่ายมากครับ แค่เขียนตัวหนังสือตัวเล็กๆบนแผ่นกระดาษสองตัว ให้อยู่ในแนวบรรทัดเดียวกันแต่ห่างกันสักหนึ่งฝ่ามือ จากนั้นถ้าเราจะหาจุดบอดในตาขวา เราก็หลับตาซ้าย แล้วใช้ตาขวามองตัวหนังสือตัวซ้ายไว้นิ่งๆ จากนั้นเราก็ขยับกระดาษเข้าออกให้ห่างจากหน้าเราช้าๆ ที่ระยะๆหนึ่งเราจะไม่เห็นตัวหนังสือตัวขวา นั่นแสดงว่าแสงจากตัวหนังสือตัวขวาตกลงบนจุดบอดเราพอดี  

ถ้าจะหาจุดบอดในตาซ้าย เราก็ทำสลับกับขั้นตอนสำหรับตาขวา โดยเราหลับตาขวาแล้วใช้ตาซ้ายมองตัวหนังสือตัวขวาไว้นิ่งๆ อย่ากรอกตาไปมา แล้วเราก็ขยับกระดาษให้ใกล้ไกลหน้าเราช้าๆ ที่ระยะหนึ่งตัวหนังสือตัวซ้ายจะหายไปเพราะแสงจากหนังสือตัวซ้ายตกลงบนจุดบอดตาซ้ายของเราพอดี 

ถ้าไม่มีกระดาษลองใช้ตัวหนังสือข้างล่างนี่ก็ได้ครับ แต่อาจต้องขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์หน่อย:    

A                                                                                              B    


ลองหลับตาซ้ายแล้วใช้ตาขวามองตัว A ดู ตอนแรกจะเห็นตัว B ด้วย แต่ถ้าขยับหน้าเข้าใกล้จอคอมพิวเตอร์ที่ระยะที่เหมาะสม อยู่ๆตัว B ก็จะหายไป และจะเห็นพื้นขาวแถวๆนั้นแทน   ที่น่าสนใจก็คือสมองเราจะมั่วเองขึ้นมาเลยว่าเราควรจะเห็นอะไรตอนที่แสงจากตัวอักษรตกลงบนจุดบอดพอดี แทนที่จะเห็นจุดดำๆเพราะไม่มีแสงตรงจุดบอด สมองวาดรูปให้เสร็จเลยว่าควรจะเห็นสีพื้นข้างหลังของตัวอักษร อันนี้เป็นตัวอย่างแรกที่เด็กๆได้เข้าใจว่าสมองเรามีความสามารถ “มั่ว” แค่ไหนครับ 

เด็กๆเขียน A และ B แล้วหาจุดบอดในตาของเขากัน:

เมื่อเรารู้ว่าเรามองเห็นได้อย่างไร เราก็คุยกันว่าการที่คนเราจะตาบอดมองไม่เห็น จะเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง เราก็รวบรวมได้ว่าเราจะตาบอดถ้า ลูกตาแตกเสียหาย เลนส์ตาขุ่น (เช่นจากต้อ) เรตินาพัง (เช่นนักมวยถูกชกหัวกระเด้งไปมาจนเรตินาหลุดจากหลังลูกตา) เส้นประสาทพัง หรือสมองส่วนที่วาดภาพจากสัญญาณจากตาพัง

สำหรับเด็กประถมต้น ผมให้เด็กๆดูภาพต่างๆที่เด็กๆจะเห็น “หน้า” ในวัตถุครับ ตัวอย่างเช่น:

สมองพวกเราซึ่งเป็นสัตว์สังคม มีความสามารถในการตรวจจับหน้าของคนหรือสัตว์อื่นๆ เพราะความสามารถในการอ่านท่าทางและอารมณ์มีความสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก็จะเห็น “หน้า” ในวัตถุต่างๆที่ไม่มีหน้าจริงๆ ยกตัวอย่างที่โด่งดังก็คือหน้าคนบนดาวอังคาร (The Face on Mars) ที่ยานอวกาศถ่ายรูปมาหลายสิบปีก่อน:

เมื่อเวลาผ่านไป มีภาพถ่ายบริเวณเดิมที่คุณภาพสูงขึ้น ทำให้เราเห็นว่ามันเป็นเนินเขาที่บังเอิญมีแสงเงาทำให้เราตีความเป็นหน้าคนครับ:

ถ้าเราหรี่ตาให้ภาพเบลอๆ เราก็จะเห็นหน้าอีกครับ

ให้เด็กๆดูบางส่วนขอคลิปนี้ที่เราเห็น “ประตู” บนดาวอังคารด้วย:

พวกเราดูคลิปวิดีโอที่แสดงว่าเราจะเห็นชัดๆได้ในบริเวณเล็กๆด้านหน้าของเราเท่านั้น ภาพที่อยู่นอกบริเวณนั้นจะไม่ชัด คลิปเป็นแบบนี้ครับ:

ให้เด็กๆไปพยายามสังเกตว่าตาของเพื่อนจะขยับไปมาเรื่อยๆเสมอเพื่อดูให้ชัดทั่วๆด้วยครับ (saccadic eye movement)

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้ดูภาพลวงตาอันนี้ด้วย:

เราทุกคนจะเห็นว่ากล่องสีเหลืองและสีน้ำเงินขยับไม่พร้อมกันเวลามันไม่แตะกัน แต่ถ้าเราหยุดภาพแล้วพิมพ์ออกมาวัด เราจะพบว่าทุกกล่องเคลื่อนที่ขึ้นลงพร้อมๆกันครับ

เราตัดกระดาษเพื่อทำภาพลวงตาแบบนี้ด้วย วิธีดังในคลิปนี้:

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)