วิทย์ม.ต้น: ตรวจสอบว่าอะไรได้ผลหรือไม่ อย่างไร

วันนี้ผมลองให้เด็กๆคิดกันว่าจะแยกแยะว่าสิ่งต่างๆที่มีคนจะมาขายให้เรามันใช้ได้จริงหรือไม่อย่างไรครับ 

เนื่องจากมีคนแชร์วิดีโอสัมมนาเปลี่ยนชีวิตกันเยอะ มีคนตั้งตัวเป็น Life Coach เปิดคอร์สสอนกันเยอะ ผมเลยอยากให้เด็กๆสังเกตและคิดว่าเราจะทดสอบอย่างไรว่าคอร์สแต่ละอันได้ผลหรือไม่

ผมให้เด็กๆดูคลิปนี้ครับ เพลงทำนองสนุกดี:

ดูเสร็จแล้วถามเด็กๆว่ามีหลายคนบอกว่าไปเข้าคอร์สแล้วได้ผลดี เช่นบางคนเข้าไปแล้วออกมาขยายธุรกิจร่ำรวย เด็กๆคิดว่าอย่างไร และจะตรวจสอบว่าสัมมนาได้ผลอย่างไร บันทึกไว้บนไวท์บอร์ดอย่างนี้ครับ หมึกสีเขียวจะเป็นความเห็นเด็ก ผมสรุปด้วยสีน้ำตาลและสีม่วง:

เด็กๆมีวิจารณญาณสูงกว่าผู้ใหญ่ทั่วๆไปในสังคมไทยครับ! เด็กๆเข้าใจไอเดียเกี่ยวกับหลักฐานโดยเรื่องเล่า  (anecdotal evidence) แม้ว่าเขาจะไม่รู้จักคำที่ใช้เรียกไอเดียนี้ก็ตาม เข้าใจว่าถ้าดูคนที่บอกว่าเข้าคอร์สแล้วดีแล้วประสบความสำเร็จทีละคนจะใช้เป็นหลักฐานฟันธงไม่ได้เพราะว่ามีสาเหตุอีกมากมายที่แต่ละคนอาจจะประสบความสำเร็จก็ได้  (ความเห็นเด็กๆคือ 1. ความรวยอาจจะเกิดอย่างอื่นก็ได้  2. คนร่วมสัมมนาได้ผลสำเร็จกันหมดไหม 3. ถ้าได้ผล คนน่าจะรวยหมด)

ต่อไปผมถามว่าจะตรวจสอบอย่างไรว่าสัมมนาได้ผลหรือไม่อย่างไร เด็กๆมีไอเดียว่า 1. ให้ดู % คนสำเร็จต่อจำนวนคนเข้าร่วม 2. เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของสัมมนา ซึ่งทั้งสองข้อนี้เราก็ยังใช้ฟันธงไม่ได้อยู่ดี จนกระทั่งมีเด็กอีกคนหนึ่งเสนอว่าให้ 3. ทดสอบเหมือนทดสอบยา แยกคนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ยาจริง อีกกลุ่มให้ยาปลอม แล้วดูว่าผลต่างกันไหม ต่างกันแค่ไหน

ผมเลยสรุปให้เด็กๆฟังว่าใช่แล้ว การทดลองว่าอะไรได้ผลไม่ได้ผลเนี่ยต้องเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (control group) เสมอ ต้องระวังว่าผลที่ได้ไม่ได้เกิดจากปรากฎการณ์ยาหลอก (placebo effect) วิธีที่ต้องเรียนรู้ต่อไปในอนาคตก็คือการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม 

ผมบอกเด็กๆว่าในอนาคตเวลามีใครจะมาขายอะไรให้เรา (เช่น ยา สัมมนา ดูดวง อาหาร วิธีทำธุรกิจ ฯลฯ) เราก็ควรคิดว่าควรทดสอบด้วยวิธีทำนองนี้ครับ

 

ลูกโป่งใหญ่ vs. ลูกโป่งเล็ก การแกว่งของลูกตุ้มแม่เหล็ก กลความดันอากาศ

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นได้สังเกตและเดาว่าเมื่อเอาลูกโป่งใหญ่กับลูกโป่งเล็กมาต่อกันด้วยท่อ ลมจะวิ่งจากลูกไหนไปลูกไหน เด็กประถมปลายได้ดูคลิปสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋งคือเป้าลูกดอกที่วิ่งหาลูกดอกเองทำให้ขว้างโดนกลางเป้าเสมอ และได้สังเกตการแกว่งของลูกตุ้มที่ทำจากแท่งแม่เหล็กที่ห้อยมาจากแม่เหล็กด้านบนอีกที พบว่าความถี่การสั่นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก่อนจะหยุด คล้ายๆเวลาฝาโลหะกลมหรือเหรียญหมุนเอียงๆจนหยุด เด็กอนุบาลสามได้หัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วที่อาศัยความดันอากาศและแรงตึงผิวของน้ำครับ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “ขนาดของอากาศร้อนอากาศเย็น ความดันและความเร็วอากาศ กลน้ำไม่หก” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้น ผมเอาลูกโป่งมาเล่นกับเด็กๆครับ ทดลองเป่าลูกโป่งให้ใหญ่ๆ ให้เด็กจับหรือแนบกับแก้ม ปล่อยลมออก แล้วให้เด็กสังเกตว่าลูกโป่งเย็นลงไหม พบว่าลูกโป่งเย็นลงครับ ผมมาลองวัดอุณหภูมิดูทีหลังพบว่าเย็นลง 5℃ เลยครับ:

จากนั้นก็ให้เด็กๆทายกันว่าถ้าเอาลูกโป่งใหญ่มาต่อกับลูกโป่งเล็ก ลูกไหนจะใหญ่ขึ้น เด็กๆส่วนใหญ่คิดว่าลูกเล็กจะใหญ่ขึ้นครับ พอเราทายกันเสร็จก็ลองทำการทดลองแบบนี้ครับ:

คนส่วนใหญ่ (ผมด้วย) เมื่อเห็นครั้งแรกจะคิดว่าลมจะวิ่งจากลูกโป่งใหญ่ไปลูกโป่งเล็กครับ ปรากฎว่าเป็นตรงกันข้ามเลย กลายเป็นว่าลมจากลูกโป่งเล็กวิ่งไปลูกใหญ่ซะนี่ จริงๆถ้าเราสังเกตตอนเราเป่าลูกโป่งเราจะรู้สึกได้ว่าตอนแรกของการเป่าจะยาก พอลูกโป่งใหญ่ถึงระดับหนึ่งจะเป่าง่ายขึ้น แสดงว่าความดันอากาศในลูกโป่งใหญ่มันน้อยกว่าในลูกโป่งเล็ก ลมจึงไหลจากลูกเล็กไปลูกใหญ่ครับ (สำหรับนักเรียนฟิสิกส์ ถ้าสนใจการคำนวณ ลองดูที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้ดูคลิปวิดีโอสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋ง คือเป้าที่วิ่งตามลูกดอกครับ:

ผมแปลให้เด็กๆฟังเรื่องการใช้กล้องหลายๆตัวมองลูกดอกจะได้รู้ตำแหน่งลูกดอกเมื่อเวลาใดๆ เรื่องกล้องตรวจจับแสงอินฟราเรดที่ส่องออกมาแต่ตาคนมองไม่เห็น (กล้องจะได้ไม่งงกับของอื่นๆนอกจากลูกดอก) และเรื่องการติดพลาสติกสะท้อนแสงกลับ (retroreflector) ไว้ที่ลูกดอกเพื่อให้กล้องเห็นลูกดอกชัดๆครับ แนะนำให้เด็กๆติดตามช่อง YouTube ของคนนี้เพราะเขาทำของเล่นน่าสนุกดี

จากนั้นก็ให้เด็กๆสังเกตและทดลองแกว่งลูกตุ้มแม่เหล็กว่าอยู่ได้นานแค่ไหนครับครับ หน้าตามันจะเป็นประมาณนี้:

มันจะแกว่งเร็วขึ้นเรื่อยๆก่อนที่จะหยุดครับ ให้เด็กสังเกตว่ามันคล้ายๆกับเหรียญหรือฝาอะไรกลมๆที่กลิ้งวนกับพื้นที่จะกลิ้งแกว่งเร็วขึ้นเรื่อยๆก่อนจะหยุด เป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Euler’s Disk (จานของออยเลอร์) ครับที่เหรียญหรือจานจะกลิ้งเร็วขึ้นเรื่อยๆก่อนจะล้ม ถ้าเหรียญมีน้ำหนักเยอะหน่อยก็จะอยู่ได้นานมากครับ มีคนทำให้ดูบน YouTube ครับ:

สำหรับลูกตุ้มแม่เหล็กก็ทำงานคล้ายๆกัน แต่ลูกตุ้มถูกดูดขึ้นติดเพดานไว้ครับ แรงแม่เหล็กทำหน้าที่เหมือนแรงโน้มถ่วงในกรณี Euler’s Disk 

สำหรับเด็กๆอนุบาลสามทับหนึ่ง โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมให้ทดลองหัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วและน้ำไม่ผ่านตะแกรงครับ

วิธีทำกลน้ำไม่หกจากแก้วก็คือเอาแก้วใส่น้ำ เอาแผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งเรียบๆมาปิด แล้วกลับแก้วให้คว่ำลง แผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งที่ปิดไว้ก็จะติดอยู่และน้ำก็ไม่หกจากแก้วครับ:

สำหรับกลน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง เราเอาตะแกรงร่อนแป้งที่เป็นรูๆมาให้เด็กๆทุกคนดูว่ามีรู เทน้ำใส่ก็ไหลผ่าน เป่าก็มีลมผ่าน แล้วเอาน้ำใส่แก้ว เอาตะแกรงวางข้างบน เอามือปิดด้านบนของตะแกรงให้คลุมปากแก้วด้านล่างไว้ แล้วพลิกเร็วๆให้แก้วใส่น้ำคว่ำอยู่ด้านบนตะแกรง เราจะพบว่าน้ำในแก้วไม่ไหลผ่านตะแกรงลงมาครับ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำที่ติดกับตะแกรงมีแรงตึงผิวไม่แตกออกเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ทำให้ความดันอากาศภายนอกต้านไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาครับ ผมเคยทำคลิปวิธีทำไว้ที่ช่องเด็กจิ๋วและดร.โก้ครับ:

เด็กๆเล่นกันใหญ่ครับ:

 

กลทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกันที่ว่าอากาศภายนอกแก้วมีความดันมากพอที่จะรับน้ำหนักน้ำไม่ให้หกออกมาครับ ในกรณีตะแกรงจะใช้แรงตึงผิวของน้ำรับแรงจากความดันอากาศแทนแผ่นพลาสติกในอีกกรณีหนึ่งครับ

ขนาดของอากาศร้อนอากาศเย็น ความดันและความเร็วอากาศ กลน้ำไม่หก

ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมต้นได้พยายามเดาว่ากลสองสามอันเป็นอย่างไร ได้สังเกตการขยายตัวและหดตัวของอากาศในขวดพลาสติกปิดเมื่ออากาศร้อนและเย็น เด็กประถมปลายได้ดูคลิปการจับแมลงมากินเป็นอาหาร (เป็นก้อนๆคล้ายเบอร์เกอร์) ได้ทดลองเป่าลมเข้าถุงพลาสติกแบบเอาปากจ่อและเป่าจากไกลๆ พบว่าเป่าจากไกลๆจะพาอากาศรอบๆมาด้วยทำให้เป่าเร็วขึ้น เนื่องจากหลักการที่ว่าบริเวณไหนลมวิ่งเร็ว ความดันอากาศแถวนั้นจะต่ำ ทำให้อากาศจากที่อื่นที่ความดันสูงกว่าวิ่งเข้ามาด้วย เด็กอนุบาลสามได้หัดเล่นกลน้ำไม่หกโดยเอาแก้วใส่น้ำแล้วเอาแผ่นพลาสติกหรือตะแกรงมีรูปิดปากแก้วแล้วคว่ำแก้ว พบว่าน้ำไม่หกออกมาเพราะความดันอากาศและแรงตึงผิวของน้ำ

(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมคราวที่แล้วเรื่อง “เปิดเทอมใหม่เราเริ่มด้วยภาพลวงตา” ครับ รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)

สำหรับเด็กประถมต้น ผมให้ดูกลสามอันแรกในคลิปข้างล่างนี้ครับ ให้ดูเฉพาะส่วนเล่นกลก่อนแล้วหยุดคลิปไว้ยังไม่ดูเฉลย ให้เด็กๆเดากันว่ากลแต่ละอันทำอย่างไร ให้เด็กๆฝึกคิดและกล้าเดาครับ พอทายกันเยอะๆแล้วก็ค่อยดูเฉลยกัน:

จากนั้นก็ให้เด็กดูของแปลกๆครับ ในแอฟริกามีแมลง (midge) หน้าตาคล้ายๆยุงแต่ไม่กัดคนจำนวนเยอะมาก:

ชาวบ้านเลยไปจับกันด้วยหม้อหรือกระทะชุบน้ำหรือน้ำมัน แล้วเอามาทอดกินเป็นแหล่งโปรตีนซะเลย

จากนั้นก็มีกิจกรรมดูกันว่าเมื่ออากาศร้อน มันจะขยายตัว และเมื่ออากาศเย็นมันจะหดตัวครับ เราเล่นด้วยขวดพลาสติกใส่น้ำร้อนรอสักครึ่งนาทีแล้วปิดฝาให้แน่นครับ เรารอเพื่อให้อากาศได้รับความร้อนจากน้ำร้อนแล้วขยายตัวล้นออกไปจากขวดบ้าง พอปิดฝาให้แน่นแล้วรอต่อไปให้อากาศเย็นลง มันจะหดตัวแล้วดึงให้ขวดยุบลงมาครับ ถ้าน้ำยังร้อนอยู่แล้วเราเขย่า อากาศจะร้อนตามและขยายตัว ดันให้ขวดป่องอีกครับ ทำสลับกันไปมาได้ เล่นเป็นกลก็ได้ครับ ดูในคลิปนะครับ:

สำหรับเด็กประถมปลาย ผมให้ดูคลิปเบอร์เกอร์แมลงเหมือนประถมต้น แล้วก็ทำการทดลองกันครับ ผมให้เด็กๆเป่าลมใส่ถุงพลาสติกบางๆ (อย่างที่มีห่อผักผลไม้ในห้างสรรพสินค้าเช่นท๊อปส์) โดยให้เอาปากจ่อกับถุงแล้วนับว่าเป่ากี่ครั้งถุงถึงจะโป่ง เป่ากันใหญ่แบบนี้ครับ:

พอเป่าแบบปากติดถุงเสร็จ ก็ให้ลองเป่าใหม่โดยเป่าห่างๆจากปากถุงมาสักหน่อย สัก 1 ฟุตก็ได้ครับ ปรากฎว่าถุงโป่งเร็วกว่ามาก (เป่าติดปากถุงอาจจะเป่า 3-4 ครั้ง เป่าห่างจากปากถุงเป่าครั้งเดียว)

ผมก็ให้เด็กๆเดาว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ครับ ฝึกให้เด็กๆกล้าคิดกล้าเดาครับ

หลังจากเด็กๆเดาเสร็จ ผมก็เฉลยว่าเวลาลมวิ่งเร็วๆ ความดันอากาศแถวนั้นมันจะต่ำกว่ารอบๆ ทำให้อากาศรอบๆที่ความดันสูงกว่าไหลเข้ามาแถวนั้น แล้วก็วิ่งตามสายลมไป ทำให้ปริมาณลมที่วิ่งไปข้างหน้ามากกว่าลมที่ออกมาจากการเป่าด้วยปากโดยตรงครับ

หลักการเดียวกันสามารถใช้สูบน้ำขึ้นมาได้ด้วยครับ ตอนผมเด็กๆจะมีกระบอกฉีดยาฆ่าแมลงที่ใช้หลักการนี้ ผมจำลองด้วยหลอดกาแฟครับ:

สำหรับเด็กอนุบาลสามทับสอง โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ผมให้ทดลองหัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วและน้ำไม่ผ่านตะแกรงครับ

วิธีทำกลน้ำไม่หกจากแก้วก็คือเอาแก้วใส่น้ำ เอาแผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งเรียบๆมาปิด แล้วกลับแก้วให้คว่ำลง แผ่นพลาสติกหรือกระดาษแข็งที่ปิดไว้ก็จะติดอยู่และน้ำก็ไม่หกจากแก้วครับ:

สำหรับกลน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง เราเอาตะแกรงร่อนแป้งที่เป็นรูๆมาให้เด็กๆทุกคนดูว่ามีรู เทน้ำใส่ก็ไหลผ่าน เป่าก็มีลมผ่าน แล้วเอาน้ำใส่แก้ว เอาตะแกรงวางข้างบน เอามือปิดด้านบนของตะแกรงให้คลุมปากแก้วด้านล่างไว้ แล้วพลิกเร็วๆให้แก้วใส่น้ำคว่ำอยู่ด้านบนตะแกรง เราจะพบว่าน้ำในแก้วไม่ไหลผ่านตะแกรงลงมาครับ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำที่ติดกับตะแกรงมีแรงตึงผิวไม่แตกออกเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ทำให้ความดันอากาศภายนอกต้านไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาครับ ผมเคยทำคลิปวิธีทำไว้ที่ช่องเด็กจิ๋วและดร.โก้ครับ:

เด็กๆเล่นกันใหญ่ครับ (สีฟ้าๆคือตะแกรงพลาสติกนะครับ):

กลทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกันที่ว่าอากาศภายนอกแก้วมีความดันมากพอที่จะรับน้ำหนักน้ำไม่ให้หกออกมาครับ ในกรณีตะแกรงจะใช้แรงตึงผิวของน้ำรับแรงจากความดันอากาศแทนแผ่นพลาสติกในอีกกรณีหนึ่งครับ

บันทึกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คุณครูเอาไปประยุกต์เล่นกับเด็กๆเยอะๆครับ :-)