ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมมาครับ เด็กหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล เราคุยกันเรื่องระบบประสาทและสมอง คุยกันว่าร่างกายของเราต้องมีการส่งสัญญาณไฟฟ้าไปตามเส้นประสาทเพื่อทำงานต่างๆเช่นรับสัญญาณจากประสาทสัมผัส คิดตัดสินใจ ส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อทำงาน แล้วเราก็เล่นจับของที่ตกผ่านมือกัน
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กๆได้ดูมายากลสั้นๆสองกลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน วันนี้คือเสกน้ำให้เป็นน้ำแข็ง และกลลอยตัวครับ:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
จากนั้นผมก็ให้เด็กๆดูเว็บ Zygote Body ซึ่งเป็นเว็บให้เรากดดูส่วนประกอบต่างๆของร่างกาย หน้าตาแบบนี้:
สามารถเข้าไปเล่นเองได้ที่ลิงก์นี้หรือข้างล่างนะครับ:
ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่าร่างกายเราจะรู้สึกหรือขยับได้ต้องมีสัญญาณตามเส้นประสาทวิ่งไปมาในร่างกาย ถ้าจะหยิบจับอะไรสมองก็ต้องส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทไปที่มือเพื่อให้มือขยับตามที่คิด ถ้าจะรู้สึกอะไรก็ต้องมีสัญญาณจากอวัยวะส่วนต่างๆวิ่งกลับไปที่สมอง สมองจะต้องรับและส่งสัญญาณต่างๆกับส่วนอื่นๆของร่างกายตลอดเวลา และการส่งสัญญาณไปมานั้นใช้เวลา ไม่ใช่เกิดได้ทันทีทันใด เพื่อเป็นการทดลองให้เห็นว่าการทำงานของระบบประสาทและสมองใช้เวลาบ้างเราเราจึงลองเล่นจับแบงค์กันครับ
วิธีเล่นก็คือให้เด็กเอาแขนวางพาดบนโต๊ะหรือเก้าอี้ให้มือยื่นออกมาเตรียมจับแบงค์ที่ผมจะปล่อยให้ตกผ่านมือเด็ก พอผมปล่อยแบงค์เด็กๆก็จะต้องพยายามจับแบงค์ให้ได้ ซึ่งโดยปกติจะไม่สามารถจับได้ (สาเหตุที่เอาแขนไปพาดโต๊ะก็เพื่อป้องกันไม่ให้ขยับแขนลงไปคว้าแบงค์ที่ตก ผ่านมือไปแล้วได้ครับ) ผมเล่าให้เด็กๆฟังว่า เวลาเราจะจับแบงค์ ตาเราต้องมองดูแล้วเห็นว่าแบงค์ตก แล้วจึงส่งสัญญาณไปที่สมอง สมองต้องตัดสินใจว่าจะจับแบงค์แล้วส่งสัญญาณไปที่มือให้มือจับ สัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่วิ่งไปตามเส้นประสาทของเราและมันใช้เวลาในการคิดและเดินทางตามเส้นประสาทมากกว่าเวลาที่แบงค์ตกผ่านมือเราไป
เราเล่นกันประมาณนี้ครับ:
เด็กประถมปลายบางคนลองจับไม้บรรทัด จะพบว่าจะสามารถจับได้เมื่อไม้บรรทัดตกลงไปสักประมาณ 10-12 นิ้วครับ (สำหรับนักเรียนม.ปลายที่เรียนฟิสิกส์บ้างแล้วควรจะสามารถประมาณได้ว่าใช้เวลาเท่าไรในการจับของที่ตกผ่านมือครับ)
ผมเล่าเรื่องสมองอีกนิดหน่อยให้เด็กประถมปลายฟัง แต่อยากให้เด็กๆไปอ่านเพิ่มเติมตามลิงก์เหล่านี้ถ้าสนใจนะครับ:
One thought on “วิทย์ประถม: เล่นเกมเกี่ยวกับระบบประสาท”