ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆประถมศูนย์การเรียนปฐมธรรมและเด็กอนุบาลสามอนุบาลบ้านพลอยภูมิมาครับ เด็กประถมต้นหัดทำของเล่นร่มชูชีพ ประถมปลายทำกาลักน้ำแบบเริ่มเอง เด็กอนุบาลได้หัดเล่นกลน้ำไม่หกและน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมประถมอยู่ที่นี่ กิจกรรมอนุบาลสามอยู่ที่นี่ ส่วนลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อน กลวันนี้คือหนีออกจากถังน้ำที่ล็อคไว้ครับ:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
ต่อจากนั้นเด็กประถมต้นหัดทำและเล่นของเล่นร่มชูชีพกันครับ วิธีทำดังในคลิปนี้:
พอเด็กๆรู้วิธีทำแล้วก็แยกย้ายกันทำและเล่นเองครับ:
สำหรับเด็กประถมปลาย ผมสอนให้ทำกาลักน้ำแบบเริ่มเองได้ ปกติเมื่อเราใช้กาลักน้ำ (siphon) ดูดน้ำออกจากภาชนะ เราต้องดูดน้ำให้เริ่มไหลก่อน หรือใส่น้ำให้เต็มท่อก่อนไปจุ่มในภาชนะใส่น้ำ แต่ถ้าเราออกแบบท่อให้มีรูปทรงเหมาะสม การจุ่มท่อลงไปตรงๆจะบังคับให้น้ำวิ่งข้ามขอบภาชนะแล้วเริ่มไหลเองได้ วิธีทำดังในคลิปครับ:
กาลักน้ำแบบอื่นๆดูที่ https://youtu.be/AzebFWeQNCM นะครับ
จากนั้นเด็กๆก็ไปประดิษฐ์และเล่นกันเอง:
สำหรับเด็กอนุบาลสาม ผมให้ทดลองหัดเล่นกลน้ำไม่หกจากแก้วและน้ำไม่ผ่านตะแกรงกัน
วิธีทำกลน้ำไม่หกจากแก้วก็คือเอาแก้วใส่น้ำ เอาแผ่นพลาสติกหรือแผ่นโฟมเรียบๆมาปิด แล้วกลับแก้วให้คว่ำลง แผ่นพลาสติกหรือแผ่นโฟมบางๆหรือกระดาษแข็งที่ปิดไว้ก็จะติดอยู่และน้ำก็ไม่หกจากแก้วครับ เด็กพอรู้วิธีทำก็ลองเล่นเอง
สำหรับกลน้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง เราเอาตะแกรงร่อนแป้งที่เป็นรูๆมาให้เด็กๆทุกคนดูว่ามีรู เทน้ำใส่ก็ไหลผ่าน เป่าก็มีลมผ่าน แล้วเอาน้ำใส่แก้ว เอาตะแกรงวางข้างบน เอามือหรือแผ่นพลาสติกปิดด้านบนของตะแกรงให้คลุมปากแก้วด้านล่างไว้ แล้วพลิกเร็วๆให้แก้วใส่น้ำคว่ำอยู่ด้านบนตะแกรงแล้วเอามือหรือแผ่นพลาสติกออก เราจะพบว่าน้ำในแก้วไม่ไหลผ่านตะแกรงลงมาครับ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำที่ติดกับตะแกรงมีแรงตึงผิวไม่แตกออกเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ทำให้ความดันอากาศภายนอกต้านไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาครับ
กลทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกันที่ว่าอากาศภายนอกแก้วมีความดันมากพอที่จะ รับน้ำหนักน้ำไม่ให้หกออกมาครับ ในกรณีตะแกรงจะใช้แรงตึงผิวของน้ำรับแรงจากความดันอากาศแทนแผ่นพลาสติกในอีกกรณีหนึ่งครับ
พอเด็กๆรู้วิธีทำก็แยกย้ายกันเล่นครับ:
ผมเคยบันทึกกลน้ำไม่ผ่านตะแกรงไว้ในช่องเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ:
One thought on “วิทย์ประถม: ทำของเล่นร่มชูชีพ, กาลักน้ำแบบเริ่มเอง, วิทย์อนุบาล: กลน้ำไม่หก, น้ำไม่ไหลผ่านตะแกรง”