นาฬิกาชีวิตประจำวัน (Circadian Rhythm)

ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องนาฬิกาชีวิตประจำวัน เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. ร่างกายของเราทำงานเป็นวงจรรอบละประมาณ 24 ชั่วโมง (circadian rhythm) ระดับสารเคมีเช่นฮอร์โมนต่างๆ อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเผาผลาญและการย่อยอาหาร ความสามารถในการคิดและสมาธิ ความง่วงและการนอน จะเปลี่ยนไปตามเวลาระหว่างวัน เปรียบเสมือนร่างกายเรามีนาฬิกาอยู่ภายใน
  2. สิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลก สัตว์ พืช หรือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวก็แสดงการทำงานเป็นวงจร 24 ชั่วโมง เป็นการปรับตัวด้วยการวิวัฒนาการให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมกลางวันกลางคืนบนโลก มีนักวิจัยได้รางวัลโนเบลเรื่องนาฬิกาในร่างกายประเภทนี้ด้วย
  3. ในร่างกายของเรา การทำงานเป็นวงจรนี้มีอยู่ตั้งแต่ในระดับเซลล์แต่ละเซลล์และระดับอวัยวะของเรา สมองส่วน SCN จะส่งสัญญาณบอกให้ร่างกายส่วนต่างๆทำงานไปด้วยกัน สมองส่วน SCN “รู้ว่าเช้าแล้ว” โดยสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์ในตาที่มีความไวต่อแสงสีฟ้า และ”รู้ว่ามืดแล้ว” เมื่อเซลล์ในตารับแสงน้อยลง
  4. คน (และสัตว์ทดลอง) ที่ดำรงชีวิตแตกต่างไปจากวงจรนาฬิกาของร่างกายประจำวันติดต่อกันเป็นเวลานานๆมักจะป่วยหรืออ่อนแอลง เช่นการนอนไม่เป็นเวลา นอนน้อย ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอาหารทั้งวัน มักจะทำให้รู้สึกเหนื่อย รู้สึกพักผ่อนไม่พอ ง่วงบ่อย น้ำหนักขึ้น ป่วยง่าย และอาจเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ รวมไปถึงโรคทางหลอดเลือดและหัวใจ สมองเสื่อม
  5. สิ่งที่เราน่าจะทำได้ให้เข้ากับนาฬิกาชีวิตประจำวันเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นก็คือนอนให้เป็นเวลา นอนให้นานพอประมาณ 7-8 ชั่วโมง เดินกลางแจ้งรับแสงแดดบ้างวันละสัก 10-30 นาที เดินและขยับตัวบ่อยๆ ทานอาหารทุกมื้อในช่วงเวลา 10 ชั่วโมง (เช่นถ้าทานอาหารมื้อแรกตอน 6 โมงเช้าก็ควรทานมื้อสุดท้ายภายในเวลา 16:00, ถ้าทานมื้อแรกตอน 9 โมงเช้าก็ควรทานมื้อสุดท้ายภายใน 19:00 เป็นต้น) อาหารมื้อสุดท้ายควรห่างจากเวลานอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

รางวัลโนเบลเรื่องกลไก circadian rhythm

Center for Circadian Biology at UCSD

Lamia Lab, Scripps Institute

Regulatory Biology Laboratory, Salk Institute

myCircadianClock app

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.