สิ่งควรรู้สำหรับผู้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (1)

ผมบันทึกเสียงสั้นๆวิทยาศาสตร์ทั่วไปในรายการ Sci & Tech ที่วิทยุไทยพีบีเอสเรื่องสิ่งควรรู้สำหรับผู้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอนที่ 1 เลยเอาสรุปและลิงก์ที่ผู้สนใจเข้าไปดูเพิ่มเติมมารวมไว้ที่นี่ครับ

สรุปคือ:

  1. วิทยาศาสตร์เป็นวิธีการคิด การทำความเข้าใจ ว่าธรรมชาติและสิ่งต่างๆรอบๆตัวทำงานอย่างไร เราสร้างตุ๊กตาหรือแบบจำลองว่าสิ่งที่เราสนใจควรจะทำงานอย่างไรด้วยกฎเกณฑ์อะไร แล้วทำการทดลองหรือสังเกตการณ์ว่าแบบจำลองของเราทำงานตรงกับความเป็นจริงไหม ไอเดียอะไรของเราที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ควรจะถูกหักล้างไปเรื่อยๆและหวังว่าไอเดียที่ผ่านการทดสอบและผ่านการพยายามหักล้างมาได้ก็จะตรงกับความเป็นจริง
  2. เราต้องมีความนอบน้อมถ่อมตัวในการแสวงหาความจริง เพราะสมองเราไม่ได้ทำงานเป็นเหตุเป็นผลอย่างที่เราเข้าใจ การตัดสินใจและความเชื่อต่างๆมักจะเกิดจากการคิดลัด (heuristics) และอารมณ์
  3. การคิดลัดและอารมณ์มีประโยชน์ช่วยในการตัดสินใจเร็วๆในสถานการณ์หลากหลาย พวกเราสืบเผ่าพันธุ์มาจากบรรพบุรุษที่ตัดสินใจเร็วๆด้วยการคิดลัดและอารมณ์ พวกที่คิดอย่างมีเหตุผลแต่คิดช้าอาจจะตายไปเพราะตัดสินใจเรื่องต่างๆไม่ทัน ไม่ทิ้งลูกหลานไว้เยอะเท่าพวกคิดเร็วๆใช้อารมณ์
  4. แต่การคิดลัดและอารมณ์ทำให้เราคิดผิดพลาดในหลายๆสถานการณ์ที่ต้องใช้เหตุผลและตรรกะ เราจึงต้องรู้ตัวว่าเรามีจุดอ่อนด้านนี้
  5. มีนักวิจัยศึกษาการคิดลัดและอารมณ์เหล่านี้ รวบรวมเป็นอคติทางจิตวิทยา (cognitive biases) นับร้อยแบบ
  6. ตัวอย่าง cognitive biases ใหญ่ๆสามแบบที่คุยกันวันนี้คือ confirmation bias, availability heuristics, และ Dunning-Kruger effect
  7. Confirmation bias คือธรรมชาติของเราที่เลือกดูข้อมูลต่างๆเพื่อสนับสนุนความคิดความเชื่อที่มีอยู่แล้ว ไม่พยายามหาข้อมูลมาแย้ง แม้กระทั่งปฏิเสธข้อมูลแย้งหรือสร้างเหตุผลต่างๆนานาเพื่อให้เราเลือกเฉพาะข้อมูลที่เราชอบ ทำให้เราหลอกตัวเองอยู่เสมอๆ
  8. Availability heuristics คือการที่เราได้เห็นได้ยินเรื่องอะไรบ่อยๆหรือจำเรื่องอะไรได้ง่ายๆจะทำให้เราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นมากกว่าความเป็นจริง เช่นมีคนเสนอข้อเสนอสองสามอย่างมาให้ ทำให้เราเลือกหนึ่งในข้อเสนอนั้นๆทั้งๆที่จริงๆเราอยากได้อย่างอื่นที่ไม่ได้ถูกเสนอมาด้วย หรือเช่นเราได้ยินข่าวคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งบ่อยๆ เราอาจคิดหวังว่าเราจะรวยแบบนั้นก็ได้ แต่โอกาสที่จะถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีเพียง 1 ในล้าน หรือเทียบได้กับการปูสนามฟุตบอลด้วยแบงค์ร้อย โดยที่มีแบงค์เพียง 1 ใบในนั้นที่มีรางวัลที่ 1 อยู่
  9. Dunning-Kruger effect คือเราคิดว่าตนเองรู้เรื่องนอกสาขาที่เราเชี่ยวชาญมากกว่าที่เรารู้จริงๆ จนทำให้คิดว่าควรให้น้ำหนักกับความเข้าใจผิวเผินของเรามากกว่าความเข้าใจของผู้เชี่ยวชาญ
  10. นอกจาก cognitive biases สามแบบนี้แล้วผมยังคุยเรื่องการระวังการเชื่อ การแชร์ข่าวต่างๆในอินเทอร์เน็ต ยิ่งถ้าพาดหัวสร้างอารมณ์ในใจเรามากเท่าไรยิ่งต้องระวัง ก่อนจะเชื่อจะแชร์ควรตรวจสอบความเชื่อถือได้ต่างๆก่อน

ลิงก์ที่น่าสนใจ:

ใครๆ ก็คิดว่าตัวเองมีเหตุผลกันทั้งนั้น : 175 อคติในใจคุณ

Cognitive Biases : จิตวิทยาอคติในการตัดสินใจ ฉบับนักพัฒนาโปรดักส์

Cognitive bias cheat sheet

One thought on “สิ่งควรรู้สำหรับผู้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (1)”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.