ผมไปทำกิจกรรมวิทย์กับเด็กๆมาครับ เด็กประถมหัดคิดแบบวิทย์โดยพยายามอธิบายมายากล ประถมต้นสังเกตการปล่อยลูกแก้วในสายยาง ดูว่าความสูงและมุมสายยางมีผลอย่างไรกับระยะทาง แล้วเล็งใส่เป้ากันครับ ประถมปลายเล่น “เสือไต่ถัง” ที่แกว่งภาชนะให้ลูกแก้วมีความเร็ววิ่งอยู่ภายในขอบภายในด้วยแรงสู่ศูนย์กลางและแรงเสียดทาน เด็กอนุบาลสามบ้านพลอยภูมิก็เล่นเสือไต่ถังเหมือนกัน
(อัลบั้มบรรยากาศกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ กิจกรรมประถมคราวที่แล้วเรื่อง “รถไฟเหาะตีลังกา, กระดิ่งแฟรงคลิน, ลมคีบลูกโป่ง” ครับ ลิงก์รวมทุกกิจกรรมอยู่ที่นี่นะครับ)
ก่อนอื่นเด็กประถมได้ดูมายากลนี้ครับ ดูเฉพาะตอนแรกที่เป็นกล ยังไม่ดูส่วนเฉลยตอนหลัง แล้วดูเฉลยหลังจากได้พยายามคิดพยายามอธิบายว่ากลแต่ละกลทำอย่างไรกันก่อนครับ กลวันนี้คือเสกผู้หญิงสามคนให้ออกมาบนแท่น:
กิจกรรมนี้ฝีกเด็กๆให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ครับ มีการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสิ่งที่สังเกตมา การตรวจสอบสมมุติฐานกับข้อมูลที่สังเกตมา การตั้งสมมุติฐานใหม่เมื่อสมมุติฐานเดิมขัดกับข้อมูล นอกจากนี้เราพยายามให้เด็กๆมีความกล้าคิดและออกความเห็นครับ
เด็กประถมต้นได้เล่นปล่อยลูกแก้วใส่สายยางคล้ายๆกับสัปดาห์ที่แล้ว แต่คราวนี้เราสังเกตว่าลูกแก้วออกมาจากสายยางแล้วไปไกลแค่ไหน ขึ้นกับความสูงที่ปล่อยอย่างไร มุมของปลายสายยางที่ลูกแก้วออกมามีผลอย่างไรกันครับ แล้วเราก็เล่นเล็งปล่อยลูกแก้วใส่เป้าที่เป็นกาละมังกัน:
เด็กๆจะเห็นว่ายิ่งปล่อยจากที่สูงขึ้น ความเร็วของลูกแก้วที่ออกมาก็เร็วขึ้น (วิ่งไปได้ไกลขึ้นก่อนตกถึงพื้น) มุมที่ปลายสายยางก็มีผล ถ้ามุมตั้งชันเกินไปหรือแบนราบเกินไปลูกแก้วก็ตกไม่ไกล
สำหรับเด็กประถมปลายผมให้เล่นและสังเกตของเล่น “เสือไต่ถัง” ที่เราเอาลูกแก้วไปวิ่งเร็วๆในขอบกาละมัง สังเกตว่าเมื่อลูกแก้วกระเด็นหลุดออกจากกาละมังมันจะวิ่งไปในแนวตรงๆไม่เลี้ยวโค้ง แสดงว่าขอบกาละมังดันลูกแก้วเข้าสู่กลางกาละมังบังคับให้ลูกแก้ววิ่งโค้งได้ ผมเคยอัดคลิปวิธีเล่นไว้แล้วดังนี้:
มีอยู่ในรายการเด็กจิ๋ว & ดร.โก้ด้วยครับ:
สำหรับเด็กอนุบาลสามบ้านพลอยภูมิ ผมก็ให้หัดเล่นเสือไต่ถังกัน สำหรับเป็นการฝึกควบคุมกล้ามเนื้อและสมาธิได้ดีทีเดียว:
One thought on “เล็งลูกแก้ว, เสือไต่ถัง”